การเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมการตลาดสู่ความสำเร็จของงานฝีมือสปป.ลาว

ผู้บริหารใหม่ของสมาคมหัตถกรรมสปป.ลาวและสมาชิกทั่วประเทศจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นในการสร้างเครือข่ายการตลาดที่ยืดหยุ่นเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้กับลูกค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากล่าวคำแนะนำในการประชุมสมาคมหัตถกรรมสปป.ลาวครั้งที่ 9 เพื่อคัดเลือกผู้บริหารใหม่ขององค์กร ซึ่งในปัจจุบันมีความท้าทายที่สำคัญสำหรับช่างฝีมือในท้องถิ่นเพราะขาดเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับผลิตภัณฑ์ การมีสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความมั่นคงในการผลิตงานฝีมือและช่วยให้ช่างฝีมือสามารถเพิ่มยอดขายและรายได้ได้อย่างมาก เครือข่ายที่ได้รับการหนุนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายคุณภาพและปริมาณการผลิตเพื่อจำหน่ายไปยังประเทศอาเซียนและตลาดส่งออกต่อไป และนายกสมาคมหัตถกรรมสปป.ลาวยังได้เน้นถึงความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือช่างฝีมือสปป.ลาวในประเทศ นอกจากนี้ในที่ประชุมมีการกล่าวถึงการส่งเสริมทักษะด้านเทคนิคและการตลาดสำหรับผู้ผลิตที่ใช้ผ้าไหม, ผ้าฝ้าย, ไม้ไผ่, หวาย, เงิน, เครื่องปั้นดินเผาและอาหาร รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Enhanced146.php

ภาคโลจิสติกส์กัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐบาล

ภาคการขนส่งของกัมพูชาซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19 กำลังมองหาการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล โดยประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา (CLA) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้บริการขนส่งโดยรวมลดลงมากถึงร้อยละ 70 ในขณะที่การขนส่งทางอากาศของกัมพูชาหยุดชะงักถึงร้อยละ 98 ของการขนส่งทางอากาศทั้งหมด อย่างไรก็ตามการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางบกมีการฟื้นตัวมากกว่าร้อยละ 10 เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับบางภาคส่วนไปแล้ว เช่น SMEs และบริการด้านการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่สำหรับการขนส่งซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ถูกจัดส่งผ่านทางท่าเรือทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการผลิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749687/logistics-sector-seeks-cash-aid-but-its-not-yet-a-priority/

ข้อสรุปความตกลงด้านการค้าเสรีระหว่างจีนกับกัมพูชา

กัมพูชามีสินค้าส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 340 รายการ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชากับจีน ส่งผลให้มีสินค้าภายใต้ FTA ณ ปัจจุบันจำนวนมากกว่า 10,000 รายการ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร ในขณะที่ประเทศจีนได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศกัมพูชามากกว่า 9,500 รายการ ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชา – จีนจะลงนามในไม่ช้า ภายในต้นปีหน้า คาดว่าจะส่งผลให้มีการลงทุนภายในกัมพูชาเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกัมพูชาไม่ควรพึ่งพาจีนเพียงอย่างเดียว โดยในระยะยาวคาดว่าประเทศส่วนใหญ่ที่กำหนดเป้าหมายทำการค้าไปยังตลาดจีนจะเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ซึ่งเขตการค้าเสรีจะสร้างโอกาสสำหรับกัมพูชาในการยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749528/free-trade-deal-with-china-finally-finalised/

INFOGRAPHIC : เวียดนามเผยช่วง 7 เดือนแรกปึนี้ ดึงดูดเม็ดเงิน FDI กว่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 18.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินลงทุนจากโครงการใหม่จำนวน 1,620 โครงการรวมมูลค่า 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, โครงการปรับเพิ่มเงินทุนจำนวน 619 โครงการรวมมูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการซื้อหุ้นกิจการภายในประเทศจำนวน 4,459 โครงการรวมมูลค่า 4.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.62 ของมูลค่าการลงทุนรวม รองลงมาไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบการปรับอากาศ มูลค่า 3.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (20.99%), อสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 2.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (14.98%), การค้าปลีกค้าส่งและซ่อมยานยนต์ มูลค่า 1.095 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.8%) และอื่นๆ ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/first-7-months-fdi-attraction-reaches-over-188-billion-usd/179310.vnp

อัตราความยากจนสปป.ลาวยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

แนวโน้มความยากจนในสปป.ลาวยังคงลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1992-1993 อัตราอยู่ที่ร้อยละ 46 และลดลงเป็นร้อยละ 39 ในปี 1997-1998 จนในปี 2561-2562 ลดลงเหลือร้อยละ 18.3 โดยมีปัจจัยจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า ระบบการขนส่ง น้ำสะอาดและการเข้าถึงสุขาภิบาลรวมถึงการบริโภคหรือความมั่นคงด้านอาหาร ตามข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคและการใช้จ่ายของสปป.ลาวในปี 2561-2562 การบริโภคและการใช้จ่ายของครัวเรือนในสปป.ลาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 เมื่อเทียบกับปี 2555-2556 นอกจากนี้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติลาว (LSB) ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนพบว่าประชาชนสปป.ลาวสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.8 การเข้าถึงไฟฟ้าร้อยละ 76.5 การเข้าถึงโครงการฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3    ปัจจัยต่างๆเหล่านี้สนับสนุนให้ความยากจนของสปป.ลาวลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นเอง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Poverty145.php

