ก.พาณิชย์สำรวจคนแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด5หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ สำรวจแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน ขรก. นักศึกษาช้อปเยอะขึ้น ส่วนใหญ่ เสื้อผ้า รองลงมาอาหาร ส่วนมาตรการรัฐ คนติดใจ คนละครึ่งมากสุด รองลงมาเป็นชิมช้อปใช้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า  สนค. ได้ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง  35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยผู้ที่มีรายได้สูง จะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มสมัยใหม่ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โลตัส บิ๊กซี วัตสัน โรบินสัน 25.32% และผ่านเฟซบุ๊ก 16.44% สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 49.23% รองลงมา 1,001–3,000 บาท  37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% โดยสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69%  และสุขภาพและความงาม ของใช้ส่วนบุคคล  17.71% สนค.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน  7.70% โดยประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภคเพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/811499

INFOGRAPHIC : เวียดนามส่งออกไม้ทะลุ 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 63

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) คาดการณ์ว่ายอดส่งออกของภาคป่าไม้ทะลุ 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไม้ที่เลื่อยออกเป็นท่อนๆ, เก้าอี้, ไม้สับ, เฟอร์นิเจอร์และไม้อัด

โครงสร้างตลาดส่งออก – สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปและจีน รวมกันมีสัดส่วนร้อยละ 90 ของมูลค่าส่งออกรวม และตลาดอื่นๆ ร้อยละ 10

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/forestry-exports-to-exceed-126-bln-usd-in-2020/192647.vnp

เวียดนามส่งออกสิ่งทอลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามคาดว่าจะลดลงร้อยละ 15 เป็นมูลค่า 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ นับว่าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 ปี จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ไวรัสดังกล่าวยังคงรุนแรงในหลายๆประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เป็นต้น ทำให้ธุรกิจสิ่งทอประสบปัญหาขาดแคลนยอดคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ บริษัท Dony Garment ที่ตั้งอยู่ในโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่าในช่วงเริ่มต้นโควิด-19 ระบาดนั้น ทางบริษัทหันมารับคำสั่งซื้อหน้ากากหลายล้านชิ้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ตอนนี้คำสั่งซื้อเหลืออยู่ที่ 36,000 ชิ้น ทั้งนี้ ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) กล่าวว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RECEP) จะช่วยให้ความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ซื้อชาวจีน

  ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/textile-exports-to-fall-for-the-first-time-in-25-years-4201885.html

สปป.ลาวขยายเวลาล็อกดาวน์เขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงน้ำทา

ขณะนี้การขยายเวลาล็อกดาวน์มีผลบังคับใช้ใน 2 แห่งในสปป.ลาว ได้มีการสั่งปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทาและแขวงบ่อแก้ว ปิดเมืองต้นผึ้งหลังจากทราบว่าชาวจีนที่ติดเชื้อโควิด -19 ทั้งสองคนได้เดินทางผ่าน โดยให้ปิดตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ได้มีการติดตามเจ็ดคนที่มีการติดต่อโดยตรงกับชาวจีนทั้งสองคนและผู้ที่ได้ติดต่อโดยตรงกับทั้งเจ็ดคนเพื่อทดสอบไวรัส และได้รับคำสั่งให้เก็บตัวอย่างจากทุกคนที่มีอาการคล้ายโควิด -19 และทำการทดสอบ นอกจากนี้ยังขอให้ตรวจสอบทุกคนที่เข้ามาในบ่อแก้วหรือหลวงน้ำทาบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด -19 อย่างเคร่งครัด ในเมืองต้นผึ้ง การเดินทางภายในเขตถูกระงั ยกเว้นการเดินทางที่จำเป็น เช่นการไปโรงพยาบาล ไปโรงเรียนและการซื้อของกิน อย่างไรก็ตามการเดินทางดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ จากสถานการณ์ดังกล่าวแขวงพงสาลีที่อยู่ใกล้เคียงได้ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ระงับบริการขนส่งสาธารณะไปยังหลวงน้ำทา ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและจะต้องได้รับการกักตัว จนถึงขณะนี้สปป.ลาวมีผู้ติดเชื้อโควิด -19 แล้ว 39 ราย (ไม่รวมชาวจีนสองชาติดังกล่าวข้างต้น) ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lockdown237.php

