‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จากการแถลงข่าวที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวชื่นชมถึงความคืบหน้าในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่สร้างมูลค่าสูงถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ อาทิเช่น พลังงาน ความร่วมมือทางชายแดน การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อีกทั้ง เหตุจากสปป.ลาว เป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงมุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาพลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำและถ่านหิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238354/cambodia-laos-to-deepen-economic-cooperation/

“ศก.เวียดนาม” กลับสู่ภาวะปกติในปี 2566

นาย Michael Kokalari หัวหน้าบรรดาผู้เชี่ยวชาญของกองทุนลงทุน “VinaCapital” กล่าวว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตในระยะยาว ประกอบกับการเปิดประเทศของเวียดนาม หลังโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว อีกทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว ลดลงมาอยู่ที่ 6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามสินค้าที่ทำมาจากเวียดนาม (Made in Vietnam) จากผู้บริโภคในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่องในเวียดนาม โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆนี้ จีนกลับมาเปิดประเทศ และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-normalise-this-year-vinacapital-post1000426.vov

“HSBC” ชี้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ศก.เวียดนามเติบโต ปี 66

ธนาคาร HSBC ได้ประกาศรายงาน “Vietnam at a glance” เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ระบุว่าในเดือน ม.ค. เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายทั้งการค้าและแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการค้าจะชะลอตัว แต่เศรษฐกิจเวียดนามยืดหยุ่นรองรับวิกฤตได้ดี รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในปีนี้ โดยหลังจากเวียดนามเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มากกว่า 100 ล้านคน ในปี 2565 ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้การท่องเที่ยว และกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังโควิด-19 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 3.6 ล้านคน เป็นสัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 20% ของระดับปี 2562

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/tourism-a-source-of-growth-in-vietnam-for-2023-hsbc-post1000194.vov

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/

‘อาเซียน’ เปิดฉากถกประเด็นด้านเศรษฐกิจ เร่งดันกฎระเบียบเอื้อเปิดเสรีภาคบริการ เล็งจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ

‘อาเซียน’ ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) อย่างเป็นทางการครั้งแรก ถกประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งผลักดันทำกรอบอำนวยความสะดวกด้านบริการ จัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เร่งติดตามความคืบหน้าการอัปเกรด FTA พร้อมคุยญี่ปุ่นหารือแนวทางจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/home

“เวียดนาม” ประกาศลดภาษี VAT เหตุช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจ

กรมจัดเก็บภาษีอากร (GDT) เปิดเผยว่าทางหน่วยงานประสบความสำเร็จในการจัดเก็บงบประมาณรายได้ของรัฐบาล อยู่ที่ 1.692 ล้านล้านดอง หรือคิดประมาณ 20% ของงบประมาณรายได้รวม ซึ่งการจัดเก็บงบประมาณดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานสามารถจัดเก็บรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากกว่า 85% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง ประมาณ 18% ของ GDP ส่งผลให้ธุรกิจ ประชาชนและเศรษฐกิจ เผชิญกับความยากลำบากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเวียดนามจึงดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2% หรือประมาณ 51.4 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vat-reduction-helps-economic-recovery-2101467.html

FDI ในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยกว่า 8.1% ในช่วงปี 2017-2021

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ภายในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี ในช่วงปี 2017-2021 ตามรายงานแนวโน้มด้านการค้าและการลงทุนเอเชียแปซิฟิกปี 2022-2023 โดยในปี 2021 ปริมาณ FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 แต่ถึงอย่างไรต้นทุนการดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาก็ยังต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก-3 อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2020 ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 96.4 ของมูลค่าสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป-3 (เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก-4 (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และสหพันธรัฐรัสเซีย) ที่มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 104.2 และ 145.4 ของมูลค่าสินค้า ตามลำดับ โดยในปี 2021 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชายังคงเป็นจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การนำเข้าจากจีนของกัมพูชามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 33.8 ของการนำเข้าทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224868/average-annual-fdi-inflow-growth-of-8-1-in-cambodia-from-2017-to-2021/

ในช่วง 10 ปี สถานประกอบการกัมพูชาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 50%

ปัจจุบันกัมพูชามีสถานประกอบการแตะ 753,670 แห่ง สร้างการจ้างงานภายในประเทศกว่า 2.98 ล้านคน โดยผลสำรวจเบื้องต้นมาจากการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจ ประจำปี 2022 ซึ่งจำนวนสถานประกอบการธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 50 จากจำนวน 505,134 แห่ง เมื่อเทียบกับการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจครั้งแรกในปี 2011 ที่มีการจ้างงานที่จำนวน 1.67 ล้านคน ขณะที่ Chhay Than รัฐมนตรีกระทรวงแผนการ กล่าวเสริมว่า การสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจในปัจจุบันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกัมพูชา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานบริหารต่างๆ เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายในการผลักดันผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการรวมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501222359/cambodias-business-establishments-increase-50-pct-in-10-years/

สื่ออินเดีย ชี้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของเอเชีย

บทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ “THE STAT READE TIMES” เปิดเผยว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและเครื่องแต่งกาย โดยบทความข้างต้นระบุว่าบางประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ เร่งขยายตัว 8.02% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้ง เวียดนามมีแรงงานที่สามารถแข่งขันได้และต้นทุนการผลิตต่ำ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาว จำนวน 97 ล้านคน โดยสัดส่วนประชากร 70% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกำลังแรงงานจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/indian-newspaper-vietnam-could-be-asias-next-industrial-hotspot-post121907.html

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงกัมพูชาจะยังคงอยู่ในความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกันทางการกลับประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดย Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการของ Chinese Academy of Sciences of the Royal Academy of Cambodia ในขณะที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณร้อย 6 ในปี 2023 โดยนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 6 ประการ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ การกลับมาของการท่องเที่ยว การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ปัจจัยนโยบายการคลังของรัฐ และปัจจัยด้านสถานการณ์ค่าเงินเรียลเทียบกับดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501221877/cambodias-economy-to-grow-despite-volatility-of-covid-19/