Q1/2022 กัมพูชาส่งออกไปยัง เวียดนาม จีน และไทย เป็นสำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RECP มีมูลค่าแตะ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่า 759 ล้านดอลลาร์, ไปยังจีน 322 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังไทยมูลค่าแตะ 318 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501068941/cambodias-top-export-destinations-in-q1-2022-vietnam-china-and-thailand/

กัมพูชาขาดแคลนห้องเย็น กระทบภาคการส่งออกสินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนห้องเย็นสำหรับขนส่งสินค้าเกษตรของกัมพูชา และมาตรการที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญในช่วงโควิด-19 ที่ได้กำหนดข้อจำกัด ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ทำให้เกิดการหยุดชะงักในการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา ซึ่งจากการเจรจากับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่หลายราย การส่งออกที่ลดลงเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการขาดห้องเย็นสำหรับสินค้าเกษตร ที่ส่งผลทำให้ราคาขนส่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อน วิกฤตโควิด-19 โดยในขณะนี้ค่าขนส่งสูงขึ้นกว่า 3 เท่า ด้าน Sin Chanthy ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชากล่าวว่าราคาปกติของการขนส่งไปยังจีนอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน ในขณะที่ค่าขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ดอลลาร์ เป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501065109/cold-storage-shortage-covid-19-hurt-agriculture-exports/

นายกฯ พอใจส่งออกมะม่วงไทยอันดับ 2 ในอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายช่องทางการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมในประเทศคู่เจรจา FTA รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มเติมรูปแบบ ช่องทางของสินค้าในการส่งออก ทั้งในด้านการออกแบบ การแปรรูปสินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่า

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-930848

เมียนมาส่งออก “หมาก” ไปอินเดีย ลดฮวบ

ผู้ค้าหมากชาวเมียนมา เผย การส่งออกหมากของเมียนมาไปยังอินเดียลดลงอย่างมากในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหมากจะถูกส่งออกผ่านเขตย่างกุ้ง พะโค และมัณฑะเลย์ไปยังอินเดีย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและอินเดียลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและผลกระทบของโควิด-19 โดยในปีก่อนสามารถส่งออกได้ประมาณ 400-500 ถุง แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 300 ถุง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 3,600 จัต เป็น 4,500 จัตต่อถุง ปัจจุบันราคาหมากโดยทั่วไปอยู่ที่ 4,300-4,900 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ลดลงเมื่อเทียบกับราคาของปีก่อนที่สูงถึง 5,000-6,000 จัตต่อ viss ขณะเดียวกัน การนำเข้าหมากจากไทยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาลดต่ำลง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-areca-nuts-exports-to-india-plummet/

กัมพูชาส่งออกยางเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2022

กัมพูชาส่งออกยางแห้งจำนวน 61,839 ตัน ในช่วงไตรมาสแรก (Q1) ของปี 2022 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 98.5 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 1.3 จากมูลค่า 99.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของ General Directorate of Rubber ซึ่งปัจจุบันยางแห้งหนึ่งตันมีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,594 ดอลลาร์ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 42 ดอลลาร์ โดยกัมพูชาส่งออกยางแห้งไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์และจีนเป็นหลัก ในแง่ของการผลิตปัจจุบันกัมพูชาเพาะปลูกต้นยางบนพื้นที่ทั้งหมด 404,044 เฮกตาร์ ซึ่งต้นยางบนพื้นที่กว่า 310,193 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 77 สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501059622/cambodias-rubber-export-slightly-up-in-q1-hut-value-drops/

COVID-19 กระทบการส่งออกทองคำเมียนมา

สมาคมผู้ประกอบการทองคำแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง (YGEA) เผย การส่งออกทองคำหยุดชะงักลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมการส่งออกไว้แล้ว เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อ COVID-19  ลดลงอย่างมาก ทำให้การระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.65 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคลายมาตรการการเข้าประเทศ คาดว่าตลาดส่งออกทองคำจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ การโอนเงินระหว่างประเทศในการซื้อขายทองคำที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ระบบ Telegraph Transfer (TT) ทั้งนี้ตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญของเมียนมาคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/covid-19-impacts-stop-gold-exports/#article-title

