‘กระทรวงการคลังเวียดนาม’ อัดฉีดเงิน 21.5 ล้านล้านดอง ใช้สู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 กระทรวงการคลัง ประกาศว่าเวียดนามใช้งบประมาณรวมกว่า 21.5 ล้านล้านดอง เพื่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และจำนวนเงินดังกล่าว มีการใช้เงิน 8.4 ล้านล้านดอง เพื่อซื้อวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะเดียวกันมีการใช้เงิน 13.1 ล้านล้านดอง เพื่อบรรเทาและสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามมติของรัฐบาลฉบับที่ 42 และฉบับที่ 154 ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงิน 1,237 ล้านล้านดองจากกองทุนสำรองของรัฐ ปี 2564 เพื่อที่จะให้กระทรวงฯ จัดซื้อวัคซีนและดำเนินการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้ส่วนราชการและหน่วยงานท้องถิ่น ลดค่าใช้จ่ายลง 50% และรายจ่ายประจำอย่างน้อย 10% เพื่อที่จะนำเงินไปต่อสู้กับการระบาดโควิด-19

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/83203/finance-ministry-says-has-spent-vnd215-trillion-on-covid-19-fight.html

ปธ.หอค้า ชี้ 4 ประเด็นเสี่ยงจากขยายล็อกดาวน์ คาด ศก.เสียหาย 1.2 แสนล้าน ใน 30 วัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยว่า จากประกาศควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพิ่มจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ภาคเอกชน มีความเห็นว่า 1.ภาคเอกชน ต้องการความชัดเจนในการจัดการ ประกาศที่ออกมาควรมีรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อม 2.สำหรับที่มีการยกระดับเพิ่มใน 3 จังหวัด เห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีภาคการผลิตสูงมาก ควรต้องมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจ การคัดแยก และจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึง 3.จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าผลกระทบ 1 เดือน จะประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท 4. รัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักเป็นการด่วน

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2836170

‘ไทย’ หนุนข้อริเริ่ม B3W ‘สหรัฐ’ ฟื้นอาเซียนพ้นโควิด

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหรัฐสมัยพิเศษ โดยมีการหารือเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-19 โดยสหรัฐ ย้ำความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงอาเซียน ผ่านการบริจาคในรูปแบบทวิภาคี และกลไกโคแวกซ์ (COVAX) ด้านไทย “ดอน ปรมัตถ์วินัย” แสดงความสนับสนุนสหรัฐ ตามแนวทางข้อริเริ่ม “Build Back Better World” (B3W) เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของภูมิภาคจากโควิด-19 รวมทั้งเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/949109

เวียดนามเผยยอดการส่งออกสินค้าเกษตร พุ่ง 28.2%

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เป็นมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ราคาข้าวของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการข้าวในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อาทิ จีนและเกาหลีใต้ ตลอดจนธุรกิจเวียดนามส่วนใหญ่เซ็นสัญญาส่งออกไปแล้วในไตรมาสที่ 2-3 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี เวียดนามได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม และข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เพื่อเจาะตลาดใหม่

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/agricultural-exports-up-28-2-pct-4309366.html

ธนาคาร HSBC คาดเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2 เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่

ธนาคารเอชเอสบีซี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเผชิญกับความท้าทายจากอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คุณ Ngo Dang Khoa หัวหน้าฝ่ายการตลาดโลกของธนาคารเอชเอสบีซีประจำสาขาเวียดนาม กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น สร้างความกังวลต่อการผลิตจนทำให้เกิดการหยุดชะงักในระยะยาว เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกปิดตัวลงและมาตรการเว้นระยะหางทางสังคม ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่สามจะเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเอชเอสบีซีได้ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีหน้า อยู่ที่ 6.5%

ที่มา :https://e.vnexpress.net/news/business/economy/hsbc-sees-challenges-to-vietnam-economy-in-h2-4312647.html

