หนี้เสียทางฝั่งของไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาลดลงร้อยละ 2.27 ณ ต.ค.

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคการเงินรายย่อยลดลงจากร้อยละ 2.56 ในเดือนกันยายน สู่ร้อยละ 2.27 ในเดือนตุลาคมหลังจากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.33 ในเดือนมกราคมและสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 2.61 โดยหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของสมาคมการเงินรายย่อยกัมพูชา (CMA) กล่าวว่าการลดลงของหนี้เสียเนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินยังคงทำงานร่วมกันกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด สำหรับอัตราส่วน NPL ที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว NBC แจ้งธนาคารและสถาบันการเงินว่าควรดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกู้ต่อไปจนถึงกลางปี ​​2564 ในการที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788275/microfinance-bad-loans-fall-to-2-27-in-october/

การเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา

จังหวัดกัมปอตจะเป็นที่ตั้งของฟาร์มกังหันลมแห่งแรกของกัมพูชา โดยถือเป็นก้าวสำคัญบนทิศทางของพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนในกัมพูชา ซึ่งโครงการพลังงานทดแทนจากลมในกัมพูชากำลังใกล้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง โดย The Blue Circle (กัมพูชา) ถือเป็นบริษัทผู้ทำการศึกษาโครงการและอยู่ระหว่างการหารือกับการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา (EDC) เกี่ยวกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งโครงการพลังงานลมแห่งแรกของ Blue Circle ในกัมปอตสามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 225 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนได้ 150,000 ครัวเรือน และลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่า 130,000 ตันต่อปี ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับกัมพูชาในการบรรลุพันธสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 และถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาแหล่งพลังงานต่างๆเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำ ถ่านหิน น้ำมันเตา และพลังงานที่ทำการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788448/winds-of-change-for-renewables-in-the-kingdom/

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605

INFOGRAPHIC : เวียดนามเกินดุลการค้า 20.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าเวียดนามทำสถิติเกินดุลการค้าถึง 20.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 254.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 234.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญ ได้แก่

  • โทรศัพท์และชิ้นส่วน (ส่งออก,นำเข้า 46.9, 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ส่งออก,นำเข้า 40.2, 57.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ส่งออก 26.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วน (ส่งออก,นำเข้า 23.9, 33.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • รองเท้า (ส่งออก 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-record-trade-surplus-of-201-billion-usd/191352.vnp

ระบบขนส่งด้านศุลกากร ออนไลน์ใหม่ของอาเซียนและสหภาพยุโรป เพิ่มการค้าในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันภาคเอกชนในอาเซียนสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ใหม่อันทรงพลัง นั่นคือ ระบบการขนส่งด้านศุลกากรของอาเซียน (ASEAN Customs Transit System หรือ ACTS) ซึ่งจะลดอุปสรรคในการค้าภายในกลุ่มสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อให้บริษัทต่างๆได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างมีอิสระตลอดทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยในปี พ.ศ.2560 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมายสองเป้าหมายที่เหมือนกันในการลดค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมการค้าลงถึง 10% ภายในปี 2563 และเพิ่มการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสองเท่าภายในปี 2560 ถึง 2563 เมื่อตระหนักถึงเป้าหมายนี้ จึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งด้านภาษีของอาเซียนเพื่อทำให้ภาคธุรกิจยื่นการแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าโดยตรงกับหน่วยงานด้านศุลกากรของอาเซียน และติดตามการเคลื่อนย้ายสินค้าจากการบรรทุกจากสถานที่นำสินค้าออกมาจนถึงจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า ทั้งนี้ นายดาโต๊ะ ลิม จ็อค ฮอย เลขาธิการอาเซียนเปิดเผยว่า การนำระบบ ASEAN Customs Transit System มาบังคับใช้ จึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างราบรื่นในภูมิภาค ผมเชื่อว่า ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือยอดเยี่ยมในการเพิ่มการค้าและเครือข่ายการผลิตของอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดตั้งตลาดที่รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้นสำหรับบริษัทและผู้บริโภค ระบบ ACTS ยังอาจช่วยการฟื้นฟูทางการค้าหลังวิกฤติโควิด-19 โดยการเร่งการเคลื่อนย้ายการขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ วัคซีน และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลระหว่างประเทศสมาชิก