MIC อนุมัติลงทุน 5 โครงการรวม City Loft West ของ FMI YOMA

ในการประชุมคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) ครั้งที่ 15 (15/2020) มีการอนุมัติการลงทุน 5 โครงการซึ่งรวมถึงโครงการ City Loft West ของ FMI FMI Riverside Development Limited ในการสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าและขายภายใต้ City Loft West ซึ่งเป็นโครงการลงทุนที่ลงทุนโดยชาวเมียนมา 100%  สถานที่ตั้งของโครงการตั้งอยู่ใน Hlaing Tharya Township เขตย่างกุ้ง ตั้งอยู่ระหว่างสะพาน Bayint Naung และสะพาน Aung Zeya บนถนน Hlaing River City Loft เป็นโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลางโครงการแรกของ FMI Yoma Group ที่เปิดตัวในปี 2019 ใน Star City Thanlyin ปัจจุบัน City Loft เป็นโครงการที่ขายดีที่สุดและได้รับอนุญาตให้สร้างอีกครั้งหนึ่งภายใต้ชื่อ City Loft West ซึ่ง City Loft West ของ FMI YOMA เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ได้รับใบอนุญาตการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC)

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-investment-commission-approves-five-investments-including-fmi-yomas-city-loft-west

เมียนมาเล็งปั้นท่องเที่ยวเชิงเกษตรแนวคิดใหม่ หวังเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการการท่องเที่ยวแห่งเมียนมา มีแผนที่จะใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรใน 5 รัฐและทั่วภูมิภาคเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือกิจกรรมทางการเกษตรซึ่งจะเป็นการพาเยี่ยมชมฟาร์มหรือฟาร์มปศุสัตว์ โดยจะให้ความสำคัญให้กับภูมิภาคย่างกุ้ง พะโค อิรวะดี ตลอดจนรัฐคายาห์ และรัฐชิน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกำลังได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนเสริมของการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ของเมียนมา กระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวยังออกแพ็คเกจทัวร์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงทัวร์เที่ยวบินเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางบกตลอดจนการล่องเรือในทะเลและแม่น้ำโดยจะเริ่มเปิดตัวในเดือนนี้ ใบอนุญาตการท่องเที่ยวจะออกโดยการท่องเที่ยวคาดว่าจะเปิดอีกครั้งในต้นปี 2564 ที่ผ่านมาจากการที่สายการบินถูกระงับทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารร้านค้าและการขนส่งซึ่งได้รับความสูญเสียอย่างมาก รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงกว่า 80% หรือราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 จากการสำรวจครอบคลุมภาคการท่องเที่ยวร่วมกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบินระหว่างประเทศ การขนส่งภายในประเทศ อาหารและเครื่องดื่ม ที่พักธุรกิจบันเทิงตลอดจนการช็อปปิ้งสินค้าต่างๆ พบว่ารายได้เหล่านี้มีมูลค่ารวม 543 ล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-looks-agritourism-other-novel-ideas-boost-revenue.html

ADB อนุมัติเงินกู้ 70 ล้านดอลลาร์สำหรับภาคการเกษตรของกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติเงินกู้ราว 70 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของธุรกิจด้านการเกษตรใน 6 จังหวัดทั่วกัมพูชาในการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยมีสหกรณ์การเกษตรกว่า 230 แห่ง และธุรกิจด้านการเกษตร 50 แห่ง เข้าร่วมโครงการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่ง ADB กล่าวว่าการเกษตรถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตและกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจได้ หากธุรกิจทางการเกษตรขนาดเล็กและขนาดกลางในท้องถิ่นสามารถปรับปรุงความสามารถในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ โดยการลงทุนภาคเอกชนในภาคการเกษตรควบคู่ไปกับการเข้าถึงสินเชื่อและวัตถุดิบคุณภาพสูงจากทางผู้ผลิตจะช่วยให้ธุรกิจการเกษตรของกัมพูชาแสดงถึงศักยภาพในการส่งเสริมการเติบโตของประเทศ รวมถึงสร้างงานและปรับปรุงวิถีชีวิตในชนบท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50789891/adb-approves-loans-worth-70-million-for-cambodias-agricultur/

รัฐบาลกัมพูชาพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศ

Cambodia Rice Federation (CRF) ได้ให้ความสำคัญกับการที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมข้าวส่งผลให้การส่งออกข้าวสารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะที่ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมข้าวได้เข้าร่วมการประชุมข้าวโลกครั้งที่ 12 ประจำปี 2020 โดยรองประธาน CRF ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนผ่านธนาคารเกษตรและพัฒนาชนบท (ARDB) สำหรับภาคอุตสาหกรรมข้าว เช่น การให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับโรงสีข้าวเพื่อซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและในการพัฒนาในด้านอื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลยังจูงใจนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศ ซึ่ง ณ เดือนพฤศจิกายน 2020 กัมพูชาทำการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 ที่ 601,045 ตัน สร้างรายได้กว่า 415 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50789361/crf-highlights-governments-support-for-rice-sector-at-12th-world-rice-conference-2020/

จุรินทร์ ปลื้มราคาปาล์ม-ยางดีขึ้นมาก ช่วยหนุนรายได้เกษตรกร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ราคายางพารากับปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมาตรการประกันรายได้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นข่าวดีที่ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันดีขึ้นมากในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา โดยราคาปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 6-7 บาท และราคายางพาราเหนือกว่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรชาวภาคใต้และเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศสามารถมีรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 มีเป้าหมายกิโลกรัมละ 60 บาท แต่วันนี้ขึ้นไปกิโลกรัมละ 60-65 บาท ยางแผ่นรมควันแตะ 70 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางข้น มีเป้าหมายกิโลกรัมละ 57 บาท วันนี้อยู่ที่ 55-56 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 22 บาท ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งถือว่าราคายางอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่แล้ว ที่ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนปีนี้อยู่ที่กว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามหากราคาปรับลดลง รัฐบาลก็ยังมีนโยบายประกันรายได้ที่จะเข้าไปชดเชยส่วนต่างที่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาทสำหรับยางแผ่น และต่ำกว่ากิโลกรัมละ 57 บาทสำหรับน้ำยางข้น และกิโลกรัมละ 23 บาท สำหรับยางก้อนถ้วยชดเชยให้กับเกษตรกร

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq03/3181861

พาณิชย์ ดึง มินิเอฟทีเอ แต้มต่อดันส่งออกปี 64

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการผลักดันการส่งออกในปี 64 ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เพื่อนำเงินเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานโครงการไว้ชัดเจนหมดแล้ว มีจำนวนรวม 343 กิจกรรม ในประเทศ 135 กิจกรรม และในต่างประเทศ 208 กิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด และการผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทย นอกจากนี้ จะใช้นวัตกรรมใหม่การทำการค้าแบบลงลึกต้องทำมินิเอฟทีเอ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเอง โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน จะทำข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับมณฑล หรือรัฐ หรือเมืองของประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่าบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการของไทย สำหรับการส่งออกในปี 63 ถือว่าไทยทำได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ประสบปัญหาโควิด-19 โดยการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากที่เคยติดลบหนักในช่วงโควิด-19 ระบาด และค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะติดลบเพียบ7%และปีหน้าจะบวกได้4%ซึ่งเป็นผลมาจากทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตามการส่งออกในปีนี้ยังมีอุปสรรคที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การค้าชายแดน ที่ล่าสุดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ทำให้จำเป็นต้องปิดด่าน โดยเมียนมาเดือนต.ค.ลบ40% สปป.ลาว ลบ 21%กัมพูชา ลบ17% เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะใช้ในการส่งออก เพราะได้ดุลการค้ามากไป นำเข้ามาน้อย แต่ส่งออกไปมาก ทำให้ตู้ขาดแคลน ซึ่งจะเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/910733