กัมพูชาตั้งเป้า ดึงทุนจีนพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์

ประธานสมาคมผู้ประเมินราคาและตัวแทนอสังหาริมทรัพย์แห่งกัมพูชา (CVEA) กล่าวว่า นักลงทุนชาวจีนกำลังมองหาการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในจังหวัดพระสีหนุ พนมเปญ และจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีการวางแผนจัดตั้งโครงการการลงทุนเพิ่มเติมภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในจีนยังไม่ดีขึ้นมากนัก ซึ่งประธาน CVEA ย้ำว่าหากพิจารณาจากสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในตลาดกัมพูชา พบว่าปัจจุบันมีการเข้าซื้อที่ดิน และคอนโดมิเนียม เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนในท้องถิ่น ในขณะที่ตั้งแต่กัมพูชาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การลงทุนของจีนในภาคการก่อสร้างลดลงกว่าร้อยละ 50 จึงทำให้ทางการกัมพูชาวางแผนที่จะเร่งดึงดูดนักลงทุนจากจีนกลับมาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501076977/cambodias-real-estate-sector-main-target-for-chinese-investment/

เมียนมาส่งออกอ้อยกว่า 50,000 ตัน ไปจีนผ่านชายแดนรุ่ยลี่

รถบรรทุกอ้อยทั้งหมด 7 คัน บรรทุกอ้อยกว่า 50,000 ตัน ไปจีนผ่านเขตการค้ามูเซ 105 ไมล์ เข้าสู่ชายแดนรุ่ยลี่ ทั้งนี้จีนได้สร้างถนนเส้นใหม่สำหรับรถบรรทุกอ้อย ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง  โดยการส่งออกอ้อยภายในหนึ่งเดือนผ่านชายแดนรุ่ยลี่หลังจากกลับมาเปิดชายแดนอีกครั้ง มีปริมาณอ้อยทั้งหมด 5,440 ตัน (2.448502 ล้านหยวน)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-50000-tonnes-of-sugarcane-exported-to-china-via-ruili/#article-title

เมียนมา เร่งส่งออกมะม่วง Sein ta lone จากเมืองกั่นบะลู ไปยังจีน

มะม่วงสายพันธุ์ Sein Ta Lone หรือหรือมะม่วงเพชรน้ำหนึ่งของเมียนมา ที่ปลูกในเขตเกษตรกรรมพิเศษ ในจังหวัดกั่นบะลู เขตซะไกง์ ได้ส่งออกไปยังจีนผ่านด่านชายแดนมูเซ สำหรับราคาในตลาดจีน อยู่ที่ประมาณ 90-100 หยวนต่อตะกร้า (ขนาด 16 กก). ราคาอาจพุ่งสูงถึง 120 หยวน ปัจจุบันราคาอาจปรับตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด กรมวิชาการเกษตรเขตซะไกง์กำหนดให้พื้นที่ 2,500 เอเคอร์ในจังหวัดกั่นบะลู เป็นเขตเกษตรกรรมพิเศษสำหรับการปลูกมะม่วง Seintalone ซึ่งอุปสรรคทางการค้าคือค่าขนส่งที่สูงจากการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น มาตรการป้องกัน COVID-19 มีส่วนให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยมะม่วง Seintalone อายุ 5 ปี ออกผลผลิตได้ 20-30 ลูกต่อต้น ถ้าอายุมากกว่า 10 ปี จะออกผลผลิตได้ประมาณ 70-80 ลูกต่อต้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/seintalone-mango-from-kanbalu-district-to-be-shipped-to-china/#article-title

Q1/2022 กัมพูชาส่งออกไปยัง เวียดนาม จีน และไทย เป็นสำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RECP มีมูลค่าแตะ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่า 759 ล้านดอลลาร์, ไปยังจีน 322 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังไทยมูลค่าแตะ 318 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501068941/cambodias-top-export-destinations-in-q1-2022-vietnam-china-and-thailand/

