ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หากเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วน ยังมีจำนวนต่ำอยู่ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผู้ป่วยโควิดจนล้นมืออีกครั้ง ด้านสำนักข่าว CNN รายงานว่า โควิด-19 ได้ระบาดหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ขณะนี้หลายชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย กำลังละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” หันมาหาทางใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และกำลังมองหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง โดยจุดสูงสุดของการระบาดเพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังต่ำมากในหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลหลายชาติในอาเซียน ก็เตรียมจะเปิดประเทศรับนักเดินทางต่างชาติอีกครั้งแล้ว

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/world/91673/

สะพานบ่อแก้ว-ไซยะบุรี แล้วสำเร็จไปแล้วกว่า 66 เปอร์เซ็นต์

สะพานคนทึน-ห้วยแก้ว ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมจังหวัดบ่อแก้วและไซยะบุรี เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 66 % การก่อสร้างโครงการเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลลาวเป็นมูลค่ากว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 36 เดือน หลังจากสร้างแล้วเสร็จ สะพานจะมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยการเพิ่มการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ ให้ทางลัดสำหรับยานพาหนะที่วิ่งผ่านพื้นที่ และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างลาวและไทยทั้งนี้ยังเป็นไปแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะนำพาสปป.ลาวสู่ประเทศที่เชื่อมต่อการขนส่งระดับภูมิภาค เป็นการส่งเสริมขนส่งในประเทศและการเชื่อมต่อการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2021/09/21/bokeo-xayaboury-bridge-now-over-66-percent-completed/

ข่าวดี! เอฟทีเอ อาเซียน-ฮ่องกง เพิ่มความร่วมมือทางศก.อีก 5 สาขา จูงใจลงทุนแรงสุด

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ฮ่องกง ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยหารือในประเด็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ทั้งนี้ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน/กฎระเบียบทางเทคนิค/กระบวนการประเมินความสอดคล้อง ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของไทยและอาเซียนในตลาดโลกได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2950650

‘บ.ไฟฟ้าเวียดนาม’ ลงนามสัญญาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในเนปาล

เมื่อวันจันทร์ (20 ก.ย.) บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมของเวียดนาม (PECC1) ได้ลงนามในสัญญาเพื่อให้บริการและออกแบบโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในเขตอำเภอตะนะหุ ประเทศเนปาล โดยสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามระหว่างบริษัท Sond Da Corporation ของเวียดนามและบริษัท Kalika ของเนปาล ทั้งนี้ โครงการ “Tanahu” มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงาน โดยเฉพาะฤดูหนาวที่แห้งแล้ง และลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ นาย Nguyễn Hữu Chỉnh ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวในงานแถลงข่าวว่านับเป็นก้าวสำคัญของการร่วมมือทั้งสองฝ่าย และดึงนำทรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดมาทำโครงการดังกล่าว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1035893/viet-nams-power-company-seals-contract-for-hydropower-project-in-nepal.html

‘SCG’ เล็งขยายการลงทุนเพิ่มอีก 353 ล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม

บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไทย ‘บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ ประกาศแผนขยายการลงทุนในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินกว่า 353 ล้านเหรียญสหรัฐ วัตถุประสงค์ของแผนงานดังกล่าวเพื่อสร้างโรงงานใหม่ในจังหวัดหวิญฟุ้ก (Vinh Phuc) ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิต 74% สู่ระดับปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ 870,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนข้ามชาติ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (CSCGP) กล่าวว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 6-7% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564-2567

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/companies/thai-packaging-firm-eyes-353-mln-expansion-in-vietnam-4359690.html

ญี่ปุ่นติดอันดับ 3 ของประเทศที่เมียนนาส่งออกสินค้า ในปีงบประมาณปัจจุบัน

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เผย มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมาและหุ้นส่วนการพัฒนาของญี่ปุ่นมีมูลค่ามากกว่า 1.049 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน (2563-2564) และญี่ปุ่นถูกจัดให้เป็นคู่ค้าส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมา การส่งออกของเมียนมาร์ไปญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ค.64) อยู่ที่ประมาณ 768 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ามีเพียง 281.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากทะเล ข้าว งาดำ ถั่วเขียว ยางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในทางกลับกันด้านการนำเข้าจะเป็น เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ยา รถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่ปีงบประมาณนี้ มีบริษัทสามแห่งจากญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในประเทศเริ่มต้น 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 34.7% ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/japan-ranks-myanmar-third-largest-export-country-this-fy/?__cf_chl_managed_tk__=pmd_6TWYMCUi3RM5JgxKjHymCjuLm_A_yPQOvBsl04lnqxE-1632277432-0-gqNtZGzNAvujcnBszRNl

