‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ขยายตัวต่อเนื่อง

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.3 ในเดือน ม.ค. และยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 50.0 นับเป็นการเติบโต 2 เดือนติดต่อกัน และจากรายงานแสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ยังคงลดต้นทุนด้านการจัดซื้ออย่างต่อเนื่องและหันมาใช้สินค้าคงคลัง เพื่อรองรับกับผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อแทน ในขณะเดียวกัน ธุรกิจต่างๆ ปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องมาจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งนี้ ยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นสองเดือนติดต่อกัน โดยกลุ่มตัวอย่างบางรายได้รับคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศมากขึ้น แต่ว่าอัตราของคำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1651266/manufacturing-sector-continues-to-grow-business-sentiment-at-one-year-high-pmi.html

สปป.ลาว เสนอขายไฟฟ้าพลังงานลมกว่า 4,000 เมกะวัตต์ ให้เวียดนาม

ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมใน สปป.ลาว จะถูกส่งขายไปยังเวียดนามผ่านสายส่งของจังหวัดก๋วงตริ นักลงทุนลาววางแผนที่จะเสนอพลังงานลมมากกว่า 682 เมกะวัตต์ก่อนปี 2568 และส่วนที่เหลือจะส่งมอบในภายหลัง แม้จะมีข้อเสนอดังกล่าว แต่โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในพื้นที่อาจจำกัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายได้ ในช่วงฤดูแล้งและช่วงเวลาอื่นๆ โดยทั่วไปจังหวัดก๋วงตริของเวียดนามสามารถรองรับไฟฟ้าได้สูงสุด 300 MV เท่านั้น เนื่องจากการทำงานเต็มกำลังการผลิตคือ 200 กิโลโวลต์ (KV) และ 110 KV ในพื้นที่ EVN ระบุว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน จังหวัดก๋วงตริสามารถรองรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้เพียง 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งน้อยกว่าที่นักลงทุนลาวตั้งเป้าที่จะขายอย่างมาก

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/03/01/laos-proposes-selling-over-4000-mw-of-wind-power-to-vietnam/

ทุเรียนกลายเป็น ‘ผลไม้ทอง’ ส่งออกของเวียดนาม

จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 110,000 เฮคเตอร์ และผลผลิตประมาณ 850,000 ตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ราบสูงตอนกลาง คิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของพื้นที่ทั้งหมด และสาเหตุที่ทำให้เวียดนามผลักดันการส่งออกทุเรียน เนื่องมาจากมีความได้เปรียบทางด้านการตั้งราคาขายสูงและความต้องการนำเข้าของตลาดต่างประเทศ ทำให้ทุเรียนเวียดนามกลายมาเป็นผลไม้สำคัญเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปี

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นว่าทุเรียนของเวียดนามส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดจีน มีสัดส่วนกว่า 99% ของการส่งออกผลไม้รวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1651246/durian-emerging-as-golden-fruit-among-viet-nam-s-exports.html

‘FDI’ ไหลเข้าเวียดนาม ช่วง 2 เดือนแรก พุ่ง 39%

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 4.29 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียน มีจำนวน 405 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่โครงการที่มีการปรับทุน มีจำนวน 159 โครงการ มูลค่ารวมที่ 442.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการจัดสรรเงินทุนและการซื้อหุ้น ลดลง 68% เหลืออยู่ที่ 255.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ฮานอยเป็นเมืองที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่ากว่า 914.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใกญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าการลงทุนมากกว่า 2.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาฮ่องกง ญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-fdi-inflow-surges-nearly-39-in-two-months/280102.vnp

‘เวียดนาม’ เตรียมต้อนรับอาคารสำนักงาน อุปทานใหม่พุ่ง

คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ (Cushman & Wakefield) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2567 เปิดเผยว่าอุปทานพื้นที่สำนักงานใหม่ในเมืองฮานอย อยู่ที่ 80,700 ตารางเมตร ในปี 2567 และที่ตั้งของสำนักงานส่วนใหญ่อยู่ในใจกลางเมือง ในขณะที่เมืองโฮจิมินห์ คาดว่าจะมีอุปทานใหม่เกรด A อยู่ในย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีการเปิด 3 โครงการในปี 2567-2568 ด้วยพื้นที่สำนักงานระดับพรีเมียม 118,700 ตารางเมตร นอกจากนี้ ความไม่มั่งคงทางด้านเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการสำนักงานในเมืองโฮจิมินห์ เนื่องจากผู้เช่ามีความกังวลในเรื่องของภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-welcome-large-amount-of-new-office-supply-cushman-wakefield/280094.vnp

‘เวียดนาม’ ชี้คำสั่งซื้อเริ่มกลับมาฟื้นตัว

บริษัท เอบีบี ฮาร์เวสท์ แพคเกจจิ่ง เปิดเผยว่าคนงานจำนวน 400 คน เริ่มกลับมาทำงานในโรงงานแล้ว เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ และบริษัทต้องจัดส่งมอบในเดือน มี.ค. และ เม.ย. นอกจากนี้ ธุรกิจหลายแห่งมีการลงทุนเชิงรุกมากขึ้นและปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน โรงงานปั้นด้ายแห่งหนึ่งในเกาะฟู้โกว๊ก จังหวัดเกียนซาง ได้มีการปรับปรังโครงสร้างธุรกิจและการพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงกลางเดือน ก.พ. การค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 84.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออก มูลค่า 44.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/export-orders-spring-back/280037.vnp

‘ผู้ประกอบการเวียดนาม’ แนะใช้ประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่อุปทาน

คุณ Phùng Anh Tuấn รองผู้อำนวยการของบริษัท Manutronic Vietnam JSC กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้บริษัทและกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในเวียดนาม มีโอกาสที่จะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก และขยายกิจการทั้งการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างแรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เนื่องมาจากกฎระเบียบและข้อบังคับต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงของพันธมิตรทางธุรกิจ

ในขณะที่คุณ Trâong Thị Chí Bình รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนเวียดนาม (VASI) กล่าวว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และดำเนินกิจการจากการจัดหาส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าไฮเทค เช่น รถยนต์และเครื่องบิน จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการในระยะยาว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650949/vietnamese-businesses-suggested-taking-advantage-of-global-supply-chain-shifts.html