ปี 64 จีนนำโด่ง FDI ในกัมพูชา

ปี 2564 ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นแม้จะมีการระบาดของ COVID-19 แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต้อกัมพูชา ในขณะที่ประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี ด้านสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เผย ในปี 2564 มีการลงทุนในภาคเอกชนใหม่ มูลค่า 4,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ลดลง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนมียอดการลงทุนรวม 2,326 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามียอดการลงทุน 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ หอการค้ากัมพูชา คาดว่าจะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและเกาหลีใต้

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501068035/china-remains-top-in-kingdoms-fdi-last-year/

เมียนมาผ่อนผันคำสั่งแปลงสกุลเงินให้ผู้ค้าที่ชายแดนจีน-ไทย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้ขยายระยะเวลาบังคับแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินจัตสำหรับผู้ส่งออกที่ทำการค้าที่ชายแดนกับจีนและไทย โดยผู้ส่งออกที่ซื้อขายภายใต้โครงการการค้าชายแดนจีน-เมียนมา และไทย-เมียนมา ไม่จำเป็นต้องแปลงรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินจัตภายในหนึ่งวันทำการอีกต่อไป และอนุญาตแปลงรายได้ของตนเองที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาเป็นเงินจัตได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยังมีคำสั่งให้ธนาคารตัวแทนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการตรวจสอบการบังคับนำรายได้ของผู้ส่งออกเข้าบัญชีธนาคารของรัฐสำหรับรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถชำระเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศกับธนาคารที่กำหนด โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ.

ที่มา: https://english.news.cn/20220428/c939e28c2cdf49dab0f244300c49df72/c.html

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี 65

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ ว่าการลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็น มินิเอฟทีเอ (Mini FTA) ฉบับที่ 2 ที่ไทยได้มีการลงนามกับมณฑลในจีน และถือเป็นฉบับที่ 4 ที่ได้ลงนามกับคู่ค้า โดยได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และเพิ่มยอดการค้าในปี 2565 เป็น 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยมณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1001355

RCEP โอกาสการค้า กัมพูชา-จีน และกลุ่มประเทศสมาชิก

หลังความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2022 ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชาและประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้เกิดการเร่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่ง RCEP ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน โดยจีนถือเป็นส่วนสำคัญในข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งปัจจุบันการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอีก 14 ประเทศขยายตัวถึงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นมูลค่า 442.75 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 คิดเป็นร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าทั้งหมดของปีก่อน ข้อมูลจากกระทรวงศุลกากรจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501063032/rosy-prospects-ahead-for-economic-ties-between-china-other-rcep-members/

ข่าวดี สปป.ลาว ไฟเขียว หลัง “จุรินทร์” เจรจา เพิ่มรถหัวลาก-เปิดด่าน 24 ชม.ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือกับ ดร.คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน โดยในปี 2564 สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทยในอาเซียน ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่า 229,572 ล้านบาท +15% และได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าร่วมกัน ในปี 2568 มูลค่า 363,000 ล้านบาท ซึ่ง 93.5% ของตัวเลขการค้าระหว่างกันทั้งหมดเป็นการค้าชายแดน คิดเป็นมูลค่า 214,814 ล้านบาท +13.17 % ซึ่งมูลค้าการค้าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากด่านชายแดนไทยกับ สปป.ลาว ได้เปิดการค้าระหว่างกัน ปัจจุบันเปิดแล้ว 12 ด่าน และกำลังดำเนินการในการเปิดด่านเพิ่ม

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_6972859

จีนให้คำมั่น เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากัมพูชา

จีนแสดงความมุ่งมั่นที่จะนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ จากกัมพูชามากขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยวางแผนนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 39 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.51 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกัมพูชา โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2022 การส่งออกข้าวของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 103,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045760/china-vows-to-increase-import-of-cambodian-agricultural-products/