สปป.ลาว หนุน โลจิสติกส์เชื่อมทางรถไฟ จีน-สปป.ลาว

เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาว และประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด แห่งสปป.ลาว ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานร่วมกับ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว (Vientiane Logistics Park :VLP) เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค อีกทั้งยังขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและกำหนดกฎหมายที่จำเป็นเพื่อหนุนอุตสาหกรรมให้เติบโดได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดให้บริการของรถไฟลาว-จีนตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2564 มีรายงานว่า การขนส่งสินค้าเพื่อกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การเปิดดำเนินการของ VLP มีการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีนเพิ่มขึ้น คาดว่าจนถึงปี 2573 จะมีการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 5 ล้านตู้ ครอบคลุมทั่วประเทศและจะมีการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ 2 ล้านตู้ต่อปีผ่าน VLP และทางรถไฟ ทั้งนี้มีการประเมินว่า VLP จะสร้างรายได้ให้กับรัฐประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220630/a006b98c589f4af28f9a3e7c8bee9323/c.html

กระทรวงการท่องเที่ยว ขอผู้ประกอบการควบคุมราคาทัวร์ในช่วงเทศกาลทะเล

Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาขอความร่วมมือบริษัททัวร์กำหนดราคาที่เหมาะสมสำหรับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมชมในช่วงเทศกาลทะเล ครั้งที่ 9 ณ สีหนุวิลล์ในปลายปีนี้ โดยการเรียกร้องของรัฐบาลต่อภาคเอกชนในการจัดแพ็คเกจทัวร์ในราคาที่เหมาะสมนอกจากจะเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความยืดหยุ่นสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล รวมถึงจะยังเน้นเกี่ยวกับคุณภาพในการให้บริการให้ดีขึ้น ในขณะที่รัฐมนตรียังชี้ให้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน หลังสถานการณ์โควิด-19 กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวยังคงไม่ได้ดีเหมือนอย่างแต่ก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเทศกาลทะเล ครั้งที่ 9 จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 9-11 ธันวาคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501103913/tour-operators-urged-to-lower-prices-for-sea-festival/

ทางการกัมพูชาหวังผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ RECP

Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวกับผู้ส่งออกภายในประเทศถึงประโยชน์จากข้อตกลงด้านความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งทางการกัมพูชา กล่าวว่า RCEP จะเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาให้เกิดความยั่งยืน โดยการเข้าร่วม RCEP ของกัมพูชาจะส่งผลให้อัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศผู้ลงนามปลอดภาษีกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่มีการ นำเข้า-ส่งออก ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ภาคการส่งออกของกัมพูชาจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.4-18.0 โดยหากเป็นไปตามการคาดการณ์จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตระหว่างร้อยละ 2.0-3.8 ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501104118/cambodian-minister-tells-exporters-to-reap-benefits-of-rcep/

5 เดือนแรกไทยส่งออก-ค้าชายแดน กวาดรายได้ เกือบ 5 ล้านล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยและการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพฤษภาคมและ 5 เดือนแรกของปี 2565 ผ่านระบบซูม โดยตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 10.5% มูลค่า 854,372 ล้านบาท และการส่งออกในภาพรวม 5 เดือนแรก มกราคม-พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 12.9% มูลค่า 4,037,962 ล้านบาท 5 เดือนแรก การส่งออก เพิ่มขึ้น 12.9% แตะ 4 ล้านล้านบาท สำหรับทิศทางการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังคิดว่ายังเป็นบวก เพราะ 5 เดือนนี้ เพิ่มขึ้น 12.9% ทั้งปียังน่าจะบวกได้และน่าจะเกินเป้า เพราะตั้งเป้าไว้ที่ 4-5% คิดว่าน่าจะบรรลุเป้า แต่จะเพิ่มไปมากน้อยแค่ไหนต้องประเมินรายละเอียดต่อไป ปีที่แล้วส่งออกทั้งปี 8.5 ล้านล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าที่ 9 ล้านล้านบาท แต่ 5 เดือนทำได้ 4 ล้านล้านบาทแล้ว น่าจะเกินเป้าที่ 9 ล้านล้านบาทได้ ทั้งนี้ การส่งออก สินค้าสำคัญ 3 หมวด ประกอบด้วยสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและหมวดสินค้าอุตสาหกรรม หมวดสินค้าเกษตร พฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 3 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 21.5% มูลค่า 106,082 ล้าน

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-968673

“เวียดนาม” เผย GDP Q2/65 ขยายตัว 7.72%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 7.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของไตรมาสเดียวกันตั้งแต่ปี 2554-2564 ในส่วนของคุณ คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญฟื้นตัวได้เกือบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป การค้าปลีกค้าส่งและการส่งออก ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง เพิ่มขึ้น 3.02% รองลงมาภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 46.85% และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 8.56% ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้น 7.32% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, สินทรัพย์สะสม เพิ่มขึ้น 4.57%, การส่งออกสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 12.33%, การนำเข้าสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 4.88% นอกจากนี้ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัว 6.42% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-gdp-expands-7-72-in-second-quarter-of-2022-2034800.html

