การค้าชายแดนเกาะสองเกินดุลฯ ในเดือนเมษายน

ตามที่กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุ ในเดือนเมษายนของปีการเงินปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 การค้าชายแดนที่เกาะสอง มีการเกินดุลการค้ามากกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นช่วงที่การส่งออกมีมากกว่าการนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกเกาะสองมีมูลค่า 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.97 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าการค้า 22.69 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าประมงที่เกาะสองดำเนินการด้วยระบบขนส่งสินค้าบนเรือ (FOB) อย่างไรก็ดี การค้าชายแดนที่เกาะสองตลอดทั้งปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 234.386 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 193.75 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามูลค่า 40.63 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในปีงบประมาณก่อนหน้ามีการค้าเกินดุล 153.12 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สินค้าสำคัญที่เมียนมามีการส่งออก ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปลาหมึก ปูและปลา อวนจับปลา วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kawthoung-border-sees-trade-surplus-in-april/

การต่ออายุประกันชีวิตเติบโตกว่า 70% ในปี 2023

ภาคประกันภัยในกัมพูชาได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนการต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตในปี 2023 ด้วยการเติบโตมากกว่าร้อยละ 70 อันเนื่องมาจากประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำประกัน ขณะที่ภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมประกันภัยมีอัตราการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากธนาคารซึ่งเป็นพันธมิตรทางการขายที่สำคัญกำลังประสบปัญหาจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา โดยธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ร้อยละ 4.8 คิดเป็นมูลค่า 57.6 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2023 ส่งผลกระทบต่อยอดขายประกันภัย โดยเบี้ยประกันภัยรับรวมลดลงร้อยละ 0.5 ในปี 2023 เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตร้อยละ 14.9 ในปีก่อนหน้า ซึ่งการเติบโดยของภาคประกันภัยเกิดขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปลุกให้ชาวกัมพูชาตระหนักรู้ถึงความสำคัญของประภัยต่อการดำเนินชีวิตที่มากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพและชีวิตเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495794/life-insurance-renewals-up-over-70-in-2023/

กัมพูชาเรียกร้องผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเชื่อมตลาดโลก

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างอาลีบาบาของจีน เพื่อจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดโลก กล่าวโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในระหว่างการสัมมนา เรื่อง “ก้าวข้ามพรมแดน: นำสินค้ากัมพูชาสู่ตลาดโลกผ่านอาลีบาบา.คอม” ว่ากระทรวงฯ และกลุ่มอาลีบาบาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อจำหน่ายสินค้ากัมพูชาโดยตรงบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ของอาลีบาบา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทกัมพูชาประมาณ 10 แห่ง ได้นำสินค้าออกจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม อาทิเช่น พริกไทย แยมมะม่วง และรังนกนางแอ่น ขณะที่รายงานจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ามูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 6.94 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495945/cambodia-calls-on-entrepreneurs-to-use-e-commerce-platform-to-meet-global-market/

ADB Frontier ให้ทุนแก่เอกชนใน สปป.ลาว เพื่อขยายการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จ

LOCA ผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำของลาว ได้รับเงินทุนจำนวนมากจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ผ่านทาง ADB Frontier โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) การลงทุนนี้จะช่วยให้ LOCA สามารถขยายกลุ่มยานพาหนะไฟฟ้า (EV) และเครือข่ายการชาร์จ EV ทั่วประเทศ ด้วยเงินทุนนี้ LOCA พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในประเทศลาวต่อไป โดยสร้างมาตรฐานระดับสูงสำหรับโซลูชันการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/27/loca-secures-funding-from-adb-frontier-to-expand-electric-vehicles-fleet-charging-network/

สปป.ลาว ขยายเครือข่ายโทรคมนาคมเข้าถึงหมู่บ้านห่างไกล

สปป.ลาว ประสบความสำเร็จในการขยายระบบโทรคมนาคมด้วยการเพิ่มสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีความยาว 98,524 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศสามารถรับสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้มากขึ้น ด้วยจำนวนหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ 6,113,455 หมายเลข กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขนี้เป็น 6.5 ล้านหมายเลขในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ลงทะเบียนแล้ว 4,614,752 ราย ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายของกระทรวงที่ 4.7 ล้านบัญชี

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/22/laos-expands-telecommunications-network-reaching-remote-villages/

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกปี 67 ธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 98,800 ราย

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ มีจำนวนทั้งสิ้น 98,852 ราย เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2562-2566 ในขณะที่ตัวเลขที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวน 64,758 ราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 601.22 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 23.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.7%YoY

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวน 13,207 ราย และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 6,749 ราย ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 11,391 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านด่อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 92.2% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด

ที่มา : https://en.nhandan.vn/over-98800-enterprises-join-re-enter-market-in-five-months-post135919.html

ฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาคจะได้รับเงินกู้ 12 พันล้านจ๊าด เริ่มเดือนมิถุนายน

ตามที่กรมเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตวแพทย์เมืองเนปิดอว์ ระบุว่า จะมีการกู้ยืมเงิน 12,000 ล้านจ๊าด ให้กับฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาค รวมถึงกรุงเนปิดอว์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เขตสภาเนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค อิรวดี มะเกว ตะนาวศรี รัฐฉาน และรัฐมอญ กำลังวางแผนที่จะให้กู้ยืมเงินสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม การเลี้ยงไก่ไข่ และการเพาะพันธุ์แกะและแพะตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งรัฐ และจะมีการเสนอในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีการวางแผนการให้กู้ยืมแบบพิเศษสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนม มีระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมกำหนดไว้ที่ 3 ปี ในขณะที่ระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจโคเนื้อ ฟาร์มไก่ไข่ และธุรกิจฟาร์มแกะและแพะกำหนดไว้ที่ 2 ปี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/livestock-breeding-farms-in-9-states-and-regions-to-get-k12-billion-loans-starting-june/

ผู้ว่าธนาคารกลางเมียนมา เข้าพบเจ้าหน้าที่ธนาคารไทย

เช้าวานนี้ ณ ห้องประชุมธนาคารกลางแห่งเมียนมา สาขาย่างกุ้ง ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมา และเจ้าหน้าที่จากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ได้พบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติมของไทยในเมียนมา บริการธนาคารเงินตราต่างประเทศระหว่างเมียนมาและไทย โดยนโยบายของ CBM เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การส่งเงินการค้าและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ให้มีการปรับเปลี่ยนจากช่องทางที่ถูกกฎหมายแทนการใช้ช่องทางที่ผิดกฎหมาย การอำนวยความสะดวกในการส่งมอบค่าจ้างของแรงงานเมียนมาในประเทศไทยให้กับครอบครัว การลงทุนเพิ่มเติมจากไทยในเมียนมา การศึกษาและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางการเงินการดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินที่จะได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องให้การสนับสนุนทางการเงิน (การจัดหาเงินทุนเพื่อการส่งออกก่อนการจัดส่งและภายหลังการส่งสินค้า) เพื่อพัฒนาการค้าระหว่างไทยและเมียนมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกในการโอนเงินตราต่างประเทศระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-governor-meets-thai-banks-officials/