ตลาดเรียนออนไลน์เวียดนามโต 3 พันล้านดอลล์

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในเวียดนาม แถมเป็นการแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วขึ้น แต่กลับทำความต้องการเรียนหนังสือทางออนไลน์กับสถาบันการศึกษาชื่อดังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาทะยานถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
ทั้งนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาของเวียดนามคือ “เอฟพีที” ผู้ให้บริการด้านไอทีในเวียดนาม โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการส่งประสบกาณณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน
นอกจากนี้ ภายใต้แรงกดดันต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้น แรงงานในเวียดนามจะได้รับการสนับสนุนให้ติดอาวุธทางปัญญารวมทั้งฝึกอบรมให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศเป้าหมายเพื่อทำให้การศึกษาทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 90% สำหรับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย และ 80% สำหรับการเรียนระดับมัธยม และการอบรมวิชาชีพ ภายในปี 2573
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/978384

‘IFC’ ทุ่ม 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากขยะในเวียดนาม

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) อนุมัติเงินทุนกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำการก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากขยะในจังหวัดบั๊กนิญ (Bắc Ninh) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเวียดนามเพื่อให้เวียดนามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยโรงงานแห่งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2024 และจะเผาขยะ 500 ตันต่อวัน และเผาขยะอุตสาหกรรทุกวัน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการบำบัดของเสียและลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โรงงานเผาขยะจะสร้างพลังงานสะอาดได้ถึง 91,872 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงในแต่ละปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 600,000 ตันในระยะเวลาเพียง 15 ปี ซึ่งพลังงานที่ผลิตได้นั้นจะขายให้กับบริษัท Vietnam Electricity Corporation ภายใต้โครงการซื้อไฟฟ้า Feed-in-Tariff (FiT) เป็นระยะเวลา 20 ปี
ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-trade-revenue-to-surpass-us-660-billion-this-year-38697.html

‘เวียดนาม’ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดฮาลาลโลก

นาย Nguyen Quoc Dung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และประเทศในแถบแปซิฟิกใต้ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้วยจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมมากเกือบ 860 ล้านคน (66% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) โดยเวียดนามมีจุดแข็งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเศรษฐกิจฮาลาลโลก รวมถึงอาหาร การท่องเที่ยว สิ่งทอ เภสัชกรรมและสื่อ
อีกทั้ง เวียดนามยังมีบทบาทสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 17 ฉบับ ตลอดจนข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เช่น EVFTA และ RCEP โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อได้เปรียบ ได้แก่ ข้าว พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเมล็ดกาแฟ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายสำหรับอาหารฮาลาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% จาก 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าฮาลาลยังเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ เนื่องจากชาวมุสลิมต่างชาติเดินทางมาเวียดนาม เพื่อมาทำงานและศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนชาวมุสลิมในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1108848/viet-nam-sees-great-potential-in-global-halal-market.html

‘เวียดนาม’ เผยยอดการค้าปี 64 ทะยานแตะ 660 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม คาดการณ์การส่งออกและการนำเข้าในปี 2564 มีมูลค่า 660 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลทางสถิติของกรมฯ ชี้ว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 602 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน การส่งออกในปีนี้ มีมูลค่า 299.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.5% การนำเข้ามีมูลค่า 299.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของเวียดนาม เกินดุล 225 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. มีกลุ่มสินค้าส่งออกจำนวน 34 รายการที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 93.5% ของการส่งออกรวมทั้งสิ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 266.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็น 89% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า แนะให้ธุรกิจเวียดนามใช้โอกาสอันดีที่จะเพิ่มการส่งออก หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ากลับมาฟื้นตัว ได้แก่ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป
ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-trade-revenue-to-surpass-us-660-billion-this-year-38697.html
 

‘ชาวเวียดนาม’ แห่ซื้อของขวัญคริสต์มาส ช่วยลืมปัญหาการระบาดของเชื้อโรค

ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ร้านขายของตกแต่งในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ค่อนข้างคึกคักเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับเทศกาลคริสต์มาสในปี 2564 ทั้งนี้ คุณ Hoàng Diệu Quỳnh กล่าวกับสำนักข่าว Viet Nam News ว่าได้ซื้อของประดับตกแต่งที่ใช้ในบริเวณต้นไม้แถบถนนฮั่งม้า และยังซื้อไฟสีตกแต่งห้องพร้อมกับจัดปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อน ทั้งนี้ คุณ Nguyễn Thành ผู้ค้าส่งธุรกิจดอกไม้ในเมืองโฮจิมินห์ เปิดเผยกับสำนักข่าวว่าผู้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อของตกแต่งเทศกาลคริสต์มาสที่บ้าน แทนที่จะออกไปเที่ยวสถานที่บันเทิงข้างนอก เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ราคาสินค้าคริสต์มาสเพิ่มสูงขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ร้านค้าส่วนใหญ่พยายามรักษาระดับราคาให้อยู่ในระดับต่ำเท่าที่ทำได้ ในขณะที่ราคาต้นคริสต์มาสสำเร็จรูปเริ่มต้นประมาณ 150,000 – 1,000,000 ดองต่อต้นสำหรับต้นขนาดเล็ก และราคามากกว่า 10 ล้านดองต่อต้นสำหรับต้นขนาดใหญ่
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1108207/people-buy-christmas-presents-to-help-forget-pandemic.html
 

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

‘ธ.โลกและเอชเอสบีซี’ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี

นายทิม อีแวนส์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ HSBC Vietnam กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มกลับมาเติบโต (GDP) อยู่ที่ 6.8% ในปีหน้า ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มุ่งเน้นการลงทุนไปที่ภาคการผลิตเป็นหลัก สิ่งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ต่อการส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้เมื่อช่วง 2 ปีทีผ่านมา ประกอบกับการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการอุปโภคบริโภค เนื่องจากชาวเวียดนามใช้จ่ายในเรื่องของการพักผ่อนและการเดินทางมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจมหภาคว่าทิศทางของเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าปลีก นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 31.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้าเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1107853/wb-hsbc-optimistic-about-viet-nams-economy.html
 

‘ADB’ ชี้แรงงานเวียดนามส่วนใหญ่ไม่คิดที่จะหางานใหม่

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานว่าแรงงานชาวเวียดนามส่วนใหญ่ 90% ตกงานในไตรมาสที่ 3 และไม่คิดที่จะมองหางานใหม่ โดยมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียมีอัตราส่วน 60% และมาเลเซีย 40% เป็นต้น ธนาคารยังกล่าวเพิ่มอีกว่าผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้โรงงานต้องหยุดชะงักการดำเนินงาน ทำให้แรงงานตกงานและรายได้ลดลง ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) พบว่าจำนวนประชากรที่ตกงานในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านคน (หรือ 4.4% ของประชากรรวมทั้งประเทศ) นอกจากนี้ สำนักข่าว VnExpress และคณะกรรมการพัฒนาภาคเอกชน เปิดเผยผลการสำรวจแรงงาน 8,800 คน ชี้ว่าแรงงานกว่า 53% ยังคงว่างงานในปัจจุบัน, 41% ยังไม่สามารถหางานใหม่ที่เหมาะสมได้ ขณะที่แรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มหางานได้เมื่อใด
ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/most-workers-stop-looking-for-new-jobs-adb-4404895.html
 

Vietnam Economic Factsheet: November 2564

FACTSHEET VIETNAM พ.ย.64

ที่มา : รวบรวมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (General Statistics Office: GSO), กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท, กระทรวงวางแผนและการลงทุน, กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กรมศุลกากรและ CEIC Data