“เวียดนาม” เผยนับเป็นครั้งแรก จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ทะลุ 70,000 ราย

สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีจำนวน 76,233 ราย เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 70,000 ราย และธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการมีจำนวน 116,900 ราย ในขณะที่มูลค่าทุนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 882.1 ล้านล้านดอง (38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 นอกจากนี้ จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 50,909 ราย ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าส่ง ขายปลีก ซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 18,417 ราย คิดเป็น 36.2% รองลงมาคือธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 7,206 ราย และอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จำนวน 5,948 ราย ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1254327/newly-established-businesses-in-h1-exceed-70000-for-first-time.html

ราคาน้ำมันปาล์มในเมียนมา ดิ่งลง ! ตามแนวโน้มของตลาดต่างประเทศ

ราคาน้ำมันปาล์มในเมียนมาเมื่อต้นเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา พุ่งแตะ 8,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) แต่ราคาขณะนี้ลดฮวบเหลือ 7,000 จัตต่อ viss โดยคณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจำหน่ายน้ำมันประกอบอาหารภายใต้กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคานำเข้า FOB จากมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด ขณะที่ ราคาอ้างอิงของน้ำมันปาล์มในตลาดย่างกุ้ง วันที่ 20 -30 มิ.ย.2565 ตั้งไว้ที่ 5,815 8,000 จัตต่อ viss อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดยังสูงกว่าราคาอ้างอิงอยู่มาก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ออกมาให้ความมั่นใจว่า ผู้บริโภคไม่ต้องตื่นตระหนักกับปริมาณของน้ำมันประกอบอาหารพร้อมย้ำว่าจะมีเพียงพออย่างแน่นอน อีกทั้งจะกำกับราคาให้มีความเป็นธรรม และป้องกันการบิดเบือนตลาดในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-prices-fall-again-on-downtick-trend-in-external-market/

หลวงน้ำทาเซ็นสัญญาสายส่งไฟฟ้า

จังหวัดหลวงน้ำทาได้ลงนามในสัญญากับ บริษัท พีที คอนสตรัคชั่น แอนด์ ทราเวล จำกัด สำหรับการก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้า 22kW และสายส่งไฟฟ้าขนาด 0.4kW การสำรวจและออกแบบกริดเกิดขึ้นในปี 2563 และ 2565 โดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้อนุมัติโครงการภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ โครงการจะดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2569 โดยมีการชำระเงินตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2568 วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างต้องปราศจากข้อบกพร่องและต้องมีใบรับรองตามสัญญา วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะต้องขนส่งไปยังสถานที่ก่อสร้างและมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 97.75 พันล้านกีบ ค่าก่อสร้าง 97.23 พันล้านกีบ ในขณะที่มูลค่าการจัดการโครงการอยู่ที่ 514 ล้านกีบ ตามรายงานของ Electricite du Laos (EDL) ลาวมีแผนที่จะกระชับการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และเปลี่ยนแหล่งน้ำให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศในการเป็น “แบตเตอรี่พลังงานสะอาด” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากลาวยังคงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายไฟฟ้าให้กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2564-2568 รัฐบาลมีแผนจะผลิตไฟฟ้า 1,807 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็นร้อยละ 57 ของทั้งหมด ไฟฟ้าจากถ่านหินร้อยละ 19 และพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 24

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Luang124.php

คาดกัมพูชาจะก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2030

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2030 หลังจากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งเกณฑ์ของธนาคารโลก ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (MICs) เป็นกลุ่มที่หลากหลายตามขนาดของ ประชากร และระดับของรายได้ โดยปัจจุบันกัมพูชาถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนต่ำ ซึ่งรายได้ประชาชาติ (GNI) อยู่ที่ระหว่าง 1,036-4,045 ดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูง มี GNI อยู่ที่ระหว่าง 4,046-12,535 ดอลลาร์ต่อหัว โดยรัฐบาลกัมพูชาได้เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในกัมพูชาถูกควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประชากรมากกว่าร้อยละ 94 ได้รับการฉีดวัคซีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501102959/cambodia-will-be-high-middle-income-country-by-2030-says-pm/

Q1 การลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7

ไตรมาสแรกปี 2022 จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (NBC) มีจำนวนถึง 47 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 สร้างเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดมูลค่า 2,520.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในประเทศได้จำนวน 7,406 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 โดยการลงทุนเกี่ยวข้องทั้งโครงการทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยทางการกัมพูชาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่ รวมถึงทางด้านกฎหมายว่าด้วยการลงทุนฉบับใหม่ที่ทางการกำหนดขึ้น เพื่อหวังดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2022 ทางการคาดเศรษฐกิจจะเติบโต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของภาคการลงทุนของนักลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501102954/investments-in-kingdom-rise-by-7-percent-in-q1/