งบประมาณย่อย 64-65 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 1.4 ล้านตัน

จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) พบว่า เมียนมาส่งมอบข้าวและข้าวหักมากกว่า 1.4 ล้านตัน ไป 27 ประเทศ ในช่วงงบประมาณย่อย (ต.ค. 2564 ถึงมี.ค. 2565) ตลาดหลักของการส่งออกคือ จีน ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ โดยราคาพันธุ์ข้าวขาวเกรดต่ำอยู่ที่ประมาณ 340-355 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและคุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งราคาค่อนข้างต่ำกว่าไทยและเวียดนาม แต่ยังสูงกว่าราคาตลาดของอินเดียและปากีสถาน ปัจจุบันผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ซึ่งการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นผู้ค้าข้าวในเมียนมาที่จะต้องฝากเข้าบัญชีที่ธนาคารที่ได้รับอนุญาตและแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่เรตอ้างอิง คือ 1,850 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบัน ผู้ค้าต้องส่งออกข้าวทางทางทะเลแทนการค้าชายแดน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้เมียนมามีรายได้กว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวในปีงบประมาณ 2562-2563 จากการส่งออกข้าว 2.5 ล้านตัน ส่วนในปีงบประมาณ 2563-2564 มีรายได้กว่า 700.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวและข้าวหัก 1.87 ล้านตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/7-april-2022/#article-title

กัมพูชาส่งออกข้าวมูลค่า 413 ล้านดอลลาร์ ในช่วง Q1/2022

ไตรมาส 1 ปี 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณมากกว่า 170,000 ตัน และข้าวเปลือกอีกกว่า 1.3 ล้านตัน ไปยัง 49 ประเทศ โดยการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงคิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็น 88,646 ตัน มูลค่ารวมกว่า 45.19 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31 หรือคิดเป็น 52,222 ตัน ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 35.95 ล้านดอลลาร์ และกัมพูชาได้ทำการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณเพียง 17,310 ตัน มูลค่ารวม 10.64 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากตลาดดังกล่าวกัมพูชายังได้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไปยังประเทศแอฟริกา โอเชียเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในขณะที่การส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาประเทศเวียดนามถือเป็นตลาดสำคัญ โดยมีการส่งออกไปจำนวน 1.39 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 313 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501053884/more-than-413-million-earned-through-rice-exports-prior-to-end-of-q1/

‘เวียดนาม’ เผย Q1 ปี 65 ส่งออกโต 12.9%

นายโด๋ ทัง ฮ่าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 มีมูลค่า 176.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนจากการส่งออกขยายตัว 12.9% มีมูลค่า 88.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว มีมูลค่าการส่งออก 34.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45.5% เมื่อเทียบรายปี กระทรวงฯ คาดการณ์ว่าภาวการณ์ส่งออกของเวียดนามจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก ตลอดจนผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เวียดนามร่วมลงนามและนโยบายสนับสนุนการส่งออก

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11348002-vietnam%E2%80%99s-exports-in-q1-up-12-9-percent.html

 

3 เดือนแรกของงบประมาณย่อย 64-65 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าวกว่า 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงการวางแผนและการคลังของ เผย เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าวกว่า 233 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของช่วงงบประมาณย่อยของปี 2564-2564 ลดลงกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน (2563-2564) อยู่ที่ 238.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ.2565 เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 100,000 ล้านตันผ่านทางเรือ สร้างรายได้เกือบ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นส่งออกไปยังประเทศในเอเซีย 41,800 ตัน แอฟริกาประมาณ 35,300 ตัน และสหภาพยุโรปอีก 22,300 ตัน ส่วนการส่งออกผ่านชายแดน ได้แก่ จีน11,000 ตัน และบังคลาเทศ 15 ตัน สร้างรายได้กว่า 3.545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุว่าในปีงบประมาณ 2563-2564 การส่งออกข้าวและข้าวหักสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 700.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-over-233-mln-from-rice-export-in-first-half-of-mini-budget-period/#article-title