การส่งออกกลองพื้นบ้านเมียนมา ราคาจะแตกต่างตามการออกแบบ

นาย Ko Hein Htet ผู้ผลิตกลองพื้นบ้านในเมืองมัณฑะเลย์ เปิดเผยว่า ราคาของเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเมียนมาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการออกแบบและความมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท โดยราคากลองอยู่ในช่วง 600,000 ถึง 1,000,000 จัต ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น มาเลเซีย ไทย และบรูไน เนื่องจากนักดนตรีเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศได้สั่งซื้อเข้ามา ส่วนใหญ่ผู้ผลิตมักจะใช้ไม้ยางพาราเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งราคาไม้ยางพาราจะอยู่ที่ 3,000,000 ถึง 4,500,000 ต่อตัน กลองที่ทำจากไม้ยางพารามีคุณภาพสูงมากกว่ากลองที่ทำจากไม้พฤกษ์ (Albizia lebbek) นอกจากนี้ราคาของหนังสัตว์ที่ใช้ทำกลองยังขึ้นอยู่กับตลาดจีนอีกด้วย เพราะหนังกลองส่วนใหญ่รับซื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ในตลาดจีน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

หอการค้า จี้รัฐเปิดด่านชายแดน 3 จังหวัดอีสาน เชื่อมการค้า-ท่องเที่ยว ‘ลาว-เขมร’ ตั้งเป้าดันมูลค่าการค้าปีนี้แตะ 3 หมื่นล.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ประชุมร่วมกับหอการค้าอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ว่า ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนบริเวณด่านศุลกากรช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กว่า 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2565 จะโตเพิ่มขึ้น 30-40% หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์การเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้านำเข้า คือ มันสำปะหลัง และผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ โดยที่ประชุมเสนอให้เร่งเปิดจุดผ่านแดนถาวร ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ที่ติดกับกัมพูชา, เปิดจุดผ่อนปรนการค้า บ.ยักษ์คุ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ที่ติดกับ สปป. ลาว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายตัวของการค้าในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดคล้องกับนโยบาย Trade and Travel ของหอการค้าไทย

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6967429

ญี่ปุ่นทุ่มเงินกว่า 2 แสนล้านกีบ เพื่อสนับสนุนด้านวิศวกรรมศาสตร์ใน สปป.ลาว

ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสปป.ลาวได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างผู้แทนสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และและอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ในการให้เงินสนับสนุนจำนวน 2,105 ล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 200,000 ล้านกีบ) เพื่อเป็นทุนในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องปฏิบัติการด้านวิศกรรม และพัฒนาการผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสปป.ลาว โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ลงนามจนถึงเดือนธันวาคม 2569 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถผลิตวิศวกรที่ตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมของประเทศสปป.ลาว ได้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_provides_60.php

‘วิกฤติขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน’ ทุบสายการบินเวียดนาม

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) รายงานว่าการโจมตีของรัสเซียในยูเครน ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบิน เวลาเดือนทางและราคาตั๋วของสายการบินเวียดนาม ผลกระทบดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเส้นทางการบินหลายเส้นทางของเวียดนามแอร์ไลน์และสายการบินแบมบูแอร์เวย์ส มีจุดแวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องอยู่ในประเทศรัสเซีย อีกทั้ง รัสเซียประกาศห้ามสายการบินต่างๆ จาก 36 ประเทศใช้น่านฟ้าของรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ได้คว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สายการบินเวียดนามต้องค้นหาเส้นทางการบินใหม่ ทั้งนี้ เที่ยวบินเวียดนาม-ยุโรป ได้รับการเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของรัสเซีย ไม่ว่าจะผ่านจีน คาซัคสถาน หรือแอฟริกาเหนือ โดยจะใช้เวลาบินนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600-21,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเที่ยวบิน

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20220327/russia-ukraine-conflict-hurts-vietnamese-airlines-aviation-authority/66360.html

‘เวิลด์แบงก์’ พร้อมสนับสนุนดันเวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ปี 2045

มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาเยือนเวียดนามนับว่าเป็นวันที่ 5 (วันที่ 25 มี.ค.) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเวียดนาม “ฟาม มินห์ จิญ” และนายนายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับความท้าทายของเวียดนามในการยกระดับประเทศ รวมถึงวิธีการที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการมาเยือนเวียดนามในครั้งนี้ คือการจัดทำร่างแผนและแนวทางแก้ไขเพื่อให้เวียดนามบรรลุเป้าที่จะกลายมาเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงภายในปี 2045 อีกทั้ง มานูเอลา วี. เฟอโร เน้นย้ำว่าธนาคารโลกถือเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่สำคัญแก่ประเทศเวียดนามและเสนอโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ

