CEO ของ Nvidia ตั้งเป้าที่จะตั้งฐานในเวียดนาม

เจนเซน หวง (Jensen Huang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Nvidia Corp กล่าวว่าในมุมมองของบริษัท มองเห็นถึงศักยภาพของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ยืนยันว่ามีแผนที่จะตั้งฐานในเวียดนาม ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามแถลงในวันที่ 10 ธ.ค. ว่าฐานดังกล่าวมีไว้เพื่อดึงดูดผู้คนที่มีความสามารถจากทั่วโลกในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ บริษัท Nvidia ได้ลงทุนในเวียดนามไปแล้วราว 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีการเตรียมหารือในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์กับบริษัทเทคโนโลยีของเวียดนาม

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัทอินเทล (Intel) และอินเทลกำลังพยายามที่จะขยายไปสู่การออกแบบชิปและการผลิตชิปหากเป็นไปได้ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน จึงได้สร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมเวียดนาม

ที่มา : https://www.straitstimes.com/business/nvidia-ceo-aims-to-set-up-a-base-in-vietnam

‘อินเทล’ ระงับแผนการผลิตชิปในเวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าบริษัทอินเทล (Intel) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นแผนที่จะเพิ่มขนาดของการดำเนินธุรกิจได้เกือบ 2 เท่า โดยการระงับการลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศที่ตั้งเป้าหมายที่มีความต้องการในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก ทั้งนี้ โรงงานผลิตของบริษัทในเมืองโฮจิมินห์ มีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปิดเมื่อปี 2010 ถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการประกอบ บรรจุภัณฑ์และการทดสอบ รวมถึงโรงงานแห่งนี้ยังมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 2,800 คน และส่งออกสินค้าของบริษัทมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลาของการดำเนินงาน 15 ปี นอกจากนี้ ในอีกประเด็นข้อกังวล คือ ระบบราชการที่เคร่งครัดของเวียดนามที่เป็นปัญหาของธุรกิจต่างชาติ

ที่มา : https://thediplomat.com/2023/11/intel-backs-out-of-planned-vietnam-chip-expansion-report-claims/

‘สื่อนอก’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศเอเชีย ไทมส์ (Asia Times) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ ‘เสือเศรษฐกิจเวียดนาม’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากบทความชี้ให้เห็นว่าอันดับการค้าของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ได้ก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเวียดนามส่งเสริมการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิเช่น ‘Apple’ ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนาม และบริษัทอัมกอร์ เทคโนโลยี ของสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-fastest-growing-economies-asia-times-2210814.html

‘นายกฯ เวียดนาม’ ชวนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 โดยมีนายมาร์ค แนปเปอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม และจอห์น นิวฟ์เฟอร์ ประธานและซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ (SIA) เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ นักธุรกิจสหรัฐฯ ยกย่องศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ซึ่งมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีการส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจในประเทศและสถาบันฝึกอบรม อีกทั้ง นายกฯ เวียดนาม เชิญชวนให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การออกแบบ การผลิต การฝึกอบรมกำลังคนและสถาบันวิจัย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-calls-on-us-semiconductor-firms-to-invest-more-in-vietnam/268253.vnp

สหรัฐฯ-เวียดนาม ยกระดับข้อตกลงการค้า ขยายขอบเขตความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวานนี้ (10 ก.ย.) ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ก่อนบรรลุข้อตกลงกับเวียดนาม เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์และแร่ธาตุ พร้อมขยายขอบเขตความสัมพันธ์สู่สถานะทางการทูตสูงสุด ในระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ควบคู่ไปกับจีนและรัสเซีย

ที่มา : https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=RTdTL3ZRaVR4TWs9

ผู้ผลิตชิป-บ.เทคโนโลยีสหรัฐ ส่งตัวแทนประชุมที่เวียดนามพรุ่งนี้ สะท้อนเวียดนามยังเนื้อหอม

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐ ได้แก่ กูเกิล อินเทล โบอิ้ง ไปจนถึงโกลบอลฟาวน์ดรีส์ (GlobalFoundries) แอมคอร์ (Amkor) และมาร์เวลล์ (Marvell) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เตรียมเข้าร่วมการประชุมทางธุรกิจที่กรุงฮานอยของเวียดนามในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เยือนเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/333384

ตลาดรถยนต์เวียดนาม เม.ย. เติบโตต่อเนื่อง

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) รายงานว่าในเดือนเม.ย. มียอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 42,359 คัน เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเดือนที่สองติดต่อกันของปีนี้ที่ยอดขายรถยนต์เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เดือนเม.ย. ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 33,588 คัน ในขณะที่ รถเชิงพาณิชย์มีจำนวน 7,795 คัน และรถที่มีวัตถุประสงค์พิเศษมีจำนวน 776 คัน นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ที่ประกอบในประเทศและรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ (CBU) มีจำนวน 25,269 และ 17,090 คัน เพิ่มขึ้น 16% และ 13% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังคงเผชิญวิกฤตเซมิคอนดักเตอร์ การขาดแคลนชิปและส่วนประกอบทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์อย่างมากและทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์ในบางรุ่นได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1192293/domestic-car-market-maintains-sale-growth-in-april.html

สรท.มั่นใจส่งออก Q1/65 โต 5% แม้ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มั่นใจภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 5% และคงคาดการณ์ภาวะการส่งออกทั้งปี 65 โต 5-8% จากปี 64 ที่มีมูลค่า 271,314 ล้านดอลลาร์

ขณะที่มีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1) ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติและถ่านหินน้ำมัน ในยุโรปและของโลกเพิ่มสูงขึ้น

2) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว

3) ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ

4) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

5) หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ (เฉพาะผู้ที่เดินทางในประเทศและมาจากออสเตรเลีย) ขณะที่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เหลืออยู่

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2022/171990