‘รถไฟจีน-ลาว’ มียอดผู้ใช้บริการทะลุ 81,000 คน
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประจำด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนานของจีน เผย 6 เดือนแรก มีผู้ใช้บริการรถไฟจีน-ลาวแล้วกว่า 81,000 คน ในที่นี้เป็นผู้โดยสารต่างชาติกว่า 15,000 คน จากกว่า 60 ประเทศ สะท้อนความสำคัญของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่เป็นตัวเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีราคาค่าโดยสารไม่แพงและมีความสะดวกสบาย อีกทั้งตั้งแต่กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ระยะเวลาเดินทางจากต้นทางที่ด่านโม่ฮานถึงสถานีปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์มีการปรับลดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 9 ชั่วโมง จากผลของการลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_202_China_y23.php
‘เวียดนาม’ จ่อขยายเวลาหั่น VAT จนถึง มิ.ย. สูญเสียรายได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัฐบาลเวียดนาม ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ามีแผนที่จะขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการผลิตภายในประเทศ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ซึ่งการขยายเวลาการลดภาษีดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงจาก 10% เป็น 8% มีผลตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2566
ทั้งนี้ การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และยังส่งผลกระทบต่องบประมาณรายรับของรัฐบาลที่ลดลง 25 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 1.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเวียดนาม ทรุดตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2050
คณะกรรมการกำกับดูแลของสมัชชาแห่งชาติ รายงานว่าแหล่งทรัพยากรพลังงานปฐมภูมิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกำลังจะหมดไป เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว รวมไปถึงปริมาณน้ำมันและก๊าซจากแหล่งพลังงานหลักลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จากรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือน ส.ค. มีการประเมินความสูญเสียของเวียดนาม พบว่าเวียดนามสูญเสียรายได้จากวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP
โดยผู้เชี่ยวชาญได้เตือนถึงการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือของประเทศ ทำให้จะไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่เกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าได้จนถึงปี 2050
ที่มา : https://www.retailnews.asia/power-shortage-in-vietnam-looms-until-2050/
นักเศรษฐศาสตร์ลาวแนะ ‘ต้องดึงเม็ดเงินต่างชาติ’ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบ
ศ.ภูเพชร เคียวภิลาวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เสนอแนะวิธีรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบและจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของลาวที่ตกต่ำจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยลาวจำเป็นต้องดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจะช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบไม่ให้อ่อนค่าลงไปกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ แก้ไขกฎระเบียบการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในลาว โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎระเบียบดังกล่าวมารองรับว่าชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลาวได้ หากแก้ไขได้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาได้อีกทางหนึ่ง
เมียนมามีรายได้จากมูลค่าการค้าต่างประเทศกว่า 16,551.306 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงระยะเวลามากกว่า 6 เดือนในปีงบประมาณ 2023-2024
จากวันที่ 1 เมษายน 2566 – 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเมียนมามีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,712.336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 7,838.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีดุลการค้าแบบขาดดุลอยู่ที่ 873.366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมามีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี สินค้าเพื่อการลงทุน วัตถุดิบเชิงพาณิชย์ สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (cut-make-package) โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของเมียนมาร์ตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy : NES) ปี 2020-2025 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ NES 2020-2025 ได้แก่ ภาคการผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและไฟฟ้า การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และอื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ BRI หนุนความร่วมมือ ‘อาเซียน-จีน’หลากหลาย
ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยแสดงทัศนะว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนเสริมสร้างความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนในด้านต่างๆ เช่น การค้าและการผลิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย และมีโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับจีนทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือด้านกำลังการผลิต
ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของจีนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในวงกว้าง ด้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น