ธนาคาร SME กัมพูชา ขยายวงเงินโครงการปล่อยกู้ครั้งที่ 2

ธนาคาร SME ได้เพิ่มวงเงินการปล่อยกู้มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ ในโครงการ SCFS II ทำให้กรอบวงเงินปล่อยกู้ขยายขึ้นเป็น 140 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา โดยธนาคารกล่าวในแถลงการณ์ว่างบประมาณเพิ่มเติมสำหรับ SCFS II คือการตอบสนองต่อความต้องการสินเชื่อของ SMEs ภายในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการทางด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยรัฐบาลกัมพูชา SME Bank of Cambodia จึงร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) ในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 40 ล้านดอลลาร์ สำหรับ SME Co-financing Scheme II (SCFS II) ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ SMEs รวม 790 ราย โดยคิดเป็นเงินกู้ยืม 99.8 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983845/sme-co-financing-scheme-iis-budget-increased-to-140-million/

FTAs-RCEP ผลักดันกัมพูชาผลิตสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น

รัฐบาลกัมพูชาได้สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจผู้ผลิตทำการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศกัมพูชาได้เปิดตลาดส่งออกกว้างขึ้น หลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้กล่าวในพิธีเปิดถนนแห่งชาติหมายเลข 7 ว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2022 ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชาต่อไป สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีน กัมพูชาสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 340 ชนิด โดยร้อยละ 95 ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกยกเว้นการเก็บภาษี ส่วนความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้รับการลงนามระหว่าง 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนการค้าเสรีอีก 5 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่ง RCEP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมประมาณ 2.2 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรโลก และครอบคลุมปริมาณการค้าถึงร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983649/ftas-rcep-pushing-cambodia-into-producing-more-products-for-exports/

ท่าเรือสีหนุวิลล์ วางแผนขยายท่าเรือ ดึงดูดการลงทุนในกัมพูชา

ทางการกัมพูชาวางแผนขยายท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดพระสีหนุ ในช่วงปี 2022 เพื่อลดต้นทุนการขนส่งทางทะเล และถือเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งแผนดังกล่าวเปิดเผยโดยผู้อำนวยการท่าเรือสีหนุวิลล์ โดยในปัจจุบันท่าเรือสีหนุวิลล์สามารถรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณร้อยละ 18-19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการขยายท่าเรือเฟสแรกกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 350 เมตร และลึก 14.5 เมตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2022 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 ส่งผลทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าได้ประมาณร้อยละ 93 ของปริมาณการเดินเรือในภูมิภาค โดยการขยายท่าเรือจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางทะเลได้อย่างมาก และในที่สุดจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังกัมพูชา โดยเฉพาะที่จังหวัดพระสีหนุ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50982631/sihanoukvilles-sea-port-expansion-in-pipeline-to-contribute-to-cost-cuts-in-shipping-and-attract-investments/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะ 1.4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1,487 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม กัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 447 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กัมพูชาเกินดุลการค้าระหว่างญี่ปุ่นที่ 1,010 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่นของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก เป็นสำคัญ โดยกัมพูชามองว่าญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ รวมถึงในระยะถัดไปกัมพูชาและญี่ปุ่นวางแผนที่จะเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983025/cambodias-exports-to-japan-net-1-4-billion/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรรวม มูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวม 4.4 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ โดยสิ่งนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าภาคเกษตรกรรมจะยังคงเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจกัมพูชาในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตัวเลขจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวม 7.1 ล้านตัน ถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 68 แห่งทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้คิดเป็นการส่งออกข้าวสารรวม 532,179 ตัน ลดลงร้อยละ 11.46 เมื่อเทียบปีต่อปี มูลค่ารวม 454 ล้านดอลลาร์ ส่วนข้าวเปลือกส่งออกไปทั้งสิ้นจำนวน 3.1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนพฤศจิกายนปีนี้ มูลค่าการส่งออกรวม 546 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้านอกภาคเกษตรมีมูลค่ารวม 2.990 พันล้านดอลลาร์ ปริมาณ 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.47 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50980853/cambodia-nets-4-4-billion-from-agricultural-exports/

รมว.ท่องเที่ยวกัมพูชา คาด ‘พระสีหนุ’ จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้น

รมว.ท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวว่า ทางการคาดหวังให้นักท่องเที่ยวมาเยือนพระสีหนุเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศกัมพูชาได้กลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับให้ท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบกำหนด สามารถเดินทางมายังกัมพูชาได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของจังหวัด และการเตรียมการทางด้านมาตรการป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะถัดไปในอนาคตกัมพูชาคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเริ่มกลับมาภายในไม่ช้า โดยรัฐมนตรีกล่าวว่าภายหลังจากความสำเร็จของอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชารายงานถึงจำนวนเที่ยวบินที่เดินเข้า-ออกกัมพูชา ต่อวันทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 28 เที่ยวบินต่อวัน รวมทั้งที่สนามบิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/981144/ministry-of-tourism-expects-more-visitors-in-preah-sihanouk/

กัมพูชา สปป.ลาว ให้คำมั่นหนุนภาคพลังงาน

กัมพูชาและสปป.ลาวตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในภาคพลังงาน เนื่องจากกัมพูชานำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาวในปัจจุบัน ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่ Suy Sem และ Daovong Phonekeo ถ้อยแถลงของกระทรวงกล่าวว่าในการประชุม ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายความร่วมมือในภาคพลังงาน ทั้งกรอบทางเทคนิคและเชิงพาณิชย์ และแลกเปลี่ยนการศึกษาสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของทั้งสองประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงและภาคกลางตอนล่าง 2 ในอนาคต แก้ว รัตนนัค อธิบดีการไฟฟ้าของกัมพูชา (EDC) ระบุว่า ไฟฟ้าที่นำเข้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของลาวมีส่วนทำให้พลังงานหมุนเวียนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามในปี 2562 กัมพูชาซื้อไฟฟ้า 2,400 mW จากสปป.ลาว โดยระยะแรกเริ่มในปี 2567 ตามด้วยระยะที่สอง ระยะที่สาม และระยะที่สี่ในปี 2568, 2569 และ 2570 ตามลำดับ ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยผลักดันภาคพลังงานของสองประเทศให้เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้นและมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคเศรษฐกิจโดยรวม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50980061/cambodia-laos-pledge-to-boost-energy-sector/

กัมพูชาเรียกร้องอินโดนีเซียเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน

กัมพูชาได้เรียกร้องให้อินโดนีเซียดำเนินการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศกับกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามกำหนดแล้ว โดย Sok Sangvar ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าวในงาน Famtrip ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่ดีระหว่างสองประเทศในด้านการเจรจาต่อรอง การค้า การท่องเที่ยว และอื่นๆ ในหัวข้อ “Exploring the Land of Sunda” ที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญ โดยในเดือนมิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา Citlink ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสายการบินได้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างจาการ์ตาและพนมเปญ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่เที่ยวบินดังกล่าวถูกระงับไปในเดือนเมษายน 2020 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยด้านน้ำหนักบรรทุก โดยเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียให้คำมั่นที่จะผสานกับทางการอินโดนีเซียในการติดต่อขอเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศให้กลับมาให้บริการอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50980346/cambodia-urges-indonesia-to-resume-direct-flights/