‘สถาบันวิจัย’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ ขยายตัว 6%

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายของเวียดนาม (VEPR) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 5.6% – 6% โดยได้ปัจจัยหนุนมาจากการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ จะเห็นได้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสแรก บ่งชี้ให้เห็นสัญญาณเชิงบวก อย่างไรก็ดียังมีความไม่แน่นอนอยู่ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศและการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655818/vepr-forecasts-vietnamese-economy-growth-at-below-6-per-cent.html

บริษัทจีนสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตน้ำสะอาดในกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (MISTI) Hem Vanndy ได้หารือกับตัวแทนจากบริษัท Hainan Litree Purifying Technology Co., Ltd. ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับความสนใจของบริษัทที่จะขยายการลงทุนในภาคการประปาสะอาดของกัมพูชา โดย Hainan Litree Purifying Technology ถือเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเมมเบรน ซึ่งบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์บำบัดน้ำที่มีชื่อเสียงภายใต้แบรนด์ Litree โดยใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในระบบประปาของเมือง ในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และเครื่องกรองน้ำดื่มภายในครัวเรือน ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เมมเบรน UF ของ Litree ถูกนำไปใช้ในหลายจังหวัดและเมืองของกัมพูชา ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำดื่มได้กว่า 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย Hainan Litree วางแผนที่จะลงทุนราว 50-100 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำประปาในกัมพูชาภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ด้านรัฐมนตรี Vanndy ยินดีที่บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนในระบบประปาของกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนระบบประปาของรัฐหรือเอกชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487224/investment-boost-for-kingdoms-clean-water-sector/

โครงการค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมข้าวกัมพูชา ดันการเพิ่มผลผลิตและการส่งออกข้าว

โครงการประกันสินเชื่อส่งออกข้าว (REGS) ได้รับการลงนามระหว่างองค์กรรับประกันสินเชื่อแห่งชาติ (CGCC) สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวในกัมพูชาอย่างโรงสีให้สามารถขยายการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บสต็อก เพื่อสีแปรรูป และส่งออก รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมภายในประเทศ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน สำหรับวงเงินโครงการอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์ โดยมีสถาบันการเงิน 7 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ AMK, Canadia Bank, FTB, Maybank, Prince Bank, Sathapana Bank และ Wing Bank ขณะที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชาแล้ว ทางการกัมพูชายังได้สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486350/rice-credit-guarantee-scheme-inked-to-boost-rice-productivity-and-export/

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ทะลักไหลเข้าอสังหาฯ และอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 6.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเม็ดเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่า 4.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.5% ของเงินทุน FDI ทั้งหมด รองลงมาภาคอสังหาฯ 607.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลายๆ โครงการใหม่ อย่างไรก็ดี เวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมกำลังแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fdi-flows-strongly-into-manufacturing-real-estate-post285568.vnp

กัมพูชาพร้อมรับโครงการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์เพิ่มอีก 5 แห่ง

Ms. Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (MoC) รายงานว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ 5 ราย กำลังสร้างโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชา โดยบริษัทรถยนต์ทั้ง 5 แห่ง ซึ่งรวมถึง HGB Motors Assembly, EM Automotive, GTV Motor, Toyota และ China Matrix Technology กำลังจัดโครงสร้างการผลิตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวในระหว่างการเข้าร่วมงาน Auto Show 2024 ครั้งที่ 1 โดยรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุนบริษัทที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา พร้อมกับการที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าอาเซียนพลัส สิทธิพิเศษทางการค้า กรอบการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของประเทศ ตลอดจนการลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481029/cambodia-to-have-five-more-vehicle-assembly-factories/

เศรษฐา ปิดดีล Microsoft ลงทุน DATA CENTER หนุนอุตสาหกรรม AI

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ Plenary Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด รวมทั้ง รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) อย่างไรก็ดี รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยินดีที่ได้ทราบว่า ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป ในตอนหนึ่งของการกล่าวเปิด นาย Satya Nadella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1554508

‘เวียดนาม’ ส่งออก เม.ย. พุ่ง 10.6% ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3%