นักธุรกิจชาวต่างชาติเสนอกักตัวเหลือ 7 วัน ต่อรัฐบาลกัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศกล่าวว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะได้รับผลประโยชน์เชิงบวก หากรัฐบาลนำข้อเสนอแนะในการให้กักตัวเหลือ 7 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักธุรกิจและผู้ถือวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันประเทศปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่วนผู้ถือวีซ่าธุรกิจจำเป็นต้องกักตัวในโรงแรมอย่างน้อย 14 วัน โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์อย่างมากหากนักธุรกิจและนักลงทุนสามารถเดินทางมากัมพูชาได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งสะดวกต่อการเยี่ยมชมสถานที่จริง การประชุมกันโดยไม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และในฐานะแขกที่มักจะใช้จ่ายสูงระหว่างการเดินทางและการเข้าพัก โดยเชื่อว่าสิ่งนี้อาจมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทางด้านประธาน EuroCham Cambodia กล่าวว่าประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงพอๆ กับกัมพูชากำลังทยอยเปิดประเทศกันแล้ว แม้ว่าความเปราะบางของระบบการรักษาพยาบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกัมพูชาได้ทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรไปแล้วมากกว่าสามในสี่ของจำนวนประชากร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50938538/foreign-businesses-welcome-seven-day-quarantine-suggestion/

ท่าเรือพนมเปญ เสริมพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ในกัมพูชา

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ได้เปิดตัวโครงการส่วนต่อขยายท่าเทียบ ไปในวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา โดยได้ยกระดับความสามารถในการจัดการตู้คอนเทนเนอร์เป็น 400,000 TEU ต่อปี ซึ่งการก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้ใช้งบประมาณอยู่ที่ 18.4 ล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2019 และแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2021 โดยมีขนาดครอบคลุมพื้นที่ 2.75 เฮกตาร์ และเดิมมีความสามารถในการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ 100,000 TEU ต่อปี ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องขยายเป็นเพราะว่าจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณการใช้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ โดยในปี 2019 PPAP ได้รับตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 290,000 ตู้ มายังท่าเรือ และยังได้วางแผนโครงการขยายสถานีคอนเทนเนอร์ใหม่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บให้ได้ 500,000 TEUs ต่อปี ภายในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50938651/phnom-penh-autonomous-port-upgrades-container-handling-capacity-to-400000-teus/

พงศ์สาลีอนุมัติโครงการค้าไม้ไผ่

ชาวบ้านในจังหวัดพงสาลีจะมีทางเลือกมากขึ้นในการหารายได้จากดินที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมโอกาสใหม่ที่จะปลูกไผ่เพื่อขายให้กับโรงงานแปรรูปตามแผนหรือเพื่อนำไปใช้ในโรงงาน มีการลงนามสัญญา 2 ฉบับในจังหวัดพงสาลี ระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัดและบริษัทเอกชนในการสนับสนุนการปลูกไผ่ ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นปลูกไผ่เพื่อขายให้กับบริษัทบนพื้นที่ 980 เฮกตาร์ ใน 13 หมู่บ้านของอำเภอขัว ซึ่งหมายความว่าผู้ปลูกจะบริจาคที่ดินและแรงงานและดูแลต้นไผ่ ในขณะที่บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำด้านเทคนิค และจัดหาตลาดสำหรับต้นไผ่ โดยมูลค่าของโครงการอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านกีบ โครงการดังกล่าวจะนำมาสู่การพัฒนาและยกระดับความยากจนของคนในชุมชนพงศ์สาลี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Phongsaly_183_21.php

เมียนมาส่งออกวูบ ขาดดุลการค้าสิงคโปร์ ในปีงบฯ 63-64

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับสิงคโปร์ในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ค.64) ของปีงบประมาณ2563-2564 อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกกว่า 181.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้ากว่า 2.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมียนมามาขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2.158 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของเมียนมาร์ในภูมิภาค รองจากไทย  สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร รองเท้า สิ่งทอและเสื้อผ้า แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ขณะที่การนำเข้า ได้แก่ พลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าพาราสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค โลหะ และเคมีภัณฑ์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-surpass-exports-in-trade-with-singapore-this-fy/