บริษัท “Long Grain” ขยายกำลังการผลิตข้าวสารในกัมพูชา

บริษัท ลองเกรน จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารชนิดพิเศษในกัมพูชาเปิดตัวโรงสีแห่งใหม่ โดยคาดว่าภายในปี 2040 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 33,000 ตัน เป็น 200,000 ตันต่อปี รวมถึงวางแผนที่จะขยายการผลิต สู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำนมข้าว เค้กข้าว เหล้าธัญพืช และน้ำมันรำข้าว ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดกัมปงสปือ บนพื้นที่ 68,809 ตารางเมตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การสีไปจนถึงการจัดจำหน่ายเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 9 ล้านดอลลาร์ สำหรับสายการผลิตข้าวสาร โดยบริษัทตั้งเป้าดันประเทศกัมพูชาให้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมข้าวระดับโลก ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชาเพาะปลูกข้าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ประมาณการณ์การผลิตข้าวของกัมพูชาไว้อยู่ที่ 10.2 ล้านตันต่อปี สำหรับในช่วงปี 2023-2024 โดยคาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 1.91 ล้านตัน สำหรับการประมาณการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกอาจจะสูงถึง 520.9 ล้านตัน ภายในปี 2023-2024 ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัทเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาภาคธุรกิจให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382174/cambodias-long-grain-co-unveils-rice-mill/

9 เดือนแรกของปี เขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ส่งออกสินค้าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

คาดปี 2023 เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 7.13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกผ่าน SSEZ อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา BRI สร้างโอกาสการพัฒนามากมายให้กับ SSEZ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก สำหรับ SSEZ มีองค์กรหรือบริษัทภายในเขตกว่า 175 แห่ง ในปัจจุบันครอบคลุมทั้งการผลิตฮาร์ดแวร์ไปจนถึงเสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง และวัสดุไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381926/ssez-conducts-2-5b-trade-in-nine-months/

‘GDP เวียดนาม’ ปี 67 โต 6.5% เหตุส่งออกฟื้นตัว

วินาแคปปิตอล กรุ๊ป (VinaCapital Group) บริษัทจัดการกองทุนเวียดนาม คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และได้ตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นไปในเชิงบวก จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่เป็นแรงผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า

ทั้งนี้ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงปลายปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจต่างๆ สั่งซื้อมากจนเกินไปในช่วงห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เนื่องจากโควิด-19 ในปี 2564 และความคาดหวังว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังวิกฤตโควิด แต่ว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ด้วยเหตุนี้ บริษัทสหรัฐฯ จึงต้องจัดการกับสินค้าคงคลังส่วนเกินตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังสิ้นสุดลงแล้ว แสดงให้เห็นว่ายอดคำสั่งซื้อและผลผลิตในเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-to-rebound-to-65-in-2024-vinacapital/270154.vnp

‘เวียดนาม-ไทย’ ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่าธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม และหวังว่าจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกฯเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลไทยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนชาวเวียดนามในไทย และรู้สึกยินดีกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามและไทย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40032235

สปป.ลาว หารือร่วมเวียดนาม หลังเข้าร่วมประชุม GCC ที่ซาอุดีอาระเบีย

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว หารือทวิภาคีร่วมกับ ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในวาระเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC Summit) ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะผลักดันการดำเนินการตามความตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เวียดนาม-ลาวในช่วงปี 2564-2573 ข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีลาวและเวียดนาม ในช่วงปี 2564-2566 และการลงนามข้อตกลงและแผนในด้านต่างๆ อีกทั้งได้ตกลงร่วมกันที่จะมุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคสำหรับโครงการความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาท่าเรือหวุงอังหมายเลข 1, 2 และ 3 รวมถึงโครงการที่เชื่อมต่อการจราจรทางถนนและทางรถไฟในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก เป็นต้น

ที่มา : https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=77599

UMFCCI และรัฐบาลฉงชิ่ง จับตาดูระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่

ดร. วิน ซี ทู รองประธาน สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) และนาย Zhao Yin ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นครฉงชิ่ง ประเทศจีน หารือประเด็นด้านการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเมียนมาร์ และจีน (ฉงชิ่ง) และความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมการค้าบนระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ในวันที่ 24 ตุลาคม ณ ห้องโถงของ UMFCCI โดยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่เป็นเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ที่สำคัญที่เชื่อมโยงจีน (ฉงชิ่ง) และอาเซียน โดยส่งเสริมการขนส่ง การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านั้น ที่ประชุมเน้นย้ำความร่วมมือกับเมียนมาในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งตามแนวระเบียงการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือสำหรับกิจกรรมการพัฒนาบนระเบียงการค้า การผลิต การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/umfcci-chongqing-govt-eye-trade-boost-on-new-land-sea-trade-corridor/

การส่งเสริมการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รัสเซีย-เมียนมา

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) ระบุว่า ได้รับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจจะระหว่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และเมียนมา ในภาคส่วนสินค้าประเภท ข้าวและถั่วพัลส์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย นาย Grigoriev Evgeny Dmitrievich และสมาชิกได้พบกับนักธุรกิจชาวเมียนมารจากภาคส่วนต่างๆที่สำนักงาน UMFCCI โดย Grigoriev Evgeny Dmitrievich กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้าว ถั่ว ข้าวโพด งา เฟอร์นิเจอร์ และการประมงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีสิทธิพิเศษสำหรับทั้งสองประเทศ รวมทั้ง ผู้ส่งออกจากภาคส่วนเหล่านี้ได้หารือถึงความยากลำบากที่พบในการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย ทั้งในเรื่องของระบบการชำระเงินสำหรับการส่งออกโดยตรงไปยังรัสเซีย และเงื่อนไขสำหรับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของรัสเซียที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนรัสเซียยังได้เชิญนักธุรกิจชาวเมียนมาร์มาลงทุน ที่เมืองท่าครอนชตัดท์ ซึ่งมีเทคโนโลยีล่าสุดในการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางทะเล การตรวจสอบสินค้านำเข้าและการคืนสินค้า ทำให้ประหยัดเวลา มีความราบรื่นของเส้นทางการขนส่ง และเทคโนโลยีล่าสุดในการขนถ่ายสินค้า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russia-myanmar-trade-and-economic-cooperation-to-be-promoted/