ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ 3 ปัจจัยที่ผลักดันให้เวียดนามได้รับกระแสไหลเข้า ‘FDI’

คุณ Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กร VinaCapital กล่าวว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ดีและการขยายตัวของการลงทุนในต่างประเทศ เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปัจจัยแรก ค่าจ้างแรงงานจากโรงงานในเวียดนามที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานในจีน ประมาณ 2-3 เท่า แต่คุณภาพของแรงงานเทียบเท่าได้ ปัจจัยที่ 2 คือเวียดนามมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

อีกทั้ง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องลงทุนในต่างประเทศและเวียดนามถือเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่ 3 บริษัทข้ามชาติวางแผนที่จะกระจายการผลิตออกจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้งหมดในข้างต้นจะอธิบายว่าสาเหตุที่มีเงินทุน FDI ไหลเข้ามายังเวียดนาม แต่เวียดนามยังต้องช่วยกันขับเคลื่อนปัจจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/economy/item/11042402-expert-highlights-three-factors-helping-vietnam-secure-fdi-inflows.html

เงินต่างประเทศทะลักเข้า ‘เวียดนาม’ เหตุเฉลิมฉลองเทศกาลเต็ด

ในช่วงวันเฉลิมฉลองเทศกาลเต็ด (ปีใหม่เวียดนาม) ถือเป็นเทศกาลตามประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เม็ดเงินจะไหลเข้ามายังประเทศที่โอนเงินมาจากคนเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธนาคาร อาทิ ACB, Sacombank และ Eximbank เป็นต้น จึงเปิดแพ็คเกจให้ลูกค้าที่ใช้บริการโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งแพ็คเกจดังกล่าวจะมอบรางวัล Lucky Draw ให้แก่ลูกค้าที่ทำธุรกรรม ตลอดจนดึงดูดให้มีการทำธุรกรรมครั้งนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายด่าวมีงตือ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) กล่าวว่า 28% โอนเงินที่ส่งผ่านบริษัทตัวกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศ และ 70% ผ่านสถาบันการเงินและ 2% ผ่านทางไปรษณีย์ โดยนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเดียวที่มีเม็ดเงินที่โอนเข้ามาด้วยมูลค่า 6.5-6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/overseas-remittances-to-vietnam-increase-as-tet-approaches/220522.vnp

เวียดนามนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาแตะร้อยละ 80 ของสินค้าเกษตรทั้งหมด

เวียดนามนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาในสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 80 ของการส่งออกสินค้าเกษตรกัมพูชา มูลค่ารวมถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปีที่แล้ว โดยบริษัทผู้นำเข้าเวียดนามทำการนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย และถั่วเขียวจากกัมพูชาสูงถึงร้อยละ 96-99 ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ซึ่งการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาไปยังเวียดนามขยายตัวถึง 4.6 เท่าจากปี 2020 รวมถึงการส่งออกพริกไทยและถั่วเขียวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันถึง 4 เท่า โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ารวมกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ ตามการระบุของกรมศุลกากรเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501004581/vietnam-buys-80-pct-of-cambodias-agriculture-exports/

‘ข้าวเวียดนาม’ ได้รับความนิยมพุ่งในตลาดยุโรป

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานทางสถิติพบว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว จำนวน 53,910 ตัน เป็นมูลค่า 38.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% ในแง่ของปริมาณ และ 21.6% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในประเทศได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง EVFTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้นทุนค่าขนส่งทางทะเลที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คุณ Nguyen Thi Hoang Thuy ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามประจำประเทศสวีเดนและตลาดนอร์ดิก กล่าวว่านับตั้งแต่มีการบังคับใช้ข้อตกลง EVFTA ยอดการส่งออกในช่วง 9 เดือนของปีก่อน สูงถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเป็นรายปี โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวอยู่ที่ 781 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 20.3%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-becomes-increasingly-popular-in-eu-market-post917338.vov

 

เวียดนาม’ เผยปี 64 ยอดการส่งออก พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่รายได้จากการส่งออกและนำเช้าของเวียดนามยังคงทำสถิติใหม่ราว 670 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาจากการส่งออกประมาณ 336.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเวียดนามยังคงรักษาให้เกินดุลการค้าเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ด้วยมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังตลาดพัฒนาแล้วและมีความต้องการสูง ได้แก่ สหรัฐฯ (เกินดุลราว 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และยุโรป (23.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ นายเจิ่น ก๊วก แคก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าการเติบโตของการส่งออกทะลุเป้าหมายที่รัฐบาลและรัฐสภากำหนดไว้ที่ 4-5%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-exports-rise-sharply-in-2021/220449.vnp

Ford วางแผนเริ่มสายการผลิตรถยนต์ ในกัมพูชาช่วง เม.ย. 2022

Ford ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ ตัดสินใจลงทุนเปิดสายการผลิตการผลิตรถยนต์ Ford Ranger และ Ford Everest มูลค่าโครงการรวม 21 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงเดือนเมษายน 2022 โดยโครงการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Krakor จังหวัดโพธิสัตว์ บนพื้นที่กว่า 4 เฮกตาร์ ในหมู่บ้าน Savon ชุมชน Sna Ansa อำเภอ Krakor จังหวัดโพธิสัตว์ ห่างจากกรุงพนมเปญ 159 กิโลเมตร ลงทุนภายใต้บริษัท RMA AUTOMOTIVE (CAMBODIA) CO., LTD. โดยบริษัทวางแผนที่จะประกอบรถยนต์ทั้งหมด 4,500 คันในปีแรก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกัมพูชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากถึง 500 ตำแหน่ง สำหรับสายการผลิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501003438/cambodias-21-million-ford-assembly-plant-to-start-production-line-in-april/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยวปี 65 แตะ 65 ล้านคน

การท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวในปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเวียดนามอยู่ที่ 3,500 คน และนักท่องเที่ยวในประเทศกว่า 40 ล้านคนในปี 2564 ตลอดจนมูลค่าการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 180,000 พันล้านดอง ลดลง 42% เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งนี้ ในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวตั้งเป้าเปิดรับนักท่องเที่ยวกว่า 65 ล้านคน โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 60 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 400,000 พันล้านดอง นอกจากนี้ คุณ Phan Huy Binh ประธานกรรมการบริษัท Saigontourist Group กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-looks-to-receive-65-million-visitors-in-2022/

 

‘ผลสำรวจ’ ชี้เวียดนามชำระสินค้าไร้เงินสด 70% ของการทำธุรกรรมค้าปลีก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยผลักดันอีคอมเมิร์ซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อปีที่แล้ว การชำระเงินไร้เงินสดมีสัดส่วน 70% ของธุรกรรมค้าปลีกในเวียดนามทั้งหมด จากการสำรวจโดยบริษัทเทคโนโลยี ‘Sapo’ ได้สำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีก จำนวนทั้งสิ้น 15,000 ราย พบว่าการชำระเงินไร้เงินสดหรือผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคถูกจำกัดเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรค ทำให้การชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นที่นิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมด รองลงมาเงินสด (30%), รหัส QR (9.6%), บัตรครดิต (8.5%) และช่องทางการชำระเงินอื่น (0.5%) ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ค้าปลีกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ชี้ว่าในปีที่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของรายรับทั้งหมด และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 73% หันมาทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดค่าแรงงานและค่าสถานที่ ตลอดจนเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cashless-payments-account-for-70-of-retail-transactions-survey/