ตลาด“CLMV”โตสวนศก.โลก

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนที่ดีจาก “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศก็เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ โดยเฉพาะช็อปดีมีคืน ส่วน “ภาคการส่งออก” เริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะ “ตลาดเพื่อนบ้าน” เนื่องจากยังมีโอกาสและแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างสูง สอดคล้องกับมุมมองของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ EIC ที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาและเวียดนาม) ในปี 2566 จะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น สวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่าการเติบโตจะยังต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ก็ตาม

อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจ CLMV ในปีนี้ ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัวได้ 3% และเวียดนาม ขยายตัวได้ 6.2%

ที่มา : https://www.thaipost.net/columnist-people/327976/

“ศก.กลางคืน” แรงขับเคลื่อนการท่องเที่ยวใหม่ของเวียดนาม

นาย Huynh Van Son บริษัท Saigon Sea Star กล่าวว่าเมื่อธุรกิจเปิดตลาดกลางคืนเกาะฟู้ก๊วก (Phu Quoc) จังหวัดเคียนเกียง (Kien Giang) ได้เห็นถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับจากการเปิดตลาดกลางคืนและเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีของชาวบ้าน โดยจากข้อมูลในปี 2562 พบว่าตลาดกลางคืนฟู้ก๊วกสามารถดึงดูดผู้คนเฉลี่ย 3,500 คนต่อคืน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ส่งผลให้ตลาดกลางคืนฟู้ก๊วกทำเงินได้มากกว่า 10 พันล้านดองต่อวัน (435,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ นาย Nguyen Quoc Ky ประธานคณะกรรมการบริษัท Vietravel Holdings กล่าวว่าจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านการท่องเที่ยวที่เติบโตแข็งแกร่ง และด้วยสัดส่วนการใช้จ่ายตอนกลางคืน คิดเป็น 70% ของการใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ดี เวียดนามยังขาดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในตอนกลางคืน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/night-economy-new-driving-force-for-vietnam-tourism-2112043.html

“Pou Chen” ผู้ผลิตรองเท้าไนกี้ เตรียมปลดพนักงาน 6,000 คนในเวียดนาม

บริษัทเป่าเฉิง คอร์ป (Pou Chen Corp) ของไต้หวัน ผู้ผลิตแบรนด์รองเท้ากีฬาชื่อดังที่ใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมที่จะเลิกจ้างพนักงานราว 6,000 คนที่ทำงานในโรงงานเป่าหยวนในนครโฮจิมินห์ และประกาศว่าจะปลดนักงาน 3,000 คนในเดือนนี้ และจะไม่ต่อสัญญาจ้างกับคนงานอีก 3,000 คนในปลายปีนี้ โดยบริษัท PouYuen Vietnam เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังระดับโลก อาทิเช่น ไนกี้ (Nike) และ อาดิดาส (Adidas) เป็นต้น และยังเป็นหนึ่งในผู้ว่าจ้างรายใหญ่ที่สุดในนครโฮจิมินห์ที่มีพนักงาน 50,500 คน ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก และภาวะเศรษฐกิจในปี 2565 เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ว่านักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงความท้าทายที่รุนแรง เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่เริ่มแผ่วลง ได้ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/taiwan-shoemaker-pou-chen-cut-6000-jobs-vietnam-sources-3292431

10 เดือนของปีงบ 65-66 การค้าทางทะเลเมียนมา พุ่งขึ้น 19.42%

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 10 เดือนของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 -ปัจจุบัน) การค้าทางทะเลของเมียนมาเพิ่มขึ้น 19.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา (2564-2565) โดยมีมูลค่าแตะ 22,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.21% มูลค่า 9.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 26.94%  มูลค่า 13.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมมาก 7.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ 10 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบันเมียนมามีการค้าต่างประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 29,330 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการค้าทางทะเลส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบอาเซียน ส่วนการค้าชายแดนจะทำการค้ากับจีน ไทย บังกลาเทศ และอินเดีย ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การประมง แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากป่า ในขณะที่นำเข้าจะเป็น สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://english.news.cn/20230221/bd52830edaf042c7985bb93dd7134d05/c.html