ปีเพาะปลูก 63-64 อำเภอยี่นมาบีน เร่งปลูกพืชช่วงมรสุมบนพื้นที่กว่า 170,000 เอเคอร์

รายงานของกรมวิชาการเกษตร เผยนาข้าวและพืชอื่นๆ ในช่วงฤดูมรสุมที่จะปลูกในปี 63 – 64 ในอำเภอยี่นมาบีน เขตสะกาย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 170,506 เอเคอร์ ซึ่งเกษตรกรจะต้องไถและหว่านเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะเกิดมรสุมให้ทันเวลา กรมวิชาการเกษตรให้ขู้มูลว่าจากพื้นที่เพาะปลูก 170,506 เอเคอร์ เป็นนาข้าว 30,700 เอเคอร์, ถั่ว 22,667 เอเคอร์,พืชน้ำมัน 59,624 เอเคอร์, ฝ้าย 2,233 เอเคอร์; พืชอาหาร 473 เอเคอร์; และพืชอื่นๆ อีก 87,481 เอเคอร์ กรมวิชาการเกษตรตำบลยินมาบิน เข้ามาช่วยเหลือด้านเทคนิคทางด้านการเกษตร การควบคุมศัตรูพืช และการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในการปรับปรุงผลผลิตของพืชผลฤดูมรสุม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/more-than-170000-acres-of-2020-2021-monsoon-crops-cultivated-in-yinmabin/#article-title

ญี่ปุ่นมอบเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 313 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสปป.ลาว เงินทุนดังกล่าวจะถูกเบิกจ่ายภายใต้โครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมอบทุนการศึกษาสำหรับข้าราชการระดับกลางและระดับท้องถิ่นเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โครงการนี้จะช่วยให้ข้าราชการรุ่นเยาว์ของสปป.ลาวได้ขยายความรู้และทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของลาว ญี่ปุ่นถือเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลืออันดับต้นๆ ให้กับสปป.ลาวและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือระหว่างประเทศ                      ในปี 2560 ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับที่ 6 ในสปป.ลาว นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้ช่วยสปป.ลาวในการรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงการฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจท้ายที่สุดนายทาเควากาตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวเพิ่มเติมว่าเขาเชื่อว่าโครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสปป.ลาวและกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan137.php

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอผ่าน SEZ แตะ 357 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า และสินค้าการเดินทาง ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) มูลค่ารวม 357.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 54 เขต ซึ่งการส่งออกอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี โครงการระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) และโครงการ ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 232 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนการส่งออกสิ่งทอปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 คิดเป็น 70 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทางมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์ และ 19 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50894153/garment-exports-from-sezs-valued-at-357-million-over-first-semester/

CBC จับมือ Thai Subcon ส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชา

สมาคมสภาส่งเสริมการค้าธุรกิจกัมพูชา (CBC) ในกรุงเทพฯ และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนระหว่างกัมพูชาและไทย โดยทั้งสองฝ่ายลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ซึ่งประธาน CBC กล่าวว่าภารกิจของ CBC คือการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับทุกภาคส่วน โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนนักธุรกิจไทย และกัมพูชา ตลอดจนส่งเสริมผลประโยชน์ต่อนโยบายผู้ผลิต ภายใต้ความร่วมมือกับ Thai Subcon ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของไทยเปิดเผยว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.366 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 5.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50894001/cbc-thai-subcon-collaborate-to-promote-business-and-investment/

ราคาข้าวเวียดนามครึ่งปีแรก พุ่ง

สำนักงานศุลกากร เผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 3.03 ล้านตัน เป็นมูลค่า 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ราคาข้าวส่งออกเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.7% แตะ 544.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ชี้ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้วยกันหลายประการ สาเหตุสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารในหลายๆประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่ 530.5 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว โดยหากนับตั้งแต่ต้นปี ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยปริมาณกว่า 1.09 ล้านตัน มูลค่า 579.83 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาจีนและกานามา

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-export-price-surges-in-first-half-873820.vov