PESTECH (กัมพูชา) เริ่มเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก

PESTECH (กัมพูชา) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยของ PESTECH International Bhd. ซึ่งตั้งอยู่ในมาเลเซียได้ทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยบริษัทได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ซึ่งการทำ IPO มีเป็นจำนวนทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,945,000 หุ้น ในราคาเสนอซื้อที่ 0.76 ดอลลาร์ (3,120 riels) ต่อหุ้น โดยจากการเสนอขายหุ้นทั้งหมดมีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ (12.308 ล้านเรียล) ซึ่งบริษัทดำเนินกิจการด้านการออกแบบ วิศวกรรม การผลิต การติดตั้ง การทดสอบระบบไฟฟ้าแรงสูง (HV) ไปจนถึงระบบไฟฟ้าแรงสูงพิเศษ (EHV) โดยครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ซึ่ง PESTECH (Cambodia) ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนลำดับที่ 13 ในกัมพูชา ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการสร้างสายส่งระยะทาง 1,700 กิโลเมตรในกัมพูชาในอีกห้าถึงหกปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749136/pestech-cambodia-starts-ipo-roadshow/

กัมพูชาผลักดันการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ

Century 21 Zillion Holding บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในกัมพูชา ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์จากสหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชาด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยจังหวัดพระสีหนุได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดแรกในการจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างงานและโอกาสด้านการลงทุนสำหรับตลาดที่ดินทั่วประเทศกัมพูชา ซึ่งประธานสมาคมผู้ประเมินราคาและนายหน้าของกัมพูชา (CVEA) กล่าวว่าสีหนุวิลล์ถือเป็นเสาหลักเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากพนมเปญ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตอย่างมาก แต่จากรายงานของ CBRE แสดงให้เห็นว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 โดยกัมพูชายังเห็นการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ร่วมด้วย ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติไหลเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 24

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749319/push-to-develop-property-sector/

พาณิชย์ เผย SEOM ทำแผนฟื้นฟูศก.หลังวิกฤตโควิด-19 เชื่อมห่วงโซ่การผลิตอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting : SEOM) ครั้งที่ 3/51 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.63 ผ่านระบบทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรายงานความสำเร็จต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ สำหรับการทำงานของเสาเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีความคืบหน้าดังนี้ 1.พร้อมใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-Wide Self Certification) ในเดือน ก.ย.63 โดยผู้ส่งออกจะสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐ 2.พร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 52 ในเดือน ส.ค.นี้ 3.ได้ข้อสรุปการเจรจา MRA สินค้าวัสดุก่อสร้าง และเตรียมลงนามในปีนี้เช่นกัน ซึ่ง MRA ทั้งสองฉบับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์และวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้า และ 4.พร้อมใช้ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียนในปี 2563 เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทำการค้าระหว่างเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-77a1ea9aee8320ed899b2ea2d5eb7329

การส่งออกไม้ของเวียดนามกลับมาฟื้นตัว ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ามูลค่าส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ของเวียดนามอยู่ที่ 5.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยในเดือนมิ.ย. ยอดส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ของเวียดนามที่ 769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าเดือนมิ.ย. การส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ชะลอตัวลงในบางตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน แคนาดาและออสเตรเลีย เป็นต้น และมีข้อสังเกตสำคัญชี้ให้เห็นว่าตลาดยุโรป มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายระดับภูมิภาค รวมถึงประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 แบบคลื่นลูกที่ 2 ส่งผลให้กระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคในยุโรปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) จะมีผลบังคับใช้วันที่  1 สิ.ค. และบรรลุในการคุ้มครองการลงทุนทวิภาคี

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnamese-wood-exports-recover-during-the-first-half-of-the-year-22790.html

เวียดนามเผยม.ค.-ก.ค. ดึงดูดเม็ดเงิน FDI ลดลง 6.9% (18.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 18.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยมี 526 โครงการที่ได้รับอนุญาตใหม่ ยอดการลงทุนที่เป็นการลงทุนเพิ่มในโครงการที่มีอยู่ปัจจุบัน 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีนักลงทุนต่างชาติ 4,459 รายที่เข้ามาลงทุนและซื้อหุ้น มูลค่าราว 4.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเกือบร้อยละ 55 ของยอดทั้งหมด ขณะที่ ร้อยละ 28.8 ก๊าซ น้ำและจำหน่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ การลงทุน FDI ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม, ภาค FDI คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของยอดส่งออกทั้งประเทศ

ที่มา : https://e.nhipcaudautu.vn/economy/vietnams-jan-jul-pledged-fdi-drops-69-to-1882bln-3336300/