FTA อาเซียน-แคนาดา “พาณิชย์” เดินหน้าเจรจาอย่างเป็นทางการ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 โดยที่ประชุมได้ประกาศเดินหน้าเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 และพบภาคเอกชนสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน การประชุมครั้งนี้ ไทยได้ร่วมกับสมาชิกอาเซียนและแคนาดาประกาศเริ่มเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเปิดเจรจา FTA ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ โดยการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา จะช่วยขยายโอกาสการค้า การลงทุน และสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA มาก่อน รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) อาเซียนกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 18,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 โดยไทยกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 2,002 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ซึ่งคิดเป็นไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 1,349 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 653 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/503633

“ศักดิ์สยาม” โชว์เวทีขนส่งอาเซียน ลุยโปรเจ็กท์เชื่อมโครงข่ายคมนาคมโลก

รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27  ที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ 4 ฉบับ การให้การรับรองเอกสารดังกล่าว เป็นการยกระดับการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศของอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการวางแผน การขนส่งและการพัฒนาระบบขนส่งแบบบูรณาการในเขตเมืองของอาเซียนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายระดับชาติของประเทศ ในการเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/465694/

“รมว.ต่างประเทศยูเค” เยือนไทย ยกระดับสัมพันธ์การค้า-เพิ่มบทบาทในอาเซียน

นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร จะเดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะหารือเรื่องการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งการขับเคลื่อนการลงทุนและความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งปัจจุบัน สหราชอาณาจักรและประเทศไทยมีมูลค่าการค้า ระหว่างกันอยู่ราว 4,700 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท และมีธุรกิจอังกฤษกว่า 5,000 บริษัทที่มีการส่งออกมายังประเทศไทย โดยจะร่วมหารือกับภาคธุรกิจทั้งไทยและอังกฤษ ในประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลงทุนอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/970783

“ศักดิ์สยาม” ถก ปธ.วุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน

รมว.คมนาคม ต้อนรับประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ หารือกระชับความร่วมมือ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ EEC ของประเทศไทย โดยการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ นอกจากนี้ ได้หารือถึงโอกาสด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาระบบคมนาคมระหว่างสองประเทศ การเชิญชวนนักลงทุนชาวสวิสเซอร์แลนด์มาร่วมลงทุนในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9640000109560

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

ที่มา :

/1 https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CPTPP-z3282.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-cptpp-rcep-01112021

อาเซียน เจรจาอินเดียผลักดันการเชื่อมต่อระหว่างกันมากขึ้น

ผู้นำอาเซียนและอินเดียตกลงที่จะขยายความร่วมมือเพื่อขยายการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน ระหว่างกัน บรรดาผู้นำเห็นพ้องที่จะผลักดันให้สร้างทางด่วนเชื่อมอินเดียกับเมียนมาร์และไทย นำไปสู่ความเชื่อมโยงกับลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในที่ประชุมยังมีการรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียสำหรับปี 2564-2568 และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่ตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามร่วมกันในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัล  ด้านการลงทุนผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ที่ประชุมรับรองแผนปฏิบัติการใหม่ของอาเซียน-รัสเซียสำหรับปี 2564-2568

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_
Asean212.php

อาเซียนหารือรับมือโควิดและการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวอีกครั้ง

อาเซียน หารือเรื่องการเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งและให้คำมั่นว่าจะขยายความร่วมมือในด้านต่างๆเหล่าประเทศที่เข้าร่วมการประชุมให้คำมั่นว่าจะยังคงให้ความร่วมมือในด้านที่มีความสำคัญ เช่น สาธารณสุขรวมถึง Covid-19, การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, การศึกษา, ความเชื่อมโยงในอาเซียน, การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศอาเซียน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร และการลดความยากจน บรรดาผู้นำยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี เสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการเชื่อมต่อ ตลอดจนการเปิดการเดินทางอีกครั้งเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean211.php

‘ประยุทธ์’ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำร่วมมือด้านวัคซีน-สิ่งแวดล้อม-พัฒนาดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาฯ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เข้าร่วมด้วย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนที่มีความสำคัญมากขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิด AOIP และเห็นว่าการก้าวผ่านศตวรรษที่ 21 ต้องร่วมมือกันเพื่อสู้กับโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน และการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งหวังที่จะได้ร่วมกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือให้กับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสนับสนุนอาเซียนให้ Build Back Better ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความร่วมมือในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 2.การให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่ “Next Normal” อย่างยั่งยืน และ 3.การพัฒนาด้านดิจิทัล

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/politics/news_6698213

เปิดประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมเสวนารับมือโควิด

การประชุมสุดยอดครั้งที่ 38 และ 39 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เปิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม โดยมีการอภิปรายเน้นไปที่ความพยายามร่วมกันในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติและในการส่งเสริมพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา และสังเกตบทบาทสำคัญของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ แต่ประเด็นที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ในเรื่องของการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ บรรดาผู้นำได้หารือถึงความพยายามร่วมกันในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ พวกเขาสังเกตเห็นการจัดตั้งศูนย์สุขภาพและกองทุนรับมือ Covid-19 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญในภายภาคหน้าต่อระบบสาธารณสุขในประเทศที่อ่อนแอและระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean_210_21.php

อาเซียนนัดถกเร่งยกระดับอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล เตรียมชงผู้นำเคาะปลายต.ค.นี้

คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำหนดประชุม 18 ต.ค.นี้ เตรียมหารือรัฐมนตรีด้านดิจิทัลทำแผนผลักดันอาเซียนไปสู่ยุคดิจิทัล และยกร่างแถลงการณ์ชงผู้นำรับรองในการประชุมปลายเดือนนี้ เผยยังจะติดตามความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจ การทบทวนแผนงาน AEC Blueprint 2025 ครึ่งทาง การทำวิสัยทัศน์อาเซียน และรับรองเอกสารสำคัญ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน แผนดิจิทัล การส่งเสริม MSMEs

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2990262