‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวพุ่ง หลังอินเดียห้ามส่งออก

นายเยมินอ่อง ประธานสมาพันธ์ผู้ค้าข้าวเมียนมา เปิดเผยว่าผลผลิตข้าวหรืออุปทานข้าวทั่วโลกที่ตึงตัว มีส่วนช่วยการส่งออกข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวดีขึ้น และจะผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกข้าวของเมียนมาทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวในเดือน เม.ย.-ก.ค. อยู่ที่ราว 320,000 ตัน ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพสูงของข้าว แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า ทำให้ราคาข้าวของคู่แข่งในภูมิภาค อาทิเช่น ข้าวไทยและเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/trade/exports/insights/myanmar-eyes-surge-in-rice-exports-after-india-curbs-supply/articleshow/102758953.cms

รถไฟ ‘สปป.ลาว-จีน’ ส่งอานิสงส์ถึงไทย ดันส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากขึ้น

การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีนผ่านทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขยายตัวร้อยละ 365 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่สั้นลงและมีข้อได้เปรียบภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่ง Auramon Supthaweethum อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟช่วยลดเวลาขนส่งเหลือเพียงไม่ถึง 15 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน นั่นจึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่ไปตลาดจีน โดยการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน เริ่มดำเนินการในเดือน ธ.ค. 2021 โดยการขนส่งผ่านจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างหนองคาย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว มีมูลค่าถึง 55 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับมูลค่า 2.55 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ด้านอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย (DTN) ยังกล่าวด้วยว่า ผลไม้ไทยและการขนส่งอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เขตการค้าเสรีจีนและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังจีนโดยทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน มีมูลค่า 80.22 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2023 โดยร้อยละ 72 เป็นการส่งออกทุเรียนสด

ที่มา : https://english.news.cn/20230816/f02a7679d5aa4a56979b720370ac9d25/c.html

เติร์กเมนิสถานเตรียมเปิดเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา (MoT) รายงานว่า เติร์กเมนิสถานจะกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ที่จะมีการเชื่อมโยงเที่ยวบินตรงมายังเสียมราฐประเทศกัมพูชา ซึ่งคำยืนยันเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ส.ค.) กล่าวโดย Muhammetnyyaz Mashalov เอกอัครราชทูตเติร์กเมนิสถานประจำกัมพูชา ขณะที่เขาเข้าเยี่ยมคารวะ Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำถึงปัจจัยด้านสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาในกัมพูชา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงการบริการต้อนรับ และ ส่งเสริมการชำระเงินในระบบดิจิทัล สำหรับกัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5 ล้านคน ภายในปีนี้ ขณะเดียวกันกัมพูชาและเติร์กเมนิสถานกำลังเร่งดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในสองประเทศและมุ่งประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่างชาติในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501343430/turkmenistan-mulls-direct-flights-to-cambodia/

นักลงทุนเข้าลงทุนในกัมพูชาผ่าน Single Portal แตะ 8.33 พันล้านดอลลาร์

ธุรกิจมากกว่า 28,169 แห่ง เข้าจดทะเบียนในระบบธุรกิจออนไลน์ (Single Portal) ด้วยเงินลงทุนจดทะเบียนรวม 8.33 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ขณะที่ในแง่ของมูลค่าการลงทุนตามภาคส่วน ภาคการก่อสร้างมีการจดทะเบียนมากที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ 941 ล้านดอลลาร์ หลังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ไฟสแรกไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2020 และเฟสที่สองในวันที่ 15 ก.ย. 2021 โดยระยะที่สามเพิ่งเริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเน้นให้บริการออกใบอนุญาต ใบรับรอง ใบประกอบวิชาชีพ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จาก 12 กระทรวงและสถาบัน โดยการจัดตั้งระบบการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์มีส่วนช่วยในการลดขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501343475/single-portal-receives-8-33-billion-investment-capital/

‘จีน’ ตลาดส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของเวียดนาม

ตามรายงานของกรมศุลกากร ระบุว่าถึงแม้การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ทำมาจากมันสำปะหลังในเดือน ก.ค. จะยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ว่าจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีสัดส่วนทางการตลาด 93.61% ของการส่งออกมันสำปะหลังเวียดนามไปยังต่างประเทศ โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนาม มีมูลค่าอยู่ที่ 71.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 145.23 พันตัน เพิ่มขึ้น 9.8% และ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือน ก.ค. ปี 2565 พบว่าทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกมันสำปะหลัง ลดลง 24.2% และ 17.2% แสดงให้เห็นการหดตัวของการส่งออกที่ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/china-remains-largest-export-market-for-vietnamese-cassava-post1039390.vov

‘เวียดนาม’ เผยยอดขายรถยนต์ เดือน ก.ค. โตเล็กน้อย

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในเดือน ก.ค. มียอดขายรถยนต์ 24,687 คัน เพิ่มขึ้น 4% จากเดือนที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 23,800 คัน เพิ่มขึ้น 15% จากเดือนก่อน โดยยอดขายรถยนต์ที่จำหน่ายในเดือนที่แล้ว พบว่ายอดขายรถยนต์นั่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 19,221 คัน เพิ่มขึ้น 11% ตามมาด้วยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 5,318 คัน ลดลง 16% และรถยนต์เฉพาะกิจ 148 คัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) อย่างไรก็ดี ยอดขายของสมาชิกสมาคมฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณการขายรถยนต์ทุกประเภท อยู่ที่ 162,014 คัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์เฉพาะกิจ ลดลง 34%, 13% และ 63% ตามลำดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-automobile-sales-slightly-grow-in-july-post1039353.vov

‘ค้าชายแดนจีน-เมียนมา’ ช่วง 4 เดือน ยอดพุ่งเติบโต 60%

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตัวเลขการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าพุ่งสูงถึง 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 59.63% หรือราว 517.059 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เมียนมามีความเชื่อมโยงกับจีนผ่านด่านชายแดนสำคัญ ได้แก่ ด่านเมืองมูเซะ (Muse), ลวยเจ (Lweje), ชีงชเวห่อ (Chin Shwe Haw), กัมปะติ (Kampaiti) และ เชียงตุง (Kengtung) โดยเฉพาะด่านชายแดนมูเซะที่มีมูลค่าการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาชายแดนของเมียนมา-จีน อยู่ที่ 884,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศจีนและเมียนมาในปัจจุบันยังคงทำการค้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีรถบรรทุกขนส่งประมาณ 200 คันที่เข้าและออกจากเขตการค้ามูเซะ (Muse Trade Zone)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-surges-by-60-in-last-4-months/#article-title

กัมพูชา-สปป.ลาว ลงนาม MoU พัฒนาตลาดหลักทรัพย์

เจ้าหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา (SERC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ สปป.ลาว (LSCO) เพื่อร่วมมือในการควบคุมและพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในทั้งสองประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยกระดับความร่วมมือด้านกฎระเบียบในระดับทวิภาคี ผ่านการทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และการพัฒนาตลาด ด้าน Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ SERC กล่าวว่า MoU จะช่วยให้ SERC ให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว ในการลงทุนยังตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศ ในทำนองเดียวกันองค์กรทั้งสองประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการจะช่วยเหลือหากมีบริษัทใดในกัมพูชาหรือ สปป.ลาว ต้องการที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ข้ามประเทศระหว่างกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342653/cambodia-laos-ink-mou-for-securities-market-development/