Chevron พร้อมขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา

บริษัท Chevron ซึ่งมีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา ภายใต้ บริษัท Chevron (Cambodia) จำกัด โดยได้เปิดเผยแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมถึงคำนึงถึงความพยายามของประเทศในการร่วมสำรวจแหล่งน้ำมันสำรองกับประเทศไทยในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ซึ่งพื้นที่ OCA ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะกักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดย Keo Ratanak รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา (MME) ภายหลังการประชุมกับ Frank Cassulo รองประธานใหญ่ บริษัท Chevron ในกรุงพนมเปญ ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าลงทุนในกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2021 มีสถานีบริการในปัจจุบันรวม 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชาอีก 100 สถานี เพื่อรองรับกับอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้เปิดเผยว่ากัมพูชานำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปีก่อนมูลค่ารวมอยู่ที่ 849 ล้านดอลลาร์ และน้ำมันดีเซลอีกราว 1.32 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440827/chevron-to-expand-service-station-network-in-cambodia/

สปป.ลาว เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่

กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ประกาศเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับสูงของกระทรวง เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงพลังงานฯ โดยได้แต่งตั้งนายสินาวา สุภานุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ขึ้นเป็นรัฐมนตรี และให้นายจันทบูน สุขะลุน อดีตผู้อำนวยการการไฟฟ้าลาว (EDL) และนายชาญสะแวง บุ่งนอง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ทั้งนี้ การปรับปรุงระบบองค์กรของกระทรวง รวมถึงการจัดสรรบุคลากรระดับสูงอย่างเหมาะสม ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคำแนะนำของพรรค “การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการตัดสินใจในระหว่างการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 9 ของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว” นายโพไซ สายะสอน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่กล่าวในพิธีส่งมอบตำแหน่งครั้งนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_34_Energy_y24.php

กัมพูชาคาดพลังงานทดแทนจะเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศ

คาดแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ภายในประเทศกัมพูชาจะคิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชาในปีนี้ กล่าวโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในระหว่างการประชุมของกัมพูชาและเกาหลี ซึ่งคาดว่าการหารือดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนชาวเกาหลีเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น สำหรับกัมพูชามีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า (PDP) ในช่วงปี 2022-2040 โดยเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งคาดว่าการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ของกัมพูชาจะสูงถึง 3,155 เมกะวัตต์ ภายในปี 2040 ครอบคลุมสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 45 จากการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ขณะที่แผนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นจาก 1,330MW เป็น 1,560MW ภายในปี 2030 และ 3,000MW ภายในปี 2040 และจากพลังงานจากชีวมวลหมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกแหล่งหนึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 27MW ในปี 2022 เป็น 98MW ในปี 2030 และ 198MW ในปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429249/renewable-energy-to-give-70-of-power-in-cambodia-this-year/

‘เวียดนาม-เยอรมนี’ หารือส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การค้าและพลังงาน

นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีของเยอรมนี พร้อมคณะผู้แทนธุรกิจ เดินทางเยือนเวียดนามในครั้งนี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างเวียดนามและเยอรมนีในด้านต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม การค้าและพลังงาน รวมถึงได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดเยอรมนี และกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะเอื้ออำนวยให้กับเวียดนามในการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่จากเยอรมนี ทำให้เวียดนามสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1639692/viet-nam-germany-boost-cooperation-in-industry-trade-energy.html

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตรวจสอบแหล่งก๊าซธรรมชาติ Aphyauk เพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าเยี่ยมชมแหล่งก๊าซธรรมชาติ Aphyauk ภายใต้บริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) และเยี่ยมชมแหล่งน้ำมันหมายเลข 50 และ 54 ซึ่งมีการศึกษาและวิจัยชั้นทรายบาง ๆ เพื่อปรับปรุงการผลิตก๊าซธรรมชาติ และนำไปสู่การเพิ่มการผลิตอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐมนตรีสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นฟูการดำเนินงานของแหล่งก๊าซธรรมชาติเก่าหลังจากดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างเหมาะสม ถือเป็นความสำเร็จเชิงบวกสำหรับความพยายามสำรวจน้ำมันและก๊าซของประเทศ นอกจากนี้เขายังสนับสนุนให้มีการสำรวจในแหล่งน้ำมันอื่นๆ เพื่อให้บรรลุผลเช่นเดียวกับแหล่งก๊าซธรรมชาติ Aphyauk อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสหภาพฯ กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องศึกษาทักษะที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง และกำลังพยายามบูรณาการการวิจัยล่าสุดและเทคโนโลยี AI เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพในการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แนวทางนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อคำนวณปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ติดอยู่ในหินตะกอนและชั้นทรายบางๆ ซึ่งนำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moe-um-inspects-aphyauk-natural-gas-field-to-boost-natural-gas-production/

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเมียนมา รับคณะผู้แทนนำโดยเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย

นาย U Ko Ko Lwin รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแห่งสหภาพ ให้การต้อนรับคณะผู้แทนที่นำโดยนายอิสคานเดอร์ อาซิซอฟ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำเมียนมาร์ ที่สำนักงานรัฐมนตรีสหภาพในกรุงเนปิดอว์เมื่อเช้าวานนี้ โดยในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีสหภาพและเอกอัครราชทูตได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจเกี่ยวกับการสร้างโรงกลั่นน้ำมันในเมียนมาร์ และวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในมาตรการทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์เพื่อเพิ่มการผลิต ในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มความร่วมมือในภาคพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moe-um-receives-delegation-led-by-ambassador-of-russian-federation/

