เวียดนามเผยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดการส่งออก-นำเข้า พุ่ง 32%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดการนำเข้าและส่งออกของเวียดนาม มีมูลค่า 316.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจากมูลค่าทั้งหมด ยอดการส่งออกประมาณ 157.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะสินค้าจำนวน 25 รายการ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 88.9% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าของเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 45.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 43.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าของเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 53.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/import-export-turnover-rises-32-in-first-half-2021-871469.vov

กัมพูชาร่วมกับเวียดนามส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

 กัมพูชาและเวียดนามได้ร่วมกันวางแผนที่จะส่งเสริมภาคการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังยืนยันว่าจะอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการขนส่งสินค้าแม้กำลังจะเผชิญอยู่กับวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐมนตรีของทางฝั่งกัมพูชายังได้กล่าวถึงเกี่ยวกับความคืบหน้าของการให้สัตยาบันข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่ได้ข้อสรุปแล้วอีกด้วย รวมถึงได้ทำการขอบคุณรัฐบาลเวียดนามสำหรับการสนับสนุนกัมพูชาและหวังว่าหลังจากการร่วมมือกันในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในพัฒนาระหว่างกันในระยะยาว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50886133/cambodia-vietnam-vow-to-further-boost-bilateral-trade-and-investment/

เวียดนามเผยจัดตั้งธุรกิจใหม่ในครึ่งแรกของปีนี้ 67,100 แห่ง แม้เผชิญโควิดระบาด

กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่ายอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จำนวน 67,100 แห่ง เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือว่าทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ที่ส่งผลกระทบเมื่อปลายเดือนเม.ย. แต่จำนวนธุรกิจรายใหม่ก็เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 942 ล้านล้านดอง (40.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบเป็นรายปี จำนวนบริษัทตั้งใหม่ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 44.8% รองลงมาบริษัทด้านสุขภาพ การศึกษาและคลังสินค้า ในขณะเดียวกัน จำนวนบริษัทที่ลดลง ได้แก่ บริษัทด้านการผลิตและการจำหน่าย ลดลง 50% รองลงมาธุรกิจที่พัก อาหาร เครื่องดื่ม บริการจัดหางาน เกษตรกรรม ป่าไม้และประมง

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/record-high-enterprises-established-despite-outbreaks-4304167.html

เวียดนามตั้งเป้าปี 68 จำนวนคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 1,704 แห่ง

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้แถลงการณ์ในที่ประชุมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 2 ก.ค. โดยในปี 2563 เวียดนามมีจำนวนจำนวนคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 968 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ 30,192 เฮคเตอร์ ซึ่งตามแผนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมปี 2568 เวียดนามจะมีคลัสเตอร์โรงงาน จำนวน 1,704 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 58,123 เฮคเตอร์ ทั้งนี้ นายเญียน ขอให้หน่วยงานท้องถิ่นทำการร่างแผนพัฒนาพื้นที่อย่างเร่งด่วนและเสนอนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุน ประกอบกับรายละเอียดของกฎ ระเบียบที่ชัดเจน เพื่อบรรลุการดำเนินงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-have-1704-industrial-clusters-by-2025-871126.vov

นักวิเคราะห์ ชี้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเวียดนาม เหตุกังวลการระบาดโควิด-19

ตามรายงานของบริษัทหยวนต้า เผยว่านักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นบลูชิพ เป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นักลงทุนที่เทขายหุ้นส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทยและอินเดีย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อโลกและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีการเทขายหุ้นเป็นมูลค่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 6 ตลาด คิดเป็น 4% ในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเวียดนามยังได้รับมุมมองในเชิงบวก ทั้งด้านเศรษฐกิจและศักยภาพของตลาดหุ้นที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/foreign-investors-sell-out-blue-chips-on-covid-fears-analyst-4302717.html

‘EVFTA’ ผลักดันหนุนการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดออสเตรเลีย

ยอดการค้าระหว่างเวียดนามและออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 256.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 มาอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่แล้ว จากการได้รับผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ยอดการค้ารวมลดลงเหลือเพียง 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และข้อสังเกตจากการค้า ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามเกินดุลการค้ากับออสเตรเลียมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้ ตามข้อมูลของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) เผยว่ายอดการนำเข้าของออสเตรเลียจากเวียดนาม พุ่ง 184% เป็นมูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในบรดาตลาดนำเข้า 50 อันดับแรกของออสเตรเลีย โดยการเติบโตของการค้านั้น เป็นผลมาจากได้รับอนิสงค์จากความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA)

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/evfta-set-to-boost-vietnamese-exports-to-austrian-market-870415.vov

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

GDP เวียดนามไตรมาส 2 โต 6.61% อานิสงค์การส่งออกเติบโต

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 6.61% ซึ่งขยายตัวมากกว่าไตรมาสแรกที่ 4.65% แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการค้าโลกกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจมหภาคในประเทศยังคงรักษาระดับเสถียรภาพได้ ในขณะที่ การผลิตและการค้ายังคงเติบโตได้ดี ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยมูลค่า 157.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://tienphongnews.com/vietnam-q2-gdp-growth-quickens-to-6-61-y-y-on-robust-exports-181429.html