‘นายกฯไทย-ลาว’ วางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดเปิดปี 67

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คณะผู้บริหาร กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) และกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งร่วมงาน ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ บก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3.65 พันล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2.50 พันล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1.15 พันล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 57% (ณ เดือนกันยายน 2565)

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_621791

นายกฯ ไทย-สปป.ลาว เตรียมวางศิลาฤกษ์สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2022 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเป็นประธานร่วมกับนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ด้านโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 นี้ เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในช่วงที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เยือนไทยเมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2022 โดยสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 5 นี้ มีความยาว 1.35 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 0.815 กิโลเมตร และฝั่ง สปป.ลาว 0.535 กิโลเมตร สะพานแห่งนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคระหว่าง ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม บนเส้นทางหมายเลข 8 (R8) เชื่อมต่อกับมณฑลกว่างสีของจีนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าสะพานแห่งนี้จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2024

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/economy/40021391

“เวียดนาม” ทุ่มเงินโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้ ระยะที่ 2 กว่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณราว 8.6 ล้านล้านดอง (259.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โครงการทางพิเศษ ระยะที่ 2 (2021-2025) สำหรับเส้นทางด่วนเหนือ-ใต้ของประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้ ระยะที่ 2 คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเงินมาจากงบประมาณของภาครัฐสำหรับแผนการลงทุนสาธารณะของปี 2564-2568 กว่า 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรเงินราว 47.2 ล้านล้านดอง (1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับกระทรวงคมนาคมสำหรับการลงทุนภาครัฐในระยะกลาง (2021-2025)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/nearly-360-million-usd-allocated-for-northsouth-expressway-projects-phase-2/239834.vnp

บริษัทท้องถิ่นของเมียนมา เข้าซื้อ Puma Energy ของ Trafigura เพื่อขยายธุรกิจพลังงานในประเทศ

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา Puma Energy บริษัทลูกในเมียนมาของ บริษัท Trafigura จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้านการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์หลักด้านเชื้อเพลิงการบินในเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อขายหุ้นหุ้น Puma Energy Asia Sun (PEAS) และ National Energy Puma Aviation Services (NEPAS) ในเมียนมาให้กับบริษัทเอกชนในท้องถิ่นเพื่อดำเนินการขายเชื้อเพลิงการบินในประเทศแทน โดย NEPASC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Puma Energy จากสิงคโปร์และ Myanmar Petrochemical Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ดำเนินธุรกิจเชื้อเพลิงเครื่องบินมาในประเทศ มาตั้งแต่ปี 2558

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/trafiguras-puma-energy-to-sell-myanmar-business-to-local-private-company/#article-title

ไทย-สปป.ลาว เดินหน้าเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมหารือกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่ง การค้าการลงทุนของสปป.ลาว เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยมี น.ส.จิรัสยา พีรานนท์ อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมร่วมกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมสำคัญที่ทั้งประเทศไทย และ สปป.ลาว เห็นชอบร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดย นายอนุทิน กล่าวชื่นชมรัฐบาล สปป.ลาว ต่อการเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว–จีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิง ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่าง สปป.ลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/182029

จังหวัดคำม่วน สปป.ลาว ยืนยันพร้อมจ่ายหนี้โครงการพัฒนาจังหวัด 478 พันล้านกีบภายใน 10 ปี

จากการประชุมสามัญครั้งที่ 3 ของสภาประชาชนจังหวัดคำม่วนของสปป.ลาว ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องระเบียบการชำระหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสีย จากแผนงานและการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งมุ่งเป้าการลงทุนเพื่อผลผลิต การลดหนี้ และลดการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น สำหรับปีนี้มีหนี้ที่ต้องชำระให้กับผู้รับเหมาโครงการที่เข้ามาดำเนินการในจังหวัดจำนวน 54 โครงการ รวม 53 พันล้านกีบแก่ผู้ดำเนินการโครงการพัฒนา 54 โครงการ ส่วนหนี้ค้างชำระรวมจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 478 พันล้าน คาดว่าจะสามารถชำระได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมางบประมาณได้ถูกนำไปใช้ในโครงการพัฒนาจังหวัดแต่กลับสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย ในขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารสำนักงานบางแห่งก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน โดยนาย เดชศักดา มณีคำ อธิบดีกรมการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่า โครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีความล่าช้า ควรมีการระงับและยุติลง

