จีนเข้าลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในกัมพูชา

บริษัท Dize Nong Ye Fazhan จำกัด ลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในจังหวัดกำปงจาม รวมถึงสร้างโรงงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์เมื่อสองปีก่อน ซึ่งสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 1,200 ตำแหน่ง โดยปัจจุบันสวนแห่งนี้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากกล้วยไปยังจีนปีละ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง 1 ตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนัก 20 ตัน แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกล้วยของกัมพูชามีความต้องการในตลาดจีนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันประชากรจีนบริโภคกล้วยอยู่ที่ 600 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501305728/600-hectare-banana-orchard-mirrors-chinas-

การขนส่งทางรถไฟ ดันส่งออกกล้วย สปป.ลาว ไปยังจีน

คาดเกษตรกรใช้เส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขนส่งกล้วยจาก สปป.ลาวไปยังจีน ซึ่งจะใช้เวลาอันสั้นเพื่อให้มั่นใจว่าผลไม้จะถึงปลายทางก่อนที่ผลผลิตจะสุกงอม โดยในอดีตการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรประสบปัญหาเนื่องจากใช้เวลานาน จากการขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังประเทศจีน ซึ่งสินค้าจำนวนมากเน่าเสียก่อนส่งมอบ โดยการเข้ามาของเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและป่าไม้กำลังเร่งสนับสนุนการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้นเพื่อลดความต้องการนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรชาวลาวสามารถขายพืชผลทางการเกษตรให้กับจีนได้มากขึ้น นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองในปี 2012

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Railway238.php

กัมพูชาวางแผนเพิ่มการส่งออกกล้วยไปยังเกาหลีมากขึ้น

นักธุรกิจกัมพูชาและเกาหลีใต้ ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกกล้วยสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ในปีนี้ หลังได้รับสัญญาณเชิงบวกจากตลาด โดยตัวแทนของสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลีและผู้ส่งออกในท้องถิ่น Longmate Agriculture ได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นทุนการขนส่ง การผลิต และการตลาด ก่อนที่จะตัดสินใจขยายการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลี ซึ่งตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง การส่งออกกล้วยสดของกัมพูชาไปยังจีนลดลงร้อยละ 13 มาอยู่ที่ 98,530 ตันในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กัมพูชาต้องเร่งหาตลาดแหล่งใหม่เพื่อรองรับกับผลผลิตกล้วยที่อาจจะมีแนวโน้มการส่งออกไปยังจีนที่ลดลง โดยตลาดเกาหลีถือเป็นตลาดในอนาคตที่น่าสนใจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501071993/cambodia-optimistic-about-banana-exports-to-korea/

กล้วยยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของสปป.ลาว

กล้วยสปป.ลาวยังคงทำรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดโดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดในปี 2563 สูงถึงเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีข้อจำกัดทางการค้าจากการแพร่ระบาด COVID-19 ตามข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของสปป.ลาวระบุว่ามูลค่าของกล้วยที่ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 227.4 ล้านดอลลาร์ ในแง่ของผลผลิตปริมาณกล้วยที่ปลูกเพื่อการส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา อย่างไรก็ตามจำนวนนักลงทุนและสวนกล้วยลดลงหลังจากที่รัฐบาลหยุดให้สัมปทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกใหม่และสิ้นสุดข้อตกลงกับ บริษัท ที่ละเมิดกฎระเบียบ ในปัจจุบันรัฐบาลพยายามทำให้เกษตรกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของสปป.ลาวเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดที่ยั่งยืนและสมดุลของการลงทุนกับสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.freshplaza.com/article/9303635/laos-bananas-remain-top-agricultural-export/

กล้วย ทำรายได้สูงสุดในการส่งออกสินค้าเกษตรของสปป.ลาว ไปยังจีน

ทางการสปป.ลาวยืนยันว่าปีนี้กล้วยยังคงทำรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรส่งออกไปยังประเทศจีน แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งห้ามปลูกกล้วยมากขึ้นก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าสปป.ลาวส่งออกกล้วยไปยังจีนเป็นมูลค่า 116 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ปีที่แล้วมีรายได้ราว 185.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนนักลงทุนและสวนกล้วยในประเทศจะลดลง หลังจากที่รัฐบาลบังคับใช้คำสั่งห้ามไม่ให้มีพื้นที่ปลูกใหม่และปิดบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ แต่มูลค่าการส่งออกกล้วยยังคงอยู่ในระดับสูง การค้าขายระหว่างสปป.ลาวและจีนในปีนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 แต่การส่งออกสินค้าโดยเฉพาะกล้วยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความร่วมมือและการเจรจาที่ดีระหว่างทางการสปป.ลาวและจีนยุทธศาสตร์การเกษตรปี 68 ระบุว่ากล้วยเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรอันดับต้น ๆ สร้างโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นเพื่อให้อยู่เหนือความยากจน แต่พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งทำร้ายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐบาลขาดการจัดการการจัดสรรที่ดินที่ไม่สมบูรณ์และการจดทะเบียนธุรกิจที่หละหลวม ด้วยเหตุนี้ผู้ค้าและนักลงทุนจึงได้รับการสนับสนุนให้ทำสัญญากับครอบครัวเกษตรกรรมเพื่อปลูกพืช แต่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการส่งเสริมการลงทุนการจัดการสารเคมีการคุ้มครองพืชการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/business/bananas-largest-slice-laos-export-pie-china

