IMF คงการคาดการณ์ GDP เวียดนามไว้ที่ 4.7% ในปีนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของเวียดนามไว้ที่ร้อยละ 4.7 สำหรับในปี 2023 สำหรับระยะกลาง IMF คาดการณ์การเติบโตของ GDP เวียดนามไว้ที่ร้อยละ 5.8 และ 6.9 ในปี 2024 และ ปี 2025 ตามลำดับ ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของ IMF ด้าน Shanaka Peiris หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IMF กล่าวว่า มีสัญญาณมากมายของการฟื้นตัวในระบบเศรษฐกิจเวียดนาม ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการเติบโตในปีนี้ เนื่องด้วยเวียดนามกำลังเผชิญกับความยากลำบากสำหรับภาคการส่งออก อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน ภายใต้การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP เวียดนามในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.8 จากการประมาณการครั้งก่อนที่ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.5 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231019/cc8d98e2736a436c8f33b4fa6793c4bc/c.html

กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศ 3.7 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี

Sinn Chansereyvutha เลขาธิการแห่งรัฐ และปลัดกระทรวงการบินพลเรือนกัมพูชา รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางทางอากาศเกือบ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 162 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสายการบินระหว่างประเทศและภายในประเทศให้บริการเที่ยวบินมายังกัมพูชารวมทั้งสิ้น 37,200 เที่ยวบิน ในช่วงเวลาดังกล่าว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 103 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศกลับปรับตัวลดลงร้อยละ 6 หรือคิดเป็นปริมาณ 41,000 ตัน ด้านเลขาฯ กล่าวเสริมว่าปริมาณนักท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากทางการได้เปิดสนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ที่ลงทุนโดยจีน จะช่วยดึงดูดสายการบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศให้เข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501378854/cambodia-records-3-7-million-air-passengers-in-the-first-9-months/

CGCC ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อในกัมพูชามูลค่ารวมกว่า 149 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อประเทศกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มูลค่ารวมกว่า 149 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนกันยายน 2023 โดยค้ำประกันให้กับภาคธุรกิจไปแล้วกว่า 1,762 แห่ง ซึ่งยังเหลือยอดเงินค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการในช่วงปีงบประมาณอีก 111 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการค้ำประกันของ CGCC ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน (PFI) กว่า 27 แห่ง ในการสนับสนุนการค้ำประกันเงินกู้และปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ภาคธุรกิจ MSMEs มีเงินทุนในการขยายธุรกิจ ด้าน CGCC ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจในกัมพูชาเกิดการเติบโต ซึ่งก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงวิกฤตเงินเฟ้อที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501378625/cgcc-provides-149m-credit-support/

‘ฝรั่งเศส-ลาว’ เตรียมจัดประชุมเวทีเศรษฐกิจ ฉลองความสัมพันธ์ 70 ปี ทางการทูตและธุรกิจ

คณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศสในลาว เตรียมจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสและลาว ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่เวียงจันทน์และสะหวันนะเขต เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการ นักธุรกิจและนักลงทุนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศลาว โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดให้มีการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับตลาดการค้าของลาว โอกาสในการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน และเวทีการประชุมเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการทางธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในประเทศลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/19/france-laos-economic-forum-celebrates-70-years-of-diplomatic-business-ties/

รัฐบาล สปป.ลาว สั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ลดการเดินทางไปต่างประเทศ’ เพื่อคลี่คลายปัญหาเงินกีบอ่อนค่า

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดมาตรการเพื่อลดจำนวนความต้องการสกุลเงินต่างประเทศ หนึ่งในมาตรการ คือ ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ลดการเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินการตามวาระระดับชาติในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความท้าทายอีกประการของรัฐบาลลาว คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับที่สูง เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังสร้างความยากลำบากเพิ่มเติมในการลดความยากจนของประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20231019/fe96906a8c2b485997cd4e092ca24049/c.html

UMFCCI และ YPGCC หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยูนนาน-เมียนมาร์

เจ้าหน้าที่สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) เข้าพบคณะผู้แทน นำโดยประธานหอการค้าทั่วไปมณฑลยูนนาน (YPGCC) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจทวิภาคีและการยกระดับการค้า ด้านประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวว่า ยูนนานถือเป็นท่าเรือบกที่สำคัญในด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจกับเมียนมา และได้ขอให้ทางหอการค้ายูนนานช่วยเหลือเมียนมาในเรื่องของข้อบังคับและกฎระเบียบการนำเข้าของจีน รวมทั้งได้เชิญชวนให้ยูนนานลงทุนในภาคพลังงาน และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกิจกรรมส่งเสริมการค้า ด้าน ดร.เกา เฟิง ประธาน YPGCC กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเยือนเมียนมาครั้งนี้ เพื่อสร้างบันทึกความร่วมเมือ ที่ลงนามระหว่างยูนนานและเมียนมาร์ ในภาคพลังงานและเหมืองแร่ การบรรเทาภัยพิบัติ การท่องเที่ยว การบรรเทาความยากจน และยกระดับระเบียงเศรษฐกิจเมียนมาร์-จีน นอกจากนี้ การประชุมยังได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาการลงทุนแบบทวิภาคี การพัฒนาการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติ ธุรกิจท่าเรือ อุปทานสินค้าข้าวและปุ๋ย การส่งออกสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการค้าข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ดี ผู้แทนจากทั้งสองสภายังหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นและความคิดเห็นเกี่ยวกับภาคเหมืองแร่ เหล็กและเหล็กกล้า การขนส่ง อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม เภสัชกรรม อ้อย น้ำตาล ถั่วลิสง ผัก การประมง ผลิตภัณฑ์อาหาร การวิจัย และสารเคมีทางการเกษตร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/umfcci-ypgcc-to-bolster-yunnan-myanmar-economic-cooperation/