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน เม.ย. จะขยายตัวได้ประมาณ 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่า 30.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 19.9% มูลค่า 30.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม พบว่าผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3% ต่อปี ตามมาด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน และยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้น 9.0% ต่อปี

นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ถือว่าขยายตัวดีกว่าปี 2566 ที่ขยายตัว 5.05%

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-april-exports-106-y-y-industrial-output-63-4299461

โรงงาน 11 แห่งผลิตปูนซีเมนต์ได้ 8 ล้านตันต่อปี

U Than Zaw Htay กรรมการผู้จัดการบริษัท No 1 Heavy Industries Enterprise และ No 2 Heavy Industries Enterprise ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานปูนซีเมนต์ 11 แห่งผลิตปูนซีเมนต์ได้มากกว่า 8 ล้านตันต่อปี โดยภาคเอกชนมีโรงงานปูนซีเมนต์ 16 แห่ง ขณะที่รัฐฯดูแล 3 แห่ง หากโรงงานทั้งหมดเปิดดำเนินการ จะสามารถผลิตปูนซีเมนต์รวมกันได้มากกว่า 16 ล้านตัน อย่างไรก็ดี การบริโภคในท้องถิ่นต่อปีอยู่ที่ประมาณ 10-11 ล้านตัน U Than Zaw Htay กล่าวว่า “เราสามารถตอบสนอง 2 ใน 3 ของความต้องการในท้องถิ่นได้ โดยในปัจจุบัน No 33 Heavy Industry (Kyaukse) ผลิต 5,000 ตันต่อวัน รวม 1.8 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566-2567 นอกจากนี้ ในแต่ละปี บริษัทจัดหาปูนซีเมนต์จำนวน 70,000 ตันสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการอุตสาหกรรมหนัก 31 (Thayet) และอุตสาหกรรมหนัก 32 (Kyangin)”

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/11-factories-produce-8-million-tonnes-of-cement-annually/

รัฐมนตรีสหภาพอุตสาหกรรมหารือเรื่องการยกระดับพืชน้ำมันเพื่อการบริโภค การผลิตฝ้าย และผลผลิตของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า

วานนี้ ดร. ชาร์ลี ธาน รัฐมนตรีสหภาพอุตสาหกรรมกล่าวว่า สภาบริหารแห่งรัฐได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาโรงงานน้ำมันขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยมีหน้าที่จัดหาเงินกู้เพื่อยกระดับและขยายโรงงานน้ำมันเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำมันบริโภคและลดการพึ่งพาการนำเข้า ทั้งนี้ การรีไซเคิลน้ำมันบริโภคบางชนิด ยกเว้นน้ำมันสกัดเย็นบริสุทธิ์และน้ำมันสกัดเย็น ผู้ประกอบการอาจสามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันได้ และยังเน้นย้ำว่ากระบวนการผลิตจะต้องเป็นไปตาม GMP และได้รับการอนุมัติจาก อย. นอกจากนี้ ตามสถิติ สวนฝ้ายที่ตอบโจทย์การบริโภคในท้องถิ่น มีกระทรวงดำเนินการโรงงานฝ้าย 16 แห่ง และภาคเอกชนมี 191 แห่ง สำหรับโรงงานฝ้ายและตัดเย็บเสื้อผ้าโดยกระทรวงมี 14 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งในนั้นให้เช่าโดยนักธุรกิจ ในขณะที่ภาคเอกชนดำเนินการโรงงาน 9 แห่ง รวมถึง รัฐมนตรีสหภาพฯ ยังได้สั่งการซ่อมแซมโรงปั่นฝ้ายเพื่อเพิ่มการผลิต การจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มรายได้ การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการ MSME เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของโรงงาน การจัดการการเพิ่มการผลิต การซ่อมแซมเครื่องจักรอัตโนมัติ การจัดการให้เต็มกำลังการผลิต เครื่องจักร โกดังวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป และการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับกระบวนการผลิตฝ้าย และสนับสนุนให้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมการซ่อมเครื่องจักรในโรงงานอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/industry-union-minister-talks-to-elevate-edible-oil-crops-cotton-production-productivity-of-garment-factories/