‘เวียดนาม’ กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2036

จากรายงาน World Economic League Table 2022 ของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) เปิดเผยว่าเวียดนามจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลก โดยที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามนั้น เกิดขึ้นจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Doi Moi” ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 และกระแสการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตเชิงบวก ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว และผลักดันจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับต่ำ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามใช้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2021 – 2025 โดยมุ่งส่งเสริมการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานของโลก ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือทางการค้าและการกระจายการส่งออก

ที่มา : https://www.nationthailand.com/blogs/news/asean/40049395

นายกฯ กัมพูชา ระบุ! การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนและการสร้างงาน

นายกฯ ฮุน มาแณต กล่าวว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงสร้างงานให้ประชาชน โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างวันครบรอบ 139 ปี วันแรงงานสากล ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางสังคม โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 นายกฯ ได้เปิดเผยว่า สภาส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจแห่งกัมพูชา (CDC) ได้รับจดทะเบียนโครงการลงทุนทั้งหมด 172 โครงการ มูลค่ารวม 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานกว่า 120,000 อัตรา นอกจากนี้ เขายังขอให้เจ้าของกิจการ สถานประกอบการ แรงงาน และองค์กรวิชาชีพ ยึดมั่นกฎหมายและมาตรฐานทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุน และสร้างโอกาสงานที่มีคุณค่า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501675478/pm-says-economic-recovery-key-to-investment-job-growth/

‘ธนาคารโลก’ หั่น GDP เวียดนามปี 68 โตลดลง 5.8%

ธนาคารโลก (WB) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเวียดนามในปี 2568 เหลือโต 5.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 6.8% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ขยายตัว 4% ก็ตาม

ทั้งนี้ จากรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากเศรษฐกิจในปี 2566 อยู่ในภาวะซบเซา และกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2567 จากแรงหนุนทางด้านอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 15.5% รวมถึงภาคอสังหาฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบลงทุน ความผันผวนของการค้าโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนของนโยบาย เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/wb-revises-down-vietnams-2025-gdp-forecast-to-5-8/

‘เวียดนาม’ เดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรี และท่าเรือปลอดภาษี

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTZs) ในภูมิภาคเศรษฐกิจ และทำการศึกษาท่าเรือปลอดภาษี ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุน พร้อมกับตั้งเป้าให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกันยังช่วยให้เวียดนามยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการค้าและโลจิสติกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-strives-to-build-free-trade-zones-and-duty-free-ports-post318133.vnp

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 8% แม้หวั่นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

รัฐบาลเวียดนามยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่ 8% ในปี 2568 ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่มองเศรษฐกิจในเชิงบวก แต่เวียดนามมีความพร้อมในการรับมือจากปัจจัยภายนอกผ่านการประสานนโยบายและนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น ข้อพิพาททางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และเวียดนามยังคงต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะแรงกดดันภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลได้เรียกร้องให้กระทรวง ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือกับความท้าทายอย่างตรงไปตรงมา และคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-stays-on-course-for-8-growth-despite-tariff-risks-post317714.vnp

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 1/2568 โตชะลอที่ 6.93%YoY คาด Reciprocal Tariffs กระทบเชิงลบต่อ GDP 1.5% แต่มีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ สำเร็จ

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2568 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.93%YoY ชะลอจากไตรมาสที่ 4/2567 ที่ 7.55%YoY เนื่องจากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นถึง 16.9%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น หลังพายุไต้ฝุ่นยางิสร้างความเสียหายให้กับฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม

เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตรา 46% และเสี่ยงส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP สูงถึง 1.5%จากการที่เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ

ในเบื้องต้น Reciprocal Tariffs คาดส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตชะลอลงมาที่ 5.3% แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4144-KR-08-04-2025.aspx

