รัฐบาลกัมพูชาขยายมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานต่อไปอีก 3 เดือน

รัฐบาลได้ขยายมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ การท่องเที่ยวและการบินจนถึงสิ้นปี 2020 โดยถือเป็นการออกมาตรการเป็นรอบที่ 6 ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงิน 40 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับคนงานที่ถูกปลดออกจากงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง และการท่องเที่ยวไปอีกสามเดือนจนถึงสิ้นปี 2020 อย่างไรก็ตามเจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะต้องเพิ่มเงินอีก 30 ดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคแรงงาน และรัฐบาลยังคงยกเว้นการจ่ายภาษีรายเดือนในทุกประเภทสำหรับโรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหารและตัวแทนการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนกับแผนกจัดเก็บภาษีและดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าแม้ว่าความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเพียงใด เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดและช่วยเหลือในหลายด้าน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50768727/govt-extends-support-measures-for-3-months/

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) สร้างโซนนานาชาติภายใต้แนวคิด “วิน-วิน”

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) กล่าวว่าจะยังคงเร่งโครงการภายใต้แนวคิด “วิน-วิน” เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการระหว่างประเทศเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น สร้างการพัฒนาในท้องถิ่นและการพัฒนาสังคม ซึ่งได้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันกับจีน ภายใต้แนวคิด “วิน-วิน” เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก สนับสนุนการผลิต และการดำรงชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการบริการระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่สมบูรณ์แบบสำหรับองค์กรจากทั่วทุกมุมโลก โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งจำนวนการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมอยู่ที่ 951 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.13 จาก 754 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50768708/ssez-to-build-an-international-zone-with-win-win-concept/

กัมพูชาพร้อมเจรจาเพิ่มเติมด้านก๊าซกับไทย

กระทรวงการเหมืองแร่และพลังงานระบุว่าพร้อมที่จะกลับมาหารือกับไทยเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ในอ่าวไทย โดยอธิบดีกระทรวงพลังงานกล่าวว่ากระทรวงกำลังรอคำตอบจากประเทศไทยเพื่อดำเนินการเจรจาต่อไปเนื่องจากพยายามเร่งกระบวนการให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ณ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือและหาข้อยุติในข้อพิพาท OCA ระหว่างกัมพูชาและไทยต่อไป ซึ่งสิทธิในการพัฒนา OCA 26,000 ตารางกิโลเมตร คาบเกี่ยวระหว่างกัมพูชาและพรมแดนของอ่าวไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 โดยคาดว่า OCA จะมีน้ำมันและก๊าซมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

ที่มา : https://www.nationthailand.com/news/30395298

ความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจกัมพูชา

ธนาคารโลกคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัวลงอย่างมากถึงลบร้อยละ 2 ในปีนี้ ทั้งแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกัมพูชาควบคู่ไปกับการจ้างงานภายในประเทศที่ต่ำลง ส่งผลไปถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ลดลงสู่การบริโภคภายในประเทศที่ลดลง โดยกัมพูชายังมีความเสี่ยงด้านลบรวมถึงการระบาดของโควิด-19 ในท้องถิ่นที่ยังไม่จบลงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากเป็นเวลานาน รวมทั้งความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก โดยเศรษฐกิจของกัมพูชามีตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโลกที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ในแง่บวกธนาคารโลกกล่าวว่าอุปสงค์ในประเทศของกัมพูชาจะค่อยๆกลับมารวมทั้งมีแนวโน้มที่ดีจากการเจรจาการค้าทวิภาคีในปัจจุบัน โดยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2021 และร้อยละ 5.2 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50767885/uncertainty-remains-over-economic-outlook/

ข้อมูลด้านค่าครองชีพภายในประเทศกัมพูชาขัดกับความเชื่อมั่นในท้องถิ่น

แรงงานในพื้นที่กล่าวว่ากำลังประสบกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต่างจากรายงานด้านราคาสินค้าจำพวกอาหาร ค่าขนส่ง และค่ารักษาพยาบาล ที่มีรายงานว่ายังคงมีเสถียรภาพ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 2 ต่อปีจนถึงปี 2022 เช่นเดียวกับรายงานราคาอาหารล่าสุดของ World Food Programme สรุปว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 ถึงเดือนสิงหาคม 2020 ในกัมพูชาราคาอาหารยังคงค่อนข้างคงที่สำหรับสินค้าอาหารหลักส่วนใหญ่ ซึ่ง COVID-19 และผลจากการเลิกจ้างแรงงานในหลายภาคส่วนส่งผลทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลงร่วมด้วย โดยนักวิเคราะห์เศรษฐกิจกล่าวว่าระดับเงินเฟ้อควรอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0 ถึง 5 และควรอยู่ในช่วงร้อยละ 2 ถึง 3 ดังนั้นค่าครองชีพในกัมพูชายังคงอยู่ภายใต้การควบคุม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50767708/cost-of-living-data-goes-against-local-sentiment/

แบงค์ชาติกัมพูชาสนับสนุนการใช้สกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชากล่าวว่ากัมพูชาต้องการพัฒนาส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและการเงินต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยผู้ว่าการกล่าวสุนทรพจน์ในงานครบรอบ 40 ปีของการเปิดตัวสกุลเงินเรียลที่จัดขึ้นในพนมเปญ ซึ่งเขาเสริมว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและการเงินของกัมพูชายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยผู้ว่าอยากให้พิจารณาถึงความสำคัญของเงินเรียล (KHR) ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในกลยุทธ์การพัฒนาภาคการเงิน เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รวมถึงกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการปรับปรุงการใช้สกุลเงินเรียลอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการธนบัตรเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50767469/nbc-makes-argument-for-more-use-of-riels/