มองเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ โอกาสของทุนไทย

โดย SME Social Planet I ธนาคารกรุงเทพ

ความเนื้อหอมของ ‘เวียดนาม’ ในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน จากปัจจัยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2562 จากข้อมูล World Economic Outlook, October 2019 ซึ่งเทียบได้กับราว 44 % ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามที่คาดว่าจะขยายตัวแค่ 2.91% แต่เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวนั้นกลับสวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ติดลบ และยิ่งไปกว่านั้นมีการประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 6.5-7 ในปี 2564 เลยทีเดียว

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก (GDP) มีการเติบโตถึง 2.91% ในปี 2020 เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง อาทิ

  1. มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน
  2. เวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก
  3. เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน

ไทยมองการลงทุนเวียดนามอย่างไร

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำ ทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ

นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะวีเอ็น (AMATAV) กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

เห็นได้ว่าทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันเอกชนที่เข้มแข็ง และตัวแทนเอกชนที่เป็นแนวหน้าไปลงทุนในเวียดนาม ต่างมีความเห็นที่น่าสนใจกับการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ภายใต้การที่เอเชียจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่หลังโควิด 19 รวมทั้งประเด็นการลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างชาติ และการจูงใจนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้หากสามารถปรับแผนให้โครงการ EEC ของไทย เป็นศูนย์กลางในการกระจายการลงทุนในภูมิภาคได้ ก็จะยิ่งเกิดเป็นประโยชน์คู่ขนาดของสองชาติได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/look-vietnam-economy-opportunities-thai-capital

เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

โดย Soison Lohsuwannakul I วิจัยกรุงศรี Research Intelligence

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เป็นความตกลงแรกของเวียดนามที่เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า อีกทั้งยังครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ที่สำคัญจะช่วยให้เวียดนามเพิ่มแต้มต่อและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลข้างเคียงเชิงลบ โดยสินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU อาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและ EU มากขึ้นในระยะนับจากนี้

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 ทางการเวียดนามและสหภาพยุโรป (The European Union: EU) ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU- Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)/1 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ความตกลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020

สำหรับความตกลง EVFTA ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ (1) ความตกลง EVFTA มีระดับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกือบ 100% สูงสุดในบรรดาความตกลงที่เวียดนามลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว/2 (2) เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU/3 และ (3) เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง/4 กับ EU ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเชิงปริมาณ (ในลักษณะของการลดอัตราภาษีนำเข้าหรือการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ) ยังรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้า EU จะลดภาษีให้เวียดนามในสัดส่วนสินค้าที่มากกว่าและกรอบเวลาที่สั้นกว่าเวียดนาม ดังนี้
  2. EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  3. เวียดนาม จะยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU เป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 98.3 ภายในระยะเวลา 11 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  4. การเปิดเสรีด้านบริการ ภายใต้ EVFTA เวียดนามมีการเปิดเสรีในระดับสูงกว่าที่ตกลงไว้กับ WTO และสูงกว่าความตกลงอาเซียน
  5. การเปิดเสรีการลงทุน: ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามเปิดเสรีในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
  6. การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต เวียดนามและ EU เปิดเสรีการลงทุนเกือบทุกสาขา
  7. สำหรับการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาบริการ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการ และสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต
  8. การเปิดเสรีด้านอื่น ๆ : ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามมีอยู่ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานและสัญญาของรัฐได้ อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public contracts) เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานของรัฐได้ ภายใต้ความตกลง EVFTA นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาของรัฐ ที่อยู่ภายใต้อำนาจระดับกระทรวงของเวียดนาม

การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ภายใต้ EVFTA จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อเวียดนามในระยะยาว

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ความตกลง EVFTA พบว่า มีนัยสำคัญต่อการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่

  1. การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA เอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น
  2. การเปิดกว้างด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยนักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานของรัฐและเข้าร่วมโครงการลงทุนของภาครัฐได้เป็นครั้งแรก ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการสรรหาผู้รับงานที่หลากหลาย
  3. ความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ จะส่งผลเกื้อหนุนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลง EVFTA ยังมีประเด็นครอบคลุมถึงการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การลดการผูกขาดของรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ

EVFTA อาจส่งผลเชิงลบต่อไทย จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU

  • ผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะส่งผลสุทธิทางลบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไปเวียดนามและ EU

ผลจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการย้ายฐานการลงทุน (Investment relocation) ที่เกิดขึ้นจากความตกลง EVFTA จะทำให้ประเทศอื่นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบ

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 จากการสูญเสียความได้เปรียบทางภาษี

ในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับต้นๆ ของเวียดนาม เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านภาษีจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเมื่อเวียดนามเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA อัตราภาษีนำเข้าที่เวียดนามเก็บจากสินค้า EU จะลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 0 เวียดนามจึงมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก EU ทดแทนสินค้าจากไทย

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและ EU จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 สำหรับในปีแรกที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้สัดส่วนสินค้าที่เวียดนามลดภาษีนำเข้าให้ EU ทันทีจะอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะแรก ได้แก่ โพรลิเอทิลีน, เครื่องส่งวิทยุ/โมเด็ม/แลนด์ไร้สาย, ไดโอด/อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่เพียงผลเชิงบวกที่เวียดนามจะได้รับจากการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามไปยัง EU มีความได้เปรียบด้านราคาและสินค้าจากเวียดนามยังมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของ EU มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้ผลบวกเพิ่มเติมจากความพิเศษของ EVFTA ที่เหนือกว่าความตกลงอื่น ๆ ทั้งจากการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ การลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-evfta

สร้างความสำคัญให้กับชายแดนไทย

ในอดีตความเจริญของชายแดนไทย เช่น ที่ด่านอรัญประเทศเมืองฝั่งตรงข้ามเมืองปอยเปต เมื่อ 30 ปีเป็นแค่ชุมชนเล็กๆ มีร้านค้าไม่กี่ร้าน มีตลาดขายสินค้าอุปโภค-บริโภคจากไทยอยู่แห่งหนึ่ง พอรัฐบาลกัมพูชาเปิดเปิดบ่อนคาสิโนที่นั่น ปรากฏว่าเมืองเจริญขึ้นทันที มีบ่อนใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ฝั่งอรัญประเทศมีแค่ขายสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ความเจริญไม่ได้ไหลเข้ามาสู่อรัญประเทศมากนัก ล่าสุดทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก ที่เคยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมาใช้บริการร้านอาหารหรือโรงแรมเพิ่มแต่กลับน้อยลง เพราะข้ามฝั่งไปเมืองปอยเปตกันหมด อีกด่านหนึ่ง คือ ด่านเชียงแสน ตรงข้ามเมืองต้นผึ้ง ประเทศสปป.ลาว ซึ่งเกิดเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่มาบูมกันจริงๆ ไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา เพราะมีการย้ายบ่อนคาสิโนจากเมืองบ่อเตนข้ามมาที่นี่ สังเกตว่าเชียงแสนก่อนหน้า 30 ปีที่ผ่านมา จะมีสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ และจะบูมมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา หลายค่ายของขุมกำลังทรัพย์ที่เป็นผู้ประกอบการ แต่พอนักท่องเที่ยวหดหายไปร้านค้าหรือกิจการก็ซบเซาลงทันที พอเริ่มมีบ่อนคาสิโนมาเปิดฝั่งตรงข้าม ความเจริญยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การค้าการขายที่เชียงแสนก็ไม่ได้อาณิสงค์ของเมืองบ่อนการพนัน จะมีแต่สิบสองปันนาของจีนเท่านั้น สังเกตว่าถ้าเมื่อใดที่น้ำในแม่น้ำโขงลด สินค้าส่งออกทั้งฝั่งเชียงแสนและอเชียงของจะเงียบเหงาทันที แต่พอปัจจัยทั้งสองแห่งที่เป็นไปในทางบวก ทุกอย่างก็จะคึกคักทันที ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบ่อนคาสิโนที่จะส่งผลต่อการค้าการส่งออกเลย

