รัฐบาล สปป.ลาว กำหนด ‘แผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนน’
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม สปป.ลาว กล่าวถึงแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนด้วยการจัดสรรงบประมาณประจำปีในปัจจุบันสำหรับการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมถนนอยู่ที่ 700 ล้านกีบ หรือประมาณ 33,714 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวนเงินที่ครอบคลุมการซ่อมแซมทางหลวงและถนนระดับชาติประมาณ 6,500 กม. จาก 46,000 กม.ทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งใจกลางเมืองและชุมชนท้องถิ่น ตามการประเมินความสามารถด้านโลจิสติกส์ (LCA) พบว่า มีถนนเพียง 28% เท่านั้นที่มีสภาพดี ส่วนอีก 62% ของถนนใน สปป.ลาว จัดว่ามีสภาพย่ำแย่ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิคและเพิ่มจำนวนสถานีชั่งน้ำหนักทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 14 แห่งที่เปิดดำเนินการอยู่ สถานีเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุดตรวจควบคุมรถบรรทุกที่บรรทุกหนักเกิน เพื่อให้มั่นใจว่าปฏิบัติตามขีดจำกัดของน้ำหนักที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลให้คำมั่นที่จะสนับสนุนกองทุนซ่อมแซมถนนเพิ่มขึ้น แต่อาจเจอความท้าทายในการจัดสรรเงินทุน โดยชี้ไปที่ปัญหาทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ และการอ่อนค่าของเงินกีบลาว รวมถึงจำนวนถนนที่เพิ่มขึ้น
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/10/government-unveils-plan-to-revamp-road-infrastructure/
สปป.ลาว กำหนดเป้าหมาย ‘แผนพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ระยะ 5 ปี’
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว กล่าวในการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 6 ถึงข้อมูลการออกใบอนุญาตให้กับบริษัทขุดแร่หายาก จำนวน 15 บริษัทที่ถือใบอนุญาตแบบไม่เร่งด่วนสำหรับขั้นตอนการสำรวจ และอีกจำนวน 13 บริษัท มีใบอนุญาตสำหรับการดำเนินการขุด แต่ใน 13 บริษัท มีเพียง 3 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการขายแร่ปริมาณ 19,500 ตัน โดย 5,409 ตัน มีสิทธิ์ส่งออกไปยังจีนได้ นอกจากนี้ มีเพียง 4 ใน 15 บริษัท ที่ได้รับใบอนุญาตแบบไม่เร่งด่วนเท่านั้นที่เสร็จสิ้นการประเมินและสำรวจทรัพยากรเบื้องต้น เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ได้ร่างแผนงานที่ครอบคลุม โดยกำหนดเป้าหมาย 6 ประการสำหรับแผนพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงการสร้างข้อมูลทางธรณีวิทยาขั้นพื้นฐาน การกำหนดนโยบายแร่ การพัฒนากลไกการบริหาร การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของรัฐวิสาหกิจการพัฒนาแร่ และการบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียวเข้าไปในแผนฯ นอกจากนี้ กระทรวงกำลังพิจารณาที่จะรวมกฎหมายดังกล่าวเข้ากับกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2567
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/10/laos-sets-targets-in-5-year-energy-mines-development-plan/
‘สหรัฐอเมริกา’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามกลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่ายอดการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 550% จาก 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ขึ้นมาอยู่ที่ 123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับที่ 11 จาก 108 นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม และมีการลงทุน 1,200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กิจการรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจและต้องการลงทุนระยะยาวในเวียดนาม รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกับเวียดนามและร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-post1058710.vov
‘Fitch Ratings’ มองเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเชิงบวก
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ (Fitch Ratings) คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามปี 2567 ขยายตัวที่ 6.3% และ 7.0% ในปี 2568 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลางยังคงอยู่ในระดับที่ดีและคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากตัวเลขสถิติของสถาบันจัดอันดับ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ชะลอตัวลง 4.3% ท่ามกลางอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และยังส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
จ๊าด อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ ที่ประมาณ 3,300 จ๊าด ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ
