เมียนมาคาด การปรับนโยบายใหม่ จะไม่กระทบการส่งออกข้าวโพด

นายอู มิน แค ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า นโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวโพดของเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกข้าวโพดของประเทศ โดยรายการสินค้าส่งออก ได้แก่ ข้าวโพด แป้ง ป๊อปคอร์น เมล็ดพืช แป้งข้าวโพด เมล็ดธัญพืช ข้าวฟ่าง อาหารเม็ด บัควีต (Buckwheat) และเมล็ดข้าวสำหรับเลี้ยงนก จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกโดยการยื่น Form-D (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงภายในประเทศ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ราคา FOB อยู่ที่ 320-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวโพดในตลาดย่างกุ้ง ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.3 ล้านตัน ตลาดหลักคือไทย ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/30-march-2022/#article-title

กัมพูชาทำลายสถิติส่งออกยางมูลค่าแตะ 77 ล้านดอลลาร์

ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 กัมพูชาส่งออกยางและไม้ยางพารามูลค่าสูงกว่า 77 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมยางพารา ในด้านปริมาณการส่งออก ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 กัมพูชาส่งออกยาง 48,509 ตัน เพิ่มขึ้น 2,536 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไม้ยางพารามีปริมาณรวมอยู่ที่ 808 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 66 ซึ่งราคาขายยางเฉลี่ย ณ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 1,585 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2021 กัมพูชาทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมากกว่า 611 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นปริมาณกว่า 366,300 ตัน และไม้ยางพารา 454 ลูกบาศก์เมตร

ที่มา :  https://www.khmertimeskh.com/501047046/cambodia-records-more-than-77-million-from-rubber-rubber-wood-exports/

ต้นทุนขนส่งจุดเปลี่ยนส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 4% เนื่องจากมองเห็นปัจจัย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจึงต้องกำหนดตัวเลขด้วยความระมัดระวัง แต่ล่าสุดปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นปัจจัยหลักกดดันการส่งออกของประเทศ เพราะถึงแม้ว่าการส่งออกโดยตรงระหว่างไทยรัสเซียและยูเครนจะมีตัวเลขไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องยอมรับว่าหนัก ปิดท่าเรือสำคัญ 2 แห่ง การขนถ่ายสินค้าล่าช้า ราคาน้ำมัน,ค่าระวางเรือพุ่งขึ้นไม่หยุด

ที่มา : https://www.innnews.co.th/video/general-news-clips/news_310036/

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 64-65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พุ่งขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำนักงานสถิติ กระทรวงการวางแผนและการเงินของเมียนมา เผย การส่งออกเสื้อผ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีงบประมาณก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การส่งออกของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 889.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557

โดยสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในกลุ่ม CMP (Cut–Make-Pack) ในบรรดาสินค้าส่งออกจะพบว่า เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าใน 5 ปี ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตมากที่สุดในภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งเมียนมาจะใช้กระบวนการแบบรับจ้างผลิต ในการตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (CMP) โดยนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศและนำมาตัดเย็บภายในประเทศ

ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา เผยสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามมาด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/227890

กัมพูชาคาด RCEP ดันการส่งออกและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยกัมพูชาคาดว่าการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าจะส่งผลทำให้การส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 และการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ซึ่งข้อตกลงการค้าได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยจะทำการยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ได้ทำการซื้อขายระหว่างผู้ลงนามในอีก 20 ปีข้างหน้ามากถึงร้อยละ 90

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501044513/cambodia-sees-gains-begin-flowing-from-rcep-agreement/

คาด RCEP กระตุ้นส่งออกกัมพูชาร้อยละ 9-18 ต่อปี

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาคการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 9.4-18 ต่อปี จากการเข้าเป็นสมาชิกภายใต้ข้อตกลง RCEP ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจากที่เคยเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.8 กล่าวโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมกลุ่มประชากรประมาณร้อยละ 30 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041189/rcep-set-to-boost-cambodia-exports-by-9-18-yearly/

กัมพูชารั้งอันดับ 3 ด้านการส่งออก ภายใต้ RCEP

กัมพูชารั้งอันดับ 3 ในด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการส่งออกภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค (RCEP) รายงานโดยธนาคารโลก ซึ่งพิจารณาจากสถานการณ์ทางด้านภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และต้นทุนการค้า โดย สปป.ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซียได้รับประโยชน์สูงสุด ในแง่ของการเติบโตของการส่งออก รายงานระบุว่ากัมพูชาคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ซึ่งเวียดนามคาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 11.4 และญี่ปุ่นที่ร้อยละ 8.9 โดยปัจจุบัน RCEP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ผนวกกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกันกว่าร้อยละ 30 ของโลก ครองสัดส่วน GDP ถึงร้อยละ 30 ของโลก

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501032201/cambodia-ranks-3rd-in-real-income-gains-export-growth-under-rcep-trade-pact-world-bank/

สรท.มั่นใจส่งออก Q1/65 โต 5% แม้ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มั่นใจภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 5% และคงคาดการณ์ภาวะการส่งออกทั้งปี 65 โต 5-8% จากปี 64 ที่มีมูลค่า 271,314 ล้านดอลลาร์

ขณะที่มีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1) ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติและถ่านหินน้ำมัน ในยุโรปและของโลกเพิ่มสูงขึ้น

2) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว

3) ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ

4) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

5) หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ (เฉพาะผู้ที่เดินทางในประเทศและมาจากออสเตรเลีย) ขณะที่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เหลืออยู่

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2022/171990

ค้าข้ามแดน “ไทย-กัมพูชา” โตร้อยละ 16.63 สู่มูลค่า 1.449 แสนล้านบาท

การค้าข้ามพรมแดนในปี 2021 ระหว่างไทยและกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 16.63 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.449 แสนล้านบาท รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการค้าข้ามพรมแดนของไทยเติบโตถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปี 2022 ไทยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ร้อยละ 5-7 ด้านการค้ารวมในปี 2021 ของไทยแตะ 1.71 ล้านล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 คิดเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 คิดเป็นมูลค่า 684 พันล้านบาท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501020980/cross-border-trade-with-cambodia-jumps-16-63-percent-to-144-9-billion-baht-in-2021/

ธนาคารโลกแนะกัมพูชา สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก (WB) แนะกัมพูชาเพิ่มผลิตภาพภายในประเทศ พัฒนาศักยภาพพนักงาน และกระจายตลาดส่งออก รวมถึงส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เป็นสำคัญ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลิตภาพแรงงานของกัมพูชาค่อนข้างต่ำเนื่องจากขาดการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางธนาคารโลกเน้นย้ำถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ ด้วยการสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในด้านของการส่งออกธนาคารโลกได้แนะนำให้กระจายตลาดการส่งออกให้เกิดความหลากหลาย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าด้านการท่องเที่ยว คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดสำคัญมีเพียงสองแห่ง คือสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา คิดเป็นกว่าร้อยละ 69 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการยกระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แนะให้กัมพูชาสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์การเกษตร และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคบริการ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิตที่มีประสิทธิผลมากที่สุด และสร้างการเข้าถึงทางด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501016942/world-bank-gives-key-recommendations-for-cambodias-economic-recovery/