ที่มา : https://vir.com.vn/wb-pleges-to-support-vietnam-to-become-high-income-economy-by-2045-92233.html

 

ประชากรกัมพูชากว่าร้อยละ 92.55 ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ประชาชนทั้งหมดกว่า 14.81 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 92.55 ของประชากรในประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นโดสแรกแล้ว โดยกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จากจำนวน 14.81 ล้านคน 13.96 ล้านคน ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ขณะที่ 7.89 ล้านคน ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และในจำนวนนี้ 1.15 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมาจากออสเตรเลีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501048112/up-to-92-55-percent-of-cambodias-population-have-received-first-dose-of-covid-19-vaccine/

สถาบันการเงิน 69 แห่ง เริ่มให้บริการชำระเงินผ่านระบบมือถือในกัมพูชาแล้ว

ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านระบบมือถือในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42 หรือคิดเป็นจำนวน 13.6 ล้านคนในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 9.5 ล้านคนในปี 2020 ตามข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 กระตุ้นให้ผู้คนจำนวนมากหันมาใช้การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการทำธุรกรรมถึง 707.57 ล้านครั้ง ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการทำธุรกรรม 157.63 ล้านครั้ง ใช้สกุลเงินเรียลในการทำธุรกรรม ซึ่งธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 113.67 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 95.31 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ในส่วนของสถาบันการเงินที่มีการให้บริการด้านการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนทั้งสิ้น 69 แห่งในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501047230/69-mobile-payment-services-spearhead-cambodias-mobile-payment-transactions-to-113-67-billion/

ส่งออกสินค้าเกษตรเมียนมาลดฮวบ 20% !

กรมศุลกากรเมียนมา เผย จากการปิดชายแดนของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ส่งผลให้กลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเกือบ 20% ในช่วง 5 เดือนครึ่งที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่ที่ 2.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 541.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบัน ด่านชายแดนบางแห่งเริ่มเปิดทำการค้าเป็นบางส่วน โดยสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และศรีลังกาเป็นหลัก ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรพุ่งเป็น 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2563-2564 แม้ว่าการส่งออกอื่นๆ จะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/agricultural-export-value-down-by-nearly-20-per-cent-as-of-18-march/#article-title

‘อนุสรณ์’ชี้ศึกยูเครนยืดเยื้อ 10มาตรการรับมือไม่เพียงพอ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการ 10 มาตรการช่วยประชาชนของรัฐบาลล่าสุดนั้นไม่เพียงพอ และครอบคลุมเวลา 3 เดือนนั้นสั้นเกินไป ซึ่งอย่างต่ำต้อง 6 เดือน เพราะคาดการณ์ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะบรรเทาผลกระทบจากพลังงานและน้ำมันแพงเป็นหลัก โดยมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอื่นๆ ดังนั้น ต้องเน้นไปที่มาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบเช่นต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด ส่วนเรื่องพลังงานก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/644045

‘อาคม’ เผยปมขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ไม่กระทบส่งออกอาเซียน ยัน อัตราว่างงานลดลงตามลำดับ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในส่วนกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องฐานะการเงินของประเทศ แนวนโยบายในการบริหารโควิด-19 ก็เดินคู่กับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เราพยายามจะรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ เห็นได้จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ GDP แต่ละไตรมาสที่ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะมีโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม แต่ความรุนแรงไม่เท่าสายพันธุ์เดลต้า เพราะฉะนั้นกิจกรรมธุรกิจต่างๆ ยังสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ประเด็นสำคัญคือการเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแต่ละครั้งนั้นสิ่งที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจของเราสามารถเดินต่อได้มี 2 เรื่อง คือเรื่อง ภาคเกษตร เป็นภาคที่สำคัญ เพราะกระทบต่อรายได้ของประชาชน กับเรื่อง การค้าขายชายแดน ซึ่งผมได้ลงไปในพื้นที่ชายแดนหลายจังหวัดพบว่าช่วงโควิด-19 นั้นการขนสินค้าข้ามแดนไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรายังพึ่งพาสินค้าอุปโภค-บริโภคกันอยู่” นายอาคมกล่าว

 

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_3250986