กสิกรไทยบุกเวียดนาม เล็งปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มีลูกค้า 1.2 ล้านราย ในปีหน้า

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าต่อสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 ทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมประกาศความมุ่งมั่นรุกตลาดเวียดนามเต็มตัว เอาใจลูกค้าทุกเซกเมนต์ด้วยบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย

ทั้งนี้ นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP และยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้า คาดว่าภายในปี 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงและเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588

ที่มา : https://pineapplenewsagency.com/th/c30880

“ธนาคารโลก” ชี้เวียดนามต้องการแรงงานมีทักษะ ขับเคลื่อนศก.รายได้ปานกลาง-สูง ปี 2578

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าเวียดนามต้องการแรงงานที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขับเคลื่อนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงงานที่ต่ำทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม แรงงานของเวียดนามจะต้องได้รับทักษะในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะที่หลากหลาย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ปี 2564-2573 มีเป้าหมายที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางด้านผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นแก่ประชาชน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-business-news-august-9-2047767.html

“ธนาคารโลก” คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 7.5%

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2022 ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ขยายตัว 7.5% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 6.7% สืบเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยืดหยุ่นและการฟื้นตัวของภาคบริการ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 5.2% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ต่อปี

ทั้งนี้ นางแคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลกสาขาเวียดนาม เผยว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของรายงานฉบับนี้จะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ คุณ Dorsati Madani ผู้ร่วมเขียน กล่าวว่าในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามค่อนข้างคงที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกภาคส่วนที่อยู่ในสถานการณ์ปกติ อย่างเรื่องผลกระทบต่อแรงงานและภาคครัวเรือนในช่วงวิกฤตินั้น ประมาณ 45% รายได้ลดลงในเดือนธ.ค. 64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลอดจนลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโรคที่ยังคงมีอยู่ในธุรกิจต่างๆ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/wb-forecasts-vietnams-economic-growth-at-75-in-2022-45747.html

“เวียดนาม” ผลผลิตอุตฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

S&P Global เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของเวียดนาม ยังคงสูงกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันในเดือนก.ค.65 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว แต่มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 51.2 จากระดับ 54.0 ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน แต่มีอัตราที่ชะลอตัวลงอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาและอุปทานที่เริ่มผ่อนคลายลงเมื่อต้นไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าภาคการผลิตของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยในเดือนก.ค. แต่กิจการต่างๆ ยังคงสามารถรักษาปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงผลผลิตและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1275686/viet-nam-s-manufacturing-output-continues-to-rise.html

“เวียดนาม” เตรียมยกเลิกกักกันนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูป เหตุจากโควิด-19

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการกักกันโควิด-19 สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทำการแปรรูปใหม่และส่งออก โดยมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 11 ก.ย. กระทรวงฯ จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร ลดจำนวนหมวดหมู่สินค้าที่ต้องกักกันโรคและใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งกระบวนการทางศุลกากร ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้ทำการแก้ไขข้อบังคับการกักกันโรค โดยระบุว่ารัฐบาลจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังต้องการให้ยกเลิกการกักกันโรค สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งได้รับการประเมินว่าไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคทางน้ำ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1275697/viet-nam-set-to-scrap-covid-quarantine-for-imported-processed-seafood.html

เกาหลีใต้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนาม

เมืองหลวงเกาหลีใต้ กรุงโซลและองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวโซล (STO) ได้จัดงานร่วมกันเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โปรโมทโครงการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนามให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองหัวเมือง โดยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำการท่องเที่ยวของกรุงโซลให้กับนักท่องเที่ยวเวียดนาม หลังการระบาดระลอกที่ 4 ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว และเตรียมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/south-korea-seeks-to-attract-vietnamese-tourists/

ครึ่งปี 65 สหรัฐฯ เร่งนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนาม

ตามตัวเลขทางสถิติ เปิดเผยว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวอยู่ที่ระดับประมาณ 4.19 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 20.5% และ 9% ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในด้านการส่งออกข้าว แต่สินค้าเวียดนามยังคงได้รับความนิยมในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าข้าวเวียดนาม พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าข้าวเวียดนามมากที่สุด เพิ่มขึ้น 63.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รองลงมาฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 44.5% ของส่วนแบ่งตลาดรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-increases-rice-imports-from-vietnamese-market-in-first-half-post961046.vov