ผู้เชี่ยวชาญเผยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชายังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

Craig Dodge ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของ Phare Circus กล่าวกับ Khmer Times ว่า ปัจจุบันยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมแก่การทุ่มเททรัพยากรไปกับการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทราบว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่จัดขึ้นภายในประเทศอย่างในเสียมราฐ พนมเปญ เมืองชายฝั่ง และเกาะต่างๆ โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าทางการควรเสริมการโปรโมทเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้เกิดการรับรู้ที่มากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่โดยไม่ทำการตลาดจะไม่เป็นผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงเทศกาลทะเลครั้งที่ 10 ณ จังหวัดเกาะกง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ได้เปิดเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่ 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 180 จากจำนวน 1.57 ล้านคนในช่วงปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501402448/kingdoms-tourism-potential-yet-to-be-fully-tapped-say-insiders/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นร้อยละ 26

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวมูลค่ารวม 6.45 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 จากมูลค่ารวม 5.1 พันล้านดอลลาร์ของช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกสินค้าส่งของกัมพูชาร้อยละ 33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิก RCEP กลับลดลงร้อยละ 7.6 เหลือมูลค่า 2.41 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับความตกลงการค้าเสรี RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิก 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501402454/cambodias-exports-to-rcep-countries-up-26-percent/

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ผู้ส่งออกเวียดนามควรเดินหน้าขยายไปยังกลุ่มประเทศยูเรเซีย

จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากร เปิดเผยว่าจากวิกฤตความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ยอดการค้าเวียดนามและยูเรเซีย มีมูลค่าสูงถึง 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ลดลง 9.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นาย Ta Hoang Linh ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดยุโรป-อเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าตลาดยูเรเซียยังคงมีศักยภาพอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามส่งออกไปยังตลาดนี้ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีการจัดตั้งหน่วยงานและจัดทำกรอบความร่วมมือทางการค้าต่างๆ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU), ตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) รวมถึงคณะกรรมการร่วม จำนวน 14 คณะ และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eurasia-a-promising-market-for-vietnamese-exporters-experts/272378.vnp

‘เวียดนาม’ เผยยอดส่งออกข้าวทำสถิติสูงสุดในรอบ 34 ปี

การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณส่งออกราว 7.8 ล้านตัน ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2534 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีนี้จะสูงถึง 8 ล้านตัน ทำรายได้ราว 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นายเหวียง เวินโด่น ผู้อำนวยการบริษัท เวียดฮุง กล่าวว่าความต้องการบริโภคข้าวในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและราคาส่งออกข้าวที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีราคาข้าวเวียดนามไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตขาดแคลน รวมไปถึงผู้ส่งออกข้าวเวียดนามกำลังรอฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ นอกจากนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 632 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งสูงกว่าช่วงกลางเดือนที่แล้วประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-rice-exports-hit-record-high-since-1989/272379.vnp

ลาวแอร์ไลน์และเวียตเจ็ท ยกระดับความร่วมมือพร้อมถ่ายทอดวิทยาการในธุรกิจการบิน

สายการบินลาวแอร์ไลน์ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับเวียตเจ็ท สายการบินราคาประหยัดชั้นนำของเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ เทคนิควิทยาการด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน การขยายธุรกิจครั้งนี้สัญญาว่าจะมีการยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติการของทั้งสองสายการบินให้สูงขึ้น และทำข้อตกลงสำหรับร่วมบริการผู้โดยสารแบบข้ามสายการบินให้มีความราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำหรือจัดการสัมภาระระหว่างการหยุดพักระหว่างทาง ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการใช้รหัสร่วมกันจะทำให้สายการบินสามารถให้บริการเที่ยวบินในนามของกันและกันได้ โดยใช้รหัสเที่ยวบินของสายการบินพันธมิตร ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไปตามสัญญาการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินที่ลงนามระหว่างสองสายการบินเมื่อดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเวียตเจ็ทมอบหมายให้สายการบินลาวซ่อมเครื่องบินถึง 17 ครั้ง

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/05/lao-airlines-vietjet-elevate-collaboration-in-passenger-comfort-technical-assistance/

แขวงไชยสมบูรณ์ สปป.ลาว ไฟเขียวพัฒนาการท่องเที่ยว

แขวงไชยสมบูรณ์ได้อนุญาตให้บริษัทท้องถิ่นสร้างสถานที่ท่องเที่ยวบนเนินเขาผากาใต้ ในเมืองอะนุวง โครงการมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 878 เฮกตาร์ ซึ่งรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว 150 เฮกตาร์ การพัฒนาด้านการเกษตร 471 เฮกตาร์ และพื้นที่อนุรักษ์ 257 เฮกตาร์ ภายใต้สัญญาสัมปทาน 50 ปี โดยบริษัทจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมในพื้นที่เทือกเขาสันภูหมอกและภูเขาภูตะกัน ในเขตหลงเฉิง ได้แก่ การก่อสร้างสวน บ้านจำลองของกลุ่มชาติพันธุ์ ถนนทางเข้า ร้านอาหาร จุดชมวิว สนามกีฬา ตลาดกลางคืน โรงพยาบาล ตลาดขายของที่ระลึก โรงแรมและที่จอดรถ นอกจากนี้ แขวงไชยสมบูรณ์ยังวางแผนที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งการสร้างจุดชมวิว จุดบริการ ที่จอดรถ ที่ตั้งแคมป์ และถนนทางเข้า

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_237Xaysomboun_23.php

เอกชน ลุ้นดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าได้ดัน GDP

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด โดยในช่วง 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง ร้อยละ 1.9 ซึ่งการส่งออกยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวก็ลดลงเหลือเพียง 4.3 หมื่นบาท จากที่เคยประมาณการ 4.55 หมื่นบาท และเศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว จากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง ร้อยละ 5 เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ ร้อยละ 2.8-3.3 และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้น้อยกว่า ร้อยละ 3 เนื่องจากต้องเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธปท.ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง โดยมีปัจจัยบวกสำหรับปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566 ทั้งนี้ หากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย ร้อยละ 1.0-1.5

ที่มา INN News : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_650643/

เมียนมาร์มีรายได้ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวในเดือนที่ผ่านมา

ในเดือนพฤศจิกายน เมียนมาร์มีรายได้ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกข้าว ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนหน้า ตามข้อมูลที่เผยแพร่จากสหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ ทั้งนี้ รายได้จากปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 119,526 ตันในเดือนตุลาคม และ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 175,990 ตันในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ โดยในปีงบประมาณนี้ มีการส่งออกข้าวจำนวน 759,673 ตันตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน สร้างรายได้ให้เมียนมาร์กว่า 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์คาดว่าจะส่งออกข้าวได้ 2 ล้านตันในปีการเงิน 2566-2567 นอกจากนี้ ข้อกำหนดใบอนุญาตก่อนหน้านี้ในการสต็อกข้าวส่งออกล่วงหน้า 100% ปรับลดลงเหลือ 50% ตามการระบุของสหพันธ์ข้าวเมียนมาร์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-us-90-million-from-rice-export-last-month/#article-title