จ๊าตอ่อนค่าลงเป็น 3,310 จ๊าด/ดอลลาร์ ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจาก 3,230 จ๊าด/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปัจจุบันธนาคารกลางเมียนมาร์กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงไว้ที่ 2,100 จ๊าด/ดอลลาร์ ธนาคารกลางเมียนมาร์ได้กำหนดขอบเขตความผันผวนของการซื้อ-ขายสกุลเงินจ๊าดไว้ที่ร้อยละ 0.3 สำหรับการทำธุรกรรมการขายหรือการซื้อมีผลมาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 โดยสถาบันการเงิน รวมถึงธนาคารและจุดแลกเปลี่ยนเงินนอกระบบได้รับคำสั่งให้กำหนดมูลค่าเงินดอลลาร์ที่ 2,094 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการซื้อ และ 2,106 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการขาย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พฤศจิกายนอัตราแลกเปลี่ยน จ๊าดต่อดอลลาร์ ที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์อยู่ที่ 3,270 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับการซื้อ และ 3,310 จ๊าด/ดอลลาร์ สำหรับขาย แม้ว่าราคาอ้างอิงของธนาคารกลางแห่งเมียนมาจะมีความแตกต่างอย่างมากกับอัตราตลาดที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งธนาคารกลางแห่งเมียนมาไม่สามารถกำหนดราคาใหม่ได้ ตามประกาศที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2566
เมียนมา และจีนลงนามข้อตกลงซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ
ตามการแถลงของสถานเอกอัครราชทูตจีนในเมียนมา การลงนามข้อตกลงระหว่างเมียนมาและจีนในการซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยคำแถลงระบุว่า กำลังการผลิตรวมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการของ Kyeon Kyeewa, Kinda และ Sedoktaya ในเขต Magway และ Mandalay ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Power China Resources Ltd. และกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของเมียนมา อยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับรองรับการพัฒนาของ ภูมิภาค ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพ ชื่นชมความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และหารือทัศนคติที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านไฟฟ้าจีน-เมียนมาต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาของทั้งสองประเทศ และดึงดูดความสนใจของประชาชนเมียนมามากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลข้อตกลงของการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 การพัฒนาการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างจีน-เมียนมา ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา “ความต้องการไฟฟ้า” ของเมียนมา และรองรับการก่อสร้าง ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
เมียนมา เอธิโอเปีย ร่วมมือกันภาคการค้า อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาระบุ เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอินเดียและเอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำอินเดีย ได้จัดการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเมียนมาและเอธิโอเปีย ในการพัฒนาภาคการค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร โดยมีการหารือกันเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สถานทูตเมียนมาในอินเดีย U Moe Kyaw Aung เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอินเดีย และ Mr. Demeke Atnafu Ambulo เอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำอินเดีย กล่าวถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความร่วมมือทางการเมืองและสถานการณ์การค้าระหว่างเมียนมาและเอธิโอเปีย ตลอดจนแนวโน้มความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาภาคเกษตรกรรม
ท่าอากาศยานนานาชาติ “เสียมราฐ-อังกอร์” พร้อมให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก
ท่าอากาศยานนานาชาติ เสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) พร้อมเปิดให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการมีจำนวนสายการบินที่ให้บริการภายในสนามบิน SAI จาก 7 สายการบิน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 สายการบิน ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังบรรลุข้อตกลงกับสายการบินต่างๆ รวมถึงในช่วงสิ้นปีถือเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก สำหรับจำนวนผู้โดยสารทางอากาศที่เดินทางผ่าน SAI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,200 คนต่อวัน จากจำนวน 2,600 คน ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา (SSCA) ขณะที่การรองรับเที่ยวบินสามารถรองรับได้สูงสุด 42 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 34 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว ซึ่งจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนและจีน ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) ว่า กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ราว 3.92 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 211 จาก 1.26 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501389376/more-airlines-set-to-operate-from-sai-airport/