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/607834

สวรรค์ของนักลงทุนไทย

หลายปีมาแล้วที่ทางภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมการค้า-การลงทุนไทยในต่างแดน เช่น มีการจัดสัมมนา จัดงานแสดงสินค้า อีกทั้งงานทำ Business Matching การทำ Networking ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผู้ที่จะลงทุนควรตระหนักคือ อย่างแรกเลย คือ เหมาะจะไปค้าขายหรือไปลงทุนแบบใด บางครั้งผู้ประกอบการมักไปจ้างผู้ผลิต OEM แต่ต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่ควรคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านจะขาดแคลน สามารถผลิตหรือขายสินค้าได้หมด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมาก เช่น เวียดนาม ที่นั่นมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้าไปตั้งฐานผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันทำให้ล้นตลาดไปแล้ว และงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ ของโลก จะมีสินค้าเวียดนามไปร่วมแสดงอยู่เสมอ บางผู้ประกอบการเอาสินค้าที่มีภาระต้นทุนด้านลอจิสติกส์สูงไปขาย แต่จะทำได้ไม่นานนัก เพราะผู้ประกอบการท้องถิ่นเห็นว่าตลาดกว้างมาก (High Market cap) จึงเข้าร่วมแข่งขันเพื่อแย่งตลาดแน่นอน แต่ถ้าสินค้านั้นเป็นแบรนด์ของตัวเอง มีแผนที่จะย้ายฐานผลิต สามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าไม่มีศักยภาพเพียงพอ การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะการกู้ยืมเงินไปลงทุนในต่างประเทศนั้นยากกว่าลงทุนในประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบที่สนใจการค้า การลงทุนต้องหาข้อมูลให้เยอะๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก่อนการตัดสินใจ

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/605826

สร้างแบรนด์ อาหารไทย สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนไปต่างแดน

จากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มีการผลักดันให้อาหารไทยก้าวไกลในระดับโลกด้วยคำขวัญที่ว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ผู้ประกอบการจะต้องใช้ความได้เปรียบจากความแข็งแกร่งมาต่อยอดการสร้างแบรนด์ของตัวเองและควรเรียนรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอาหารไทยอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญคือ มาตรฐานด้านรสชาติ คือ คงรสชาติดั้งเดิมไว้มากที่สุด ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นของไทยและปรับรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ แต่รสชาติต้องมีความใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด มาตรฐานด้านบรรจุภัณฑ์ ต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกับจุดยืนของผลิตภัณฑ์อาหาร ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีองค์ประกอบสำคัญอย่าง ชื่อ ตราสินค้า สัญลักษณ์ทางการค้า รายละเอียดกฎหมายข้อบังคับต่างๆ มาตรฐานทางด้านผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เช่น มาตรฐาน GMP, HACCP, Halal และ Codex การประสบความสำเร็จยังมีอีกหลายองค์ประกอบ เช่น ทั้งด้านการตลาด การจัดหาตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการบริหารจัดการ อย่างน้อยความเข้าใจใน 3 มาตรฐานจะช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นได้ดี เพียงแค่นี้ก็สามารถมีแบรนด์อาหารไทยที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้คนอาศัยในต่างแดนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็ตาม

ที่มา: https://www.smartsme.co.th/content/101451

ชำระเงินค่ำสินค้ำวิธีไหน เหมาะกับการค้ำไทยและ สปป.ลาว

เศรษฐกิจ สปป.ลาว ขยายตัวสูงเฉลี่ยกว่าร้อยละ 7 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีพลังในการบริโภคมากขึ้นและสินค้าไทยเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิมมากที่สุดเพราะชายแดนที่ติดกันมีการคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น และไทยครองอันดับหนึ่งจากการนำเข้าของสปป.ลาวมาตลอดและเกือบทั้งหมดเป็นการค้าผ่านชายแดน ซึ่งในปัจจุบันการชำระเงินซื้อขายสินค้ามีอยู่ 2 รูปแบบคือ 1.แบบไม่ผ่านระบบธนาคาร เช่น การใช้เงินสด จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทไทย ส่วนเงินกีบไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และการชำระเงินผ่านนายหน้า (โพยก๊วน) นิยมในแถบชายแดนเฉพาะกลุ่ม SME โดยผ่านคนกลางและค่าธรรมเนียมที่ไม่สูง 2.แบบผ่านธนาคาร เช่น การชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร ชาวสปป.ลาวสามารถข้ามมาเปิดบัญชีเงินบาทประเภทผู้ไม่มีถิ่นฐานในไทย และการชำระเงินเงินในรูปแบบการค้าระหว่างประเทศสากล ส่วนใหญ่จะเป็นการค้ามูลค่าสูง

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/newsCenter/49554.pdf

มีนาคม 2561