‘แบงก์ชาติสปป.ลาว’ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (BOL) ได้มติกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้กับธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการของธนาคารแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัวในการซื้อขายเงินต่างประเทศและยังช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบ ทั้งนี้ อัตราซื้อและขายของเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐของธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่เกินกว่า +/- 4.5% จากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติ รวมถึงไม่มีการจำกัดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกีบเทียบกับสกุลเงินยูโร บาท หยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่แตกต่างจากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten36_BOL_y23.php

สหราชอาณาจักรพร้อมให้การสนับสนุนกัมพูชาในด้านต่างๆ

สหราชอาณาจักรให้คำมั่นต่อกัมพูชาว่าจะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา การเงิน โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กล่าวโดย Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชาที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ขณะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งได้กล่าวชมทางการกัมพูชาถึงการนำพาสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่ประเทศ รวมถึงการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 จนสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง เป็นผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ยังย้ำถึงความตั้งใจที่มีความประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของอังกฤษภายในกัมพูชา รวมถึงพร้อมสนับสนุนการลงทุนของอังกฤษในกัมพูชาให้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501242497/uk-to-support-cambodia-in-various-domains/

กัมพูชาจัดฟอรัม “Visit Cambodia” กระตุ้นการท่องเที่ยวสีหนุวิลล์

การประชุมด้านการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MTF) 2023 ซึ่งถือเป็นฟอรัมด้านการท่องเที่ยวประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองสีหนุวิลล์ ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน คาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมแคมเปญ “Visit Cambodia Year 2023” รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองชายฝั่ง โดยงาน MTF ในปี 2023 จะจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ผ่านการหารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและประสบการณ์ในด้านต่างๆ ซึ่ง MTF 2023 ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ GMS โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในภาคการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันทางการกัมพูชาได้คาดการณ์ว่าจังหวัดสีหนุวิลล์จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดประเทศจีน ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาเยือนกัมพูชา 1 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 106,875 คน ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501242309/forum-to-boost-visit-cambodia-campaign-sihanoukville-tourism/

จังหวัดกำปอต กัมพูชา ส่งออกกล้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ

จังหวัดกัมปอตเมืองชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา มีสัดส่วนการส่งออกกล้วยสูงถึงประมาณกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกกล้วยทั้งหมด ภายใต้การสนับสนุนและการลงทุนขยายการเพาะปลูกของหน่วยงานในจังหวัด โดยจำนวนการส่งออกเฉลี่ยคิดเป็นปริมาณกว่า 2,000 ตันต่อเดือน ถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีน ขณะที่ปัจจุบันมี 2 บริษัท ที่ทำการส่งออกกล้วยจากจังหวัดกำปอตไปยังต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท Longmate Agriculture และ World Tristar ภายใต้การร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 2,000 คน โดยจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และการประมง รายงานถึงพื้นที่เพาะปลูกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในปัจจุบันครอบคลุม 662 เฮกตาร์ สร้างผลผลิตปริมาณกว่า 43 ตันต่อเฮกตาร์ ในแต่ละปี ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกกล้วยกว่า 423,168 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501241501/kampot-contributes-50-of-banana-exports/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยัง ไทย-เวียดนาม เพิ่มขึ้น

การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนาม เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น จีนและสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงดังกล่าว โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) การส่งออกไปยังประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 22.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 107 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2023 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนกลับลดลงที่ร้อยละ 22.2 คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 562 ดอลลาร์ หดตัวร้อยละ 23 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชาในเดือนมกราคมปีนี้ ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11 ขณะที่ไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 6.9 เป็นอันดับสาม ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 35.9 ของการส่งออกในเดือนมกราคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501241502/exports-to-thailand-vietnam-up-as-traditional-markets-shrink/

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกหัวหอม 100,000 ตันในปีงบประมาณ 66-67

องค์การส่งเสริมการค้าแห่งกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา  เผย ในปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมามีแผนส่งออกหัวหอมไปยังต่างประเทศกว่า 100,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ไตรมาสที่ 1 จำนวน 30,000 ตัน, ไตรมาสที่ 2 จำนวน 15,000, ไตรมาสที่ 3 จำนวน 20,000 ตัน และไตรมาสที่ 4 จำนวน 35,000 ตัน ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลผลิตหัวหอมลดลงอย่างมากเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้เมียนมาส่งออกหัวหอมได้เพียง 80,000 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/plans-underway-to-export-100000-tonnes-of-onion-in-fy-2023-2024/