แขวงบ่อแก้วเพิกถอน 7 โครงการที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ

แขวงบ่อแก้วได้เพิกถอน 7 โครงการที่ไม่ได้มีการดำเนินการ เนื่องจากผู้ลงทุนละเมิดข้อตกลงที่ลงนามกับรัฐบาล เจ้าแขวงบ่อแก้วกล่าวว่าทางการกำลังตรวจสอบโครงการลงทุนทั่วแขวงที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพื่อพิจารณาว่ายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ สิ่งนี้กำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในแขวงบ่อแก้ว เนื่องจากแขวงสูญเสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับโครงการดังกล่าว รายงานหนังสือพิมพ์ Lao Phatthana กล่าวว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีสวนกล้วยเพียง 13 แห่งจาก 60 แห่งที่จดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เรียกร้องให้มีการทำเอกสาร เจ้าของสวนบางแห่งได้กลับบ้านเนื่องจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 และเจ้าหน้าที่ต้องรอให้กลับมาเพื่อดำเนินการจดทะเบียนให้เสร็จสิ้น ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกกล้วยในแขวงบ่อแก้วครอบคลุม 6,000 เฮกตาร์ลดลงจาก 11,000 เฮกตาร์เมื่อหลายปีก่อน เกษตรกรท้องถิ่นได้ปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่ที่เคยปลูกกล้วยและมีการขายผลผลิตในแขวงบ่อแก้วและแขวงใกล้เคียง

ที่มา :  http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Bokeo_149.php

กัมพูชาส่งออกกล้วยกว่า 1.4 แสนตัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020

กัมพูชาส่งออกกล้วยสดกว่า 140,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกกล้วยของกัมพูชา ซึ่งตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปีนี้มีรายได้ประมาณ 68 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกกล้วยสดไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันมีบริษัท 9 แห่ง ได้รับการรับรองให้มีสิทธิ์ส่งออกกล้วยไปยังตลาดจีนได้ โดยนอกจากจีนแล้วยังมีการส่งกล้วยสดไปยังสหภาพยุโรป เอเชียและโอเชียเนียอีกด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพมาตรฐานด้านสุขอนามัยเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเพื่อรักษาระดับการเติบโตของการส่งออกกล้วยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกกล้วยสดจำนวน 150,000 ตัน ไปยังต่างประเทศมีรายได้รวมจากการส่งออกอยู่ที่ 59 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50746833/cambodia-exports-140000-tons-of-banana-and-earns-68-million-in-first-half-of-the-year/

รายได้จากการส่งออกผลไม้ยังคงที่จากความต้องการกล้วยที่มีอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตผลไม้ดอกไม้และผักของเมียนมา รายได้จากการส่งออกผลไม้ของเมียนมาในปีงบประมาณปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าแม้จะมีการระบาด COVID-19 เนื่องจากความต้องการกล้วยคุณภาพดีที่เพิ่มขึ้นซึ่งสามารถชดเชยการส่งออกผลไม้อื่น ๆ เช่นแตงโมและแตงกวา ในความเป็นจริงหากไม่มมีการระบาดของ COVID-19 เมียนมาอาจมีรายได้จากการส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น ผลไม้ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังชายแดนจีน ก่อนที่ COVID-19 จะระบาด แตงโมและแตงกวาเป็นเป็นผักและผลไม้หลักในการส่งออกเพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสองสามเดือนแรกของปีเมียนมาส่งออกกล้วยที่ปลูกในท้องถิ่นแถบชายแดนจำนวน 75,000 ตันที่มีรายรับ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับ 70,000 ตันส่งออกทั้งปีที่แล้วจำนวน 290 ล้านดอลลาร์ รายรับจากการซื้อขายรวม ณ ชายแดนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-fruit-export-revenues-stable-due-strong-banana-demand.html

แม้มีข้อจำกัดการเพาะปลูก กล้วยยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสปป.ลาว

มูลค่าการส่งออกของกล้วยไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีนและไทยในปี 62 เพิ่มขึ้น 198 ล้านเหรียญสหรัฐเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตราการสั่งห้ามไม่ให้มีการเพาะปลูกเพิ่มเละยังมีการปิดโรงงานกว่า 90 บริษัทที่ลงทุนในสวนกล้วยครอบคลุม 26,177 เฮคเตอร์ทั่วประเทศลาวเนื่องจากการเพาะปลูกกล้วยของบริษัทบางส่วนมีการละเมิดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นมิตต่อระบบนิเวศโดยมีการใช้สารเคมี Paraquat และ DDTที่อาจส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ได้ ทำให้พืชดังกล่าวถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดและหากต้องการจะปลูกต้องมีการขออนุญาตจากภาครัฐก่อน อย่างไรก็ตามกล้วยก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสปป.ลาวเพราะมีมูลค่าเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้แก่สปป.ลาวนอกจากนี้ยังสร้างงานและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรอีกด้วย จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ผลผลิตลดลงและไม่มีนักลงทุนกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งทีมีมูลค่าสูง ในท้ายที่สุดหากมีข้อสรุปที่เหมาะสม กล้วยจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสปป.ลาวต่อไป

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/bananas-remain-large-slice-laos%E2%80%99-export-pie-114628