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/09/02/khammouane-expects-to-repay-lak-478-billion-debt-in-10-years/

ท่าเรือพนมเปญในกัมพูชายังคงเติบโตในช่วงครึ่งปีแรก

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา รายงานถึงรายรับในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการเติบโตของการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตรของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันท่าเรือได้รองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (TEU) จำนวน 250,000 ตู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยท่าเรือพนมเปญจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการดำเนินงานให้ทันสมัย เป็นไปตามมาตรฐานโลก รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับท่าเรือทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับปี 2021 ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) สร้างรายได้ประมาณ 12 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501137620/phnom-penh-autonomous-port-maintains-growth-in-h1/

“เวียดนาม” กระทรวงคมนาคมอนุมัติก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้

กระทรวงคมนาคมเวียดนาม (MoT) ได้อนุมัติโครงการย่อยจำนวน 12 โครงการที่อยู่ในโครงการขนาดใหญ่ที่จะก่อสร้างทางด่วนพิเศษเหนือ-ใต้ ปี 2564-2568 โดยโครงการย่อยดังกล่าวจะครอบคลุมระยะทาง 723.7 กม. ด้วยเม็ดเงินทุนรวมทั้งสิ้นราว 147 ล้านล้านดอง (6.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาอนุมัติแผนการลงทุนโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้ ในปี 2564-2568 เพื่อให้รัฐบาลเริ่มกระบวนการดำเนินงาน ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นเร่งทำงาน โดยมุ่งจัดการเรื่องพื้นที่กว่า 70% ให้กับผู้รับเหมาช่วงก่อนวันที่ 20 พ.ย. เพื่อให้การก่อสร้างเริ่มดำเนินการได้ก่อนสิ้นปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/transport-ministry-approves-northsouth-expressway-subprojects-in-20212025/234201.vnp

จีนรุกลงทุนสปป.ลาว 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของ สปป.ลาว กล่าวว่าจีนยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว ด้วยเม็ดเงินทุนสะสมประมาณ 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 833 โครงการ โดยการลงทุนของจีนดังกล่าวมีความหลากหลายสาขาธุรกิจและส่วนใหญ่เงินทุนเข้าไปยังธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่, รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ทั้งนี้ เงินลงทุนหลักที่มีจำนวนมากเข้าไปยังโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางด่วยเวียงจันทร์-วังเวียง, ทางรถไฟสายลาว-จีน, เขตพัฒนาไซเสดถา, เขตเศรษฐกิจบ้านบ่อหาน-บ่อเต็น. สายส่งไฟฟ้าแรงสูงและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten137_Chinese_y22.php

ออสเตรเลียหนุน สปป.ลาว ปรับปรุงการเชื่อมต่อการขนส่งและการค้า

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ นายพอล เคลลี เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสปป.ลาว และนายวิไลคำ โพธิ์สาละห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ได้ลงนามร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศระหว่างออสเตรเลีย-สปป.ลาว ด้วยเงินทุนสนับสนุนจากออสเตเลียมูลค่ากว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะดำเนินการผ่านโครงการ Partnerships for Infrastructure (P4I) ที่เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Regional Economic Corridor and Connectivity : SEARECC) ซึ่งสปป.ลาว เชื่อมั่นว่า SEARECC จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับสปป.ลาว ได้ โดยออสเตลียเชื่อมั่นว่าการปรับปรุงการเชื่อมต่อการขนส่ง การวางแผน และการค้าชายแดนจะช่วยเปลี่ยนให้สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่การเชื่อมโยงทางบก และเพิ่มโอกาสในการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/08/laos-to-bolster-sustainable-trade-diversify-value-chains-under-arise-plus-project/