7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกยางขยายตัว 3% มูลค่าแตะ 228.5 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางแห้งในช่วง 7 เดือนแรกของปีจำนวนรวมกว่า 170,968 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 228.5 ล้านดอลลาร์ โดยราคายางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,337 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาในช่วงช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 244 ดอลลาร์ ต่อตัน สำหรับผู้นำเข้ารายสำคัญยังคงเป็นกลุ่มประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันในประเทศกัมพูชาได้มีการเพาะปลูกต้นยางในพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ โดยมีต้นยางที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 315,332 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่เพาะปลูก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352255/cambodias-rubber-exports-up-3-pct-in-first-7-months-to-earn-2285-million/

เกาหลีใต้จ่อส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมมายังกัมพูชา

กระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวรายงานว่าเกาหลีใต้ประกาศส่งออก “ฮันวู” ซึ่งเป็นเนื้อวัวเกรดพรีเมียมของเกาหลีมายังกัมพูชา ผ่านการลงนามในสัญญาฉบับแรกร่วมกัน เพื่อกระตุ้นการส่งออกเนื้อวัวของเกาหลีใต้ที่จะส่งออกมายังกัมพูชา โดยเกาหลีใต้กำลังมองหาการส่งออกเนื้อวัวพรีเมียมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่ารวมถึง 100 ล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเนื้อประเภทดังกล่าวได้รับการรับรองฮาลาลที่เป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ได้จัดการประชุมกับคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ส.ค.) เพื่อหารือถึงแนวทางที่จะขยายความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี โดยทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องที่จะพยายามร่วมกันขยายการค้าในภาคเกษตรกรรมและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องร่วมกันในระยะถัดไป ขณะที่การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เป็น 164.7 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ จาก 135.5 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501351239/south-korea-to-export-premium-beef-to-cambodia/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียโตกว่าร้อยละ 43

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่ารวมกว่า 140.93 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่การส่งออกไปยังจีนของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 20.6 และไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.3 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียลดลงร้อยละ 18.1 ที่มูลค่า 127.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียที่มูลค่า 13.36 ล้านดอลลาร์ ด้าน Pan Sorasak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกไปยังอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากโครงการปลอดภาษี (Duty-Free Tariff Preference: DFTP) ที่ได้เปิดตัวเมื่อปี 2018

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501348223/cambodias-exports-to-india-rise-by-43/

ปลัดพาณิชย์ เผยส่งออกไทยทรุด ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 764,444 ล้านบาท หดตัว 6.2% ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่งผลให้การส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 5.5% เป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องชะลอลงอย่างมาก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาค และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว อีกทั้งจีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฟื้นตัวช้าลง จากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัว เพราะขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 9.6% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แปรรูป เป็นต้น มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 3.4% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม
ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/morning/363399

‘เมียนมา’ ส่งออกแร่ โกยรายได้ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือน (เม.ย.-ส.ค.) เมียนมาส่งออกแร่ไปยังต่างประเทศ ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 121,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าแร่ส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ทองคำ หยก ไข่มุก เพชร ตะกั่ว ดีบุก ทังสเตน เงิน ทองแดง สังกะสี ถ่านหิน และแร่อื่นๆ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าเมียนมาทำรายได้จากการส่งออกแร่ไปยังต่างประเทศ มูลค่ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ธ.ค. ของปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-gains-over-us120-mln-from-mineral-exports/#article-title

ส่งออกเดี้ยงศก.แย่ สศช.หั่นจีดีพีทั้งปีเหลือ2.5-3%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีช่วงไตรมาส 2/2566 มีอัตราการเติบโต 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ 0.2% ค่อนข้างต่ำกว่าคาดการณ์ จากสาเหตุภาคส่งออกติดลบ 5.7% เป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ติดลบ 3.3% รวมถึงการอุปโภค-บริโภคของภาครัฐ ติดลบ 4.3% โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัว 2.2% หลักๆ มาจากรายได้ภาคท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.naewna.com/business/751534

ครึ่งปีแรกกัมพูชาส่งออกสินค้าผ่าน SEZs พุ่ง 1.39 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) สูงถึง 1.39 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตามการรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสิ้น 24 แห่ง สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณกว่า 175,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ของโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเสริมว่าการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นผลมาจากความหลากหลายของการส่งออกที่กระจายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาปี 2015-2025 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยี

ขณะที่ CDC ได้สรุปร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศโดยให้สิ่งจูงใจ เพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม สำหรับการส่งออกของกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีรวม 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346089/exports-through-sezs-up-by-1-39-billion-in-h1/

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวพุ่ง หลังอินเดียห้ามส่งออก

นายเยมินอ่อง ประธานสมาพันธ์ผู้ค้าข้าวเมียนมา เปิดเผยว่าผลผลิตข้าวหรืออุปทานข้าวทั่วโลกที่ตึงตัว มีส่วนช่วยการส่งออกข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวดีขึ้น และจะผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกข้าวของเมียนมาทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวในเดือน เม.ย.-ก.ค. อยู่ที่ราว 320,000 ตัน ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพสูงของข้าว แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า ทำให้ราคาข้าวของคู่แข่งในภูมิภาค อาทิเช่น ข้าวไทยและเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/trade/exports/insights/myanmar-eyes-surge-in-rice-exports-after-india-curbs-supply/articleshow/102758953.cms

รถไฟ ‘สปป.ลาว-จีน’ ส่งอานิสงส์ถึงไทย ดันส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากขึ้น

การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีนผ่านทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขยายตัวร้อยละ 365 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่สั้นลงและมีข้อได้เปรียบภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่ง Auramon Supthaweethum อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟช่วยลดเวลาขนส่งเหลือเพียงไม่ถึง 15 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน นั่นจึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่ไปตลาดจีน โดยการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน เริ่มดำเนินการในเดือน ธ.ค. 2021 โดยการขนส่งผ่านจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างหนองคาย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว มีมูลค่าถึง 55 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับมูลค่า 2.55 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ด้านอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย (DTN) ยังกล่าวด้วยว่า ผลไม้ไทยและการขนส่งอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เขตการค้าเสรีจีนและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังจีนโดยทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน มีมูลค่า 80.22 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2023 โดยร้อยละ 72 เป็นการส่งออกทุเรียนสด

ที่มา : https://english.news.cn/20230816/f02a7679d5aa4a56979b720370ac9d25/c.html

‘จีน’ ตลาดส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของเวียดนาม

ตามรายงานของกรมศุลกากร ระบุว่าถึงแม้การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ทำมาจากมันสำปะหลังในเดือน ก.ค. จะยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ว่าจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีสัดส่วนทางการตลาด 93.61% ของการส่งออกมันสำปะหลังเวียดนามไปยังต่างประเทศ โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนาม มีมูลค่าอยู่ที่ 71.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 145.23 พันตัน เพิ่มขึ้น 9.8% และ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือน ก.ค. ปี 2565 พบว่าทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกมันสำปะหลัง ลดลง 24.2% และ 17.2% แสดงให้เห็นการหดตัวของการส่งออกที่ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/china-remains-largest-export-market-for-vietnamese-cassava-post1039390.vov