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/201168

เผยผลสำรวจดัชนีภาคการผลิตเวียดนามดิ่งลง เหตุภัยธรรมชาติ

ผลสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำโดยนิกเกอิ ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.9 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนถึงสภาพธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงในวงกว้าง อีกทั้ง ผลผลิตลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการลดลงดังกล่าวอาจเป็นแค่ชั่วคราว เนื่องจากธุรกิจหลายแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมและพายุที่รุนแรง ทำให้การผลิตหยุดชะงัก รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อผลผลิต ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ว่านับเป็นส่วนน้อยของการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินธุรกิจในเดือนพฤศจิกายนไม่ค่อยดีนัก แต่ว่าธุรกิจหลายแห่ง มองว่าการผลิตจะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ด้วยความมั่นใจที่ว่าเวียดนามจะยังคงควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ต่อไป

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-manufacturing-activity-dips-in-nov-amid-storms-and-flooding-315078.html

โควิด-19 กระทบภาคการท่องเที่ยวเวียดนามรุนแรง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ประมาณ 3.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 76.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากเวียดนามระงับการเข้ามาของชาวต่างชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ประกอบไปด้วยนักลงทุนต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญ แรงงานที่มีทักษะสูง ผู้จัดการธุรกิจและครอบครัวของผู้โดยสารดังกล่าวที่ได้รับอนุญาตเข้ามายังประเทศ นับตั้งแต่ปิดพรมแดนในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 17,700 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม และลดลงร้อยละ 99 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภูมิภาคของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม ด้วยจำนวนราว 2.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 78.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมายุโรป อเมริกา โอเชียเนียและแอฟริกา นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว กล่าวว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุก คิดค้นนวัตกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและแนวโน้มการท่องเที่ยวในบริบทหลังวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnams-inbound-tourism-suffers-heavily-from-covid-19-315075.html

เยอรมนีสนับสนุนทุน 114 พันล้านกีบในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทางใต้ของสปป.ลาว

กรมโยธาธิการและขนส่งจังหวัดอัตตะปือมอบสัญญา 3 ฉบับสำหรับการซ่อมแซมถนนที่เสียหายจากน้ำท่วมภายใต้โครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของสปป.ลาวใต้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีผ่าน KfW Development Bank โดยให้ทุนประมาณ 114 พันล้านกีบ (มากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค วัตถุประสงค์ของโครงการคือ“ ให้ประชากรในชนบทที่ประสบอุทกภัยสามารถเข้าถึงตลาด โรงเรียน สถานีอนามัยและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่น ๆ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงบวกอย่างยั่งยืนของประชากรในชนบท” ผลกระทบจากการพัฒนาระยะกลางถึงระยะยาวคาดว่าจะส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรและร้านค้าปลีกที่มุ่งเน้นตลาดเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของความพร้อมของไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมายอีกด้วย โครงการคาดการณ์จะก่อสร้างแล้วเสร็จใน 18 เดือนสำหรับแต่ละสัญญา

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Germany_234.php

รัฐบาลกัมพูชาเร่งพิจารณาการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ากระทรวงกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือยกเลิกงานแสดงสินค้าที่จะจัดขึ้นในกัมพูชา จากสถานการณ์การแพรระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงไม่แน่นอน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากมีการจัดงานแสดงสินค้าขึ้นจะมีกำหนดอยู่ระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 ธันวาคม ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนงานแสดงสินค้าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากหน่วยงานในพื้นที่ บริษัท ผู้ผลิต ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมายังงาน “Buy Cambodian Campaign” ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มีถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าในท้องถิ่นและช่วยลดการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่กัมพูชา ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ผลิตในพื้นที่เพื่อช่วยในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพถูกสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ ด้วยต้นทุนที่ต่ำทำให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788020/local-goods-exhibition-hangs-in-the-balance/

สนามบินภายในประเทศกัมพูชาได้รับรางวัลความปลอดภัยทางสุขภาพ

สนามบินนานาชาติสามแห่งของกัมพูชาได้รับรางวัล Airport Health Accreditation (AHA) ที่ออกโดย Airports Council International (ACI) ซึ่งรับรองสนามบินนานาชาติของประเทศของกัมพูชา (Phnom Penh International, Siem Reap International และ Sihanouk International) ตามการตรวจสอบที่ดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนโดย ACI โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นไปที่มาตรการด้านสุขภาพและสุขอนามัยที่กำหนดขึ้นที่สนามบินทั้งสามแห่งเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสนามบินทั้งสามแห่งของกัมพูชาได้สอดรับกับแนวทางปฏิบัติอย่างเต็มที่ภายใต้มาตรการด้านสุขภาพของรัฐบาลกัมพูชาและมาตรการที่เป็นไปตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสายการบินอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50787907/kingdoms-airports-awarded-prestigious-accreditation/