สปป.ลาว ขาดดุลเงินตราต่างประเทศ กระทบภาคสินเชื่อและการท่องเที่ยว

ผู้ว่าการธนาคารกลาง สปป.ลาว ได้เน้นย้ำถึงต้นตอของการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และกำหนดมาตรการหลัก เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในระหว่างการประชุมกับคณะสภาแห่งชาติ โดย สปป.ลาว ประสบกับปัญหาขาดดุลเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งหมายความว่าการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าการไหลออก ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐบาลต้องจำกัดจำนวนเงินกู้เนื่องจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลการชำระเงินโดยรวมขาดดุล นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ สปป.ลาว สูญเสียรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักและการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาหลักของเงินตราต่างประเทศของ สปป.ลาว ขณะที่ในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของ สปป.ลาว อยู่ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ แต่เข้าประเทศเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 สปป.ลาว มีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ แต่ไหลเข้า สปป.ลาว เพียง 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้ในต่างประเทศ จากการกู้เงินนอกประเทศเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Bol126.php

จีน-เมียนมาจับมือเปิดบริการเที่ยวบินใหม่ หนุนความร่วมมือด้านศก.-การค้า-การท่องเที่ยว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) เครื่องบินของสายการบินเมียนมา เนชันแนล แอร์ไลน์ส ลงจอดที่ท่าอากาศยานในเมืองหมางซื่อ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งนับเป็นการเปิดเส้นทางขนส่งทางอากาศที่เชื่อมหมางซื่อกับสองเมืองหลักของเมียนมา ได้แก่ มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง ทั้งนี้ ว่ยกั่ง เจ้าหน้าที่แคว้นปกครองตนเองเต๋อหง กลุ่มชาติพันธุ์ไทและจิ่งโพกล่าวว่าเราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากการเปิดเที่ยวบินใหม่ดังกล่าว

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/314492

IMF คาดเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาเติบโตได้ในระยะกลาง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าเวียดนามมีประสบการณ์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังจากเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 แสดงให้เห็นมาจากตัวเลขชองเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัว 8% ในปี 2565 นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนมาจากปัจจัยในประเทศและอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะเติบโตราว 4.7% ในปีนี้ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและนโยบายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในกรอบของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ที่ 4.5% นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามีการมผลักดันการต่อต้านการทุจริตอย่างมาก รวมถึงการนำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้และยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-to-returns-to-high-growth-in-medium-term-imf-111230701083440061.htm

“เวียดนาม” เผยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 66 โต 4.14% จากแรงหนุนภาคบริการ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 4.14% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนมาจากภาคบริการ ตัวเลขดังกล่าวนั้นนับว่าเป็นการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.32% ทั้งนี้ ภาคบริการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัว 6.11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัว 3.25% และ 2.50% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ชะลอตัวลง 12.1% และ 18.2% จากปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.thestar.com.my/business/business-news/2023/06/29/vietnam-q2-gdp-growth-accelerates-to-414-led-by-services

สภาแห่งชาติ สปป.ลาว เรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

คณะกรรมาธิการสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาว จัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยได้กล่าวไว้ในวันเปิดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 9 นำโดยรองประธานรัฐสภา Sommad Pholsena ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนพฤษภาคมปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 12.81 ก่อนจะไต่ระดับขึ้นเป็นร้อยละ 39.27 ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ด้านคณะกรรมการของ NA ยังแนะนำให้รัฐบาลสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี รวมถึงเป็นการยกระดับผู้คนให้พ้นจากความยากจนและลดค่าครองชีพซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งดำเนินการจัดการกับขบวนการค้ายาเสพติด ลดอัตราอาชญากรรม นอกจากนี้ รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การสกัดแร่เถื่อน การบุกรุกที่ดินของรัฐและผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดิน การทำลายป่าและแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten123_NA_y23.php

“เศรษฐกิจเวียดนาม” มุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามอุปสรรคในปี 2567

จากรายงานของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยให้เห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รวมไปถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่ไม่คาดคิดในอนาคต นอกจากนี้ ความเสี่ยงในปีหน้า ไม่เพียงแต่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมาจากการดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผลอีกด้วย ทั้งนี้ ปัญหาคอขวดต่างๆ อาทิเช่น ปัญหาการขาดแคลนกำลังไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนการใช้ชีวิตของผู้คนอีกด้วย ในขณะที่การปฏิรูปเพื่อส่งเสริมบรรยากาศทางธุรกิจและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันก็เกิดการหยุดชะงักลง และอาจขัดขวางต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากอยู่แล้ว

ที่มา : https://vir.com.vn/adb-highlights-default-risks-in-vietnams-property-markets-102853.html

นายกฯ กัมพูชาคาดเศรษฐกิจภายในประเทศโต 5.6 ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปีนี้ และขยายตัวอีกร้อยละ 6.6 ในปีหน้า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย โดยนายกฯ ได้กล่าวคำแถลงดังกล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตัน ณ จังหวัดสวายเรียง แม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงยังคงเติบโต ภายใต้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน กล่าวเสริมว่า แม้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องคอยติดตามกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของชาติมหาอำนาจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313848/pm-hopes-for-5-6-percent-economic-growth-this-year-and-6-6-percent-next-year/

“เมย์แบงก์” คาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน

คุณ Datuk Khairussaleh Ramli ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของเมย์แบงก์ กรุ๊ป (Maybank Group) เปิดเผยว่าในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว กลุ่มประเทศในอาเซียนกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งและมีทิศทางที่สดใส ท่ามกลางกระแสลมจากสถานการณ์ทั่วโลกที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดมากกว่า 660 ล้านคน และ GDP รวมกันทั้งสิ้นราว 3.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 อีกทั้ง กลุ่มประเทศอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม คาดว่าจะเติบโตที่ 4.2% ในปีนี้ และเกินกว่า GDP โลกที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.0%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/maybank-vietnam-among-fastest-growing-countries-in-asean-2156785.html

คาดความช่วยเหลือและการลงทุนของจีน มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของกัมพูชา

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเมื่อไม่นานว่า ความช่วยเหลือและการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของจีน มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกัมพูชา โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่าด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งปัจจุบันจีนเข้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ และเสียมราฐ-นครวัด สนามบินนานาชาติและอื่น ๆ ในขณะที่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ได้เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311086/chinas-aid-investment-greatly-contribute-to-cambodias-development/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาคาด GDP ปีนี้ โต 5.6%

Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.6 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในปีที่แล้ว โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมร่วมครั้งที่ 35 ของคณะกรรมาธิการ UNWTO (35th CAP & CSA) และการประชุม WTO ว่าด้วยมาตรฐานสากลการคุ้มครองนักท่องเที่ยว (ICPT) ณ Sokha Phnom Penh Hotel & Residence โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีมุมมองในแง่ดีสำหรับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ภาวะปกติ หลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงปี 2025 ทางการกัมพูชาคาดว่าจะกลับมาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวแตะ 7 ล้านคน และในปี 2026 คาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวขึ้นไปถึงประมาณ 13 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership (PPP) ผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310040/pornmoniroth-puts-cambodias-2023-gdp-forecast-at-5-6/