‘ภาษีสหรัฐฯ’ กระทบส่งออกหนัก กดดันเศรษฐกิจเวียดนาม

บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้นำทางธุรกิจ แสดงความกังวลกับการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอัตราภาษีในอัตรา 46% กับสินค้าเวียดนาม เริ่มมีผลวันที่ 9 เมษายน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ไมเคิล โคคาลารี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของวินาแคปปิตอล (VinaCapital) กล่าวว่าการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้ ‘เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง’ และจากการวิเคราะห์ แสดงให้เห็นว่าการขึ้นภาษีดังกล่าว ทำให้การบรรลุเป้าหมาย GDP ของเวียดนาม ขยายตัว 8% ในปีนี้ เป็นเรื่องที่ยาก

ในขณะที่นายฝ่าม ซาน ห่ง (Pham Xuan Hong) ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมนี้ โดยสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน เสียอัตราภาษี 16% หากมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 46% ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ทางสมาคมฯ หวังว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แข็งแกร่งและความพยายามในการเจรจาของรัฐบาลเวียดนาม จะช่วยลดอัตราภาษีที่เสนอขึ้นได้ ในระหว่างนี้ ธุรกิจต่างๆ จะใช้กลยุทธ์การการกระจายตลาด เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1695360/us-tariffs-threaten-viet-nam-s-exports-economic-growth.html

ธุรกิจเวียดนามในเมียนมา รับศึกหนัก! หลังรับแรงกระแทกจากแผ่นดินไหว

สำนักงานการค้าเวียดนามในเมียนมา รายงานว่าแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 7.7 ริกเตอร์ ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม กิจการและบริษัทต่างๆ ของเวียดนาม ทั้งหมดปลอดภัย แต่กิจกรรมการค้ายังคงเผชิญกับอุปสรรคหลากประการ ทั้งนี้ คุณเหงียน เซือง เกียน (Nguyen Duong Kien) ที่ปรึกษาด้านการค้าของสำนักงานการค้าเวียดนามในเมียนมา กล่าวว่าความเสียหายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กำแพงถล่ม และไฟฟ้าดับ ส่งผลต่อระบบโทรคมนาคม ซึ่งสร้างอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเมียนมา มีความเปราะบางจากความขัดแย้งภายในประเทศ รวมถึงปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ทำให้ธุรกิจต่างๆ จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าที่มีราคาแพง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-companies-in-myanmar-face-more-challenges-after-earthquake-post312531.vnp

‘สื่อนิวซีแลนด์’ ชี้เศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ข่าวนิวซีแลนด์ ‘rnz.co.nz’ เผยแพร่บทความที่ระบุว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและนิวซีแลนด์ อยู่ที่ 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีอัตราการเติบโต 40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากบทความดังกล่าว ระบุว่า คุณนิโคลา กริกก์ (Nicola Grigg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุนของนิวซีแลนด์ กล่าวต่อรัฐสภาว่าเมื่อเวียดนามมีศักยภาพหรือฐานะรายได้ที่มากขึ้น มีผลทำให้ชาวเวียดนามต้องการซื้อสินค้าคุณภาพสูงจากทั่วโลก ในขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์มีความพร้อมที่จะตอบสนองกับความต้องการดังกล่าว ทั้งผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริษัทนวัตกรรมระดับโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-fastest-growing-economy-in-southeast-asia-new-zealand-news-site-post312276.vnp

‘เวียดนาม’ เดินหน้าลงทุนทางด่วน 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงการก่อสร้าง (Ministry of Construction) ยื่นเสนอโครงการลงทุนขยายทางด่วนสายเหนือ-ใต้ รวมระยะทาง 1,144 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแผนโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาในปี 2560-2563 และปี 2564-2568 ในขณะที่ทางด่วนสายเหนือ-ใต้ (ส่วนตะวันออก) ระยะทาง 2,063 กิโลเมตร จากประตูชายแดนฮู้หง่ (Huu Nghi) ในจังหวัดหลั่งเซิน (Lang Son) และจังหวัดก่าเมา (Ca Mau)

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้เหตุผลในการขยายทางด่วนสายเหนือ-ใต้ (ส่วนตะวันออก) เนื่องจากการขยายทางด่วนมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 10% ต่อปี รวมถึงการยกระดับทางด่วนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการจราจร และเป็นการพัฒนาทางด่วนให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด่วนแห่งชาติ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/6-4-billion-proposal-to-boost-vietnam-s-expressway-infrastructure-2384449.html