โรงกลั่นน้ำมันจำเป็นต้องดำเนินการเร็วที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศ

เมื่อบ่ายวานนี้ ในการเยี่ยมชมโรงกลั่นน้ำมันในเมือง Thanlyin เขตย่างกุ้ง ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพิจารณาต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับความต้องการพลังงานในประเทศ และต้นทุนอื่นในการดำเนินงานโรงกลั่นของ ประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศ ซึ่งในขั้นต้นจะต้องเน้นไปที่การดำเนินงานโรงกลั่นน้ำมันหมายเลข 1 (Thanlyin) โดยมีแผนจะอัพเกรดเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน U Ko Ko Lwin และกรรมการผู้จัดการ U Aung Myint จาก Myanma Petrochemical Enterprise รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงกลั่นน้ำมันหมายเลข 1 (Thanlyin) การเตรียมการเพื่อให้เกิดความเพียงพอด้านพลังงานของประเทศโดยอาศัยการจัดตั้งแหล่งพลังงาน การผลิตน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ การปรับปรุงโรงงาน และความพร้อมของวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบโรงกลั่นน้ำมันหมายเลข 1 (ตันลยิน) โรงกลั่นน้ำมัน (B) โรงงานน้ำมันหล่อลื่น และถัง LNG รวมทั้งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการโรงกลั่นให้เร็วที่สุดเพื่อจัดหาความต้องการเชื้อเพลิงของประเทศในด้านหนึ่ง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/oil-refineries-need-soonest-operation-for-fulfilling-domestic-energy-requirement/

กัมพูชาเริ่มดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตาไตทางตอนบนของจังหวัดเกาะกง ขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 31.5 โดยคาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี และจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 527 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีเมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต และ Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ได้เป็นประธานในพิธีปิดแม่น้ำเพื่อการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังน้ำในเฟสถัดไป ซึ่งใกล้กับเขื่อนในเขต Thmar Baing สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นสัญญาสิทธิ์ในการก่อสร้าง บริหาร และโอนกรรมสิทธิ์ (BOT) เป็นเวลา 39 ปี โดยได้รับการลงทุนจากบริษัท China National Heavy Machinery Corporation (CHMC) และจะขายกระแสไฟฟ้าให้กับองค์การไฟฟ้ากัมพูชาตลอดอายุสัญญา ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อเศรษฐกิจกัมพูชา และจะช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้ากระแสไฟฟ้า รวมถึงเป็นการเพิ่มเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้กับกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501400180/work-on-new-hydropower-plant-in-cambodia-goes-smoothly/

เรือบรรทุกน้ำมันจากต่างประเทศไหลเข้าท่าเรือเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

เรือบรรทุกน้ำมันจากต่างประเทศได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือติละวาในเขตย่างกุ้งอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรือบรรทุกน้ำมัน 3 ลำ ที่เข้าเทียบท่าได้ทำการขนถ่ายน้ำมันลงในถังเก็บตามลำดับ ด้านคณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้า การจัดเก็บ และการจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ประสานงานกับสมาคมนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของเมียนมา กำลังจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับปั๊มน้ำมันในภูมิภาค/ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเขตย่างกุ้ง ซึ่งได้ใช้รถหัวจ่ายน้ำมันในการขนส่งตลอดทั้งวันทั้งคืน อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน มีรายงานปริมาณน้ำมันทั้งหมดที่เข้ามายังถังเก็บน้ำมัน แบ่งออกเป็น น้ำมัน 92 RON (Research Octane Number บอกค่าออกเทนของน้ำมัน) กว่า 1,470,000 แกลลอน, 95 RON กว่า 300,000 แกลลอน, น้ำมันดีเซล กว่า 1,040,000 แกลลอน และดีเซลแบบพรีเมียม กว่า 1,020,000 แกลลอน ซึ่งถูกส่งโดยรถหัวจ่ายน้ำมันกว่า 1,311 คัน ไปยังสถานีจำหน่ายเชื้อเพลิง 1,960 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงในเขตย่างกุ้ง ทั้งนี้มีรายงานว่าประชาชนสามารถซื้อและใช้เชื้อเพลิงได้สะดวกมากขึ้น และเจ้าหน้าที่กำลังให้ความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/steady-inflow-of-foreign-oil-tankers-ensures-smooth-distribution-nationwide/

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมาร์ กลับจากการประชุมกำกับดูแลพลังงานระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 6

ตามคำเชิญของนาย Zhang Jianhua หัวหน้าคณะบริหารพลังงานแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะผู้แทนที่นำโดย U Nyan Tun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้เดินทางเยือนเซินเจิ้นและคุนหมิงระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 6 – ด้านกำกับดูแลพลังงานระดับภูมิภาคแปซิฟิก และเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานลม จากนั้น รัฐมนตรีสหภาพฯ ได้พบกับนาย Zhang Jianhua หัวหน้าสำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติ (NEA) และหารือเกี่ยวกับการพัฒนาภาคส่วนพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ยังได้เยี่ยมชมศูนย์นิทรรศการ Shenzhen Huawei Digital Power Edison Exhibition Hall และสถานีชาร์จรถยนต์ EV ที่จัดเก็บพลังงานแสงและการชาร์จ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกริดและยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ พวกเขายังได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานลมฝูหยวนซี ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างโดย State Power Investment Corporation ในมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนยังได้พบเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดและแผนสำหรับการดำเนินโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ กับบริษัท China Southern Power Grid ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐของจีน ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า และบริษัทด้านพลังงานอื่นๆของจีนอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moep-union-minister-returns-from-6th-asia-pacific-regional-energy-regulatory-forum/