พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

เมียนมาเปิดด่านทิกิ ด่านมุต่อง กลับมาค้าขายได้ปกติ

ด่านตีกีและด่านมุต่อง ชายแดนเมียนมา-ไทย ได้รับอนุญาตให้เปิดกลับมาค้าขายได้ปกติอีกครั้ง ก่อนหน้สการค้าระหว่างเมียนมาและไทยถูกปิดชั่วคราวเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนจนถึงสิ้นเดือนส.ค.64 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งด่านชายแดนเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตตะนาวศรี สินค้าที่ส่งออกไปยังไทยผ่านชายแดนทั้ง 2 ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบัน รถบรรทุกวิ่งผ่านได้แต่พนักงานขับรถต้องได้รับการตรวจ COVID-19 แล้วเท่านั้น และตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงห้องเย็นต้องดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขของเมียนมา ทั้งนี้ไทยถือเป็นผู้นำดข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายใหญ่ เมื่อปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาส่งสินค้าประมงมูลค่า 318 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังไทย ในขณะที่การส่งออกการประมงรวมอยู่ที่ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/hteekhee-mawtaung-border-crossings-return-to-normal/#article-title

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเยือนอาเซียน เลือกไปเวียดนาม-กัมพูชา-สิงคโปร์ จับตากระชับอิทธิพลจีน

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเลือกไปเวียดนาม-กัมพูชา-สิงคโปร์ ในแผนเยือนอาเซียนสุดสัปดาห์นี้ จับตาเจรจากระชับอิทธิพลจีนในภูมิภาค หลังรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งเยือนสิงคโปร์-เวียดนามเมื่อเดือนที่แล้ว โดยวันที่ 8 ก.ย. 2564 เว็บไซต์ SCMP สื่อภาษาอังกฤษในฮ่องกง รายงานว่า นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ประกาศแผนเดินทางเยือนชาติในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกำหนดเยือนเวียดนามในวันศุกร์นี้ (10 ก.ย.) ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังเลือกเดินทางเยือนกัมพูชาและสิงคโปร์ ก่อนจะจบท้ายด้วยการเยือนเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้า สำหรับประเด็นหารือ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า จะเน้นพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และความร่วมมือในโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทางเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายจับตาการพูดคุยประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังมีปัญหากับเวียดนามและหลายชาติอาเซียน รวมไปถึงสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจมีการพูดคุยกันระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนเกาหลีใต้ด้วย

ที่มา : https://workpointtoday.com/china-asean-trip/

จีนระงับเที่ยวบิน “Cambodia Airways” เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในเที่ยวบิน

หน่วยงานกำกับดูแลการบินพลเรือนของจีนประกาศระงับเที่ยวบินของสายการบิน แคมโบเดีย แอร์เวย์ส หลังผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 โดยการระงับเที่ยวบิน KR961 จากพนมเปญไปยังเฉิงตูจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. หลังจากที่ผู้โดยสาร 5 คน มีผลตรวจเป็นบวกในเที่ยวบินเมื่อวันที่ 4 ส.ค. รายงานโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งตามนโยบายของ CAAC การระงับเที่ยวบินจะใช้เวลาสองสัปดาห์หากตรวจพบผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 ในจำนวนที่กำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50919122/china-suspends-cambodia-airways-flights-over-covid-19-cases/

จีนยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว

จีนยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาว โดยดำเนินโครงการทั้งหมด 813 โครงการ มูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นาย Sonexay Siphandone รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 5 ระหว่างผู้ประกอบการลาวและจีนเมื่อวันศุกร์ว่าจีนยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาว ตามรายงานของ Lao Youth Radio จาก 53 ประเทศที่ลงทุนสปป.ในลาว จีนมีจำนวนการลงทุนมากที่สุด นาย Sonexay Siphandone กล่าวเสริม “เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียง สวนอุตสาหกรรม และโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนของจีนในสปป.ลาว” อีกทั้งการรถไฟสปป.ลาว-จีน ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของสปป.ลาว เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 90 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้

ที่มา : https://laotiantimes.com/2021/08/17/china-remains-the-largest-foreign-investor-in-laos-2/

จีนอนุญาตชาวเมียนมามาเดินทางกลับประเทศ หลังโควิดระบาดซ้ำ

ชาวเมียนมาที่ติด COVID-19 ในเมือง Shweli ของจีน ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ถึง 10 ส.ค. 64 ที่จุดตรวจเข้า-ออกด่านชายแดนมูเซของรัฐฉาน ซึ่งชาวเมียนมาในมณฑลยูนนานถูกผลักดันให้เดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 เนื่องจากการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ของมณฑลยูนนาน ชาวเมียนมาที่ทำงานในเมือง Shweli ชายแดนจีน-เมียนมา มีส่วนผลักดันผลผลิตในประเทศของจีนและสามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในเมียนมา

ที่มา : https://news-eleven.com/article/213811

กัมพูชาส่งออกกล้วยแตะ 2.7 แสนตัน ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.

กัมพูชาส่งออกกล้วยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. ปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2020 โดยการส่งออกกล้วยสดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 270,222 ตัน ซึ่งร้อยละ 40 ถูกส่งออกไปยังประเทศจีน และร้อยละ 11 ถูกส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งการส่งออกกล้วยไปยังจีนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่จีนและกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันไปเมื่อปีที่แล้ว โดยส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของสินค้าเกษตรอื่นๆ ไปยังจีนเพิ่มขึ้นด้วย อาทิเช่น มะม่วง และข้าวสารที่มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นการช่วยชดเชยมูลค่าการส่งออกไปยังยุโรปที่ลดลง โดยภายในประเทศกัมพูชาเพาะปลูกกล้วยชนิดคาเวนดิชเป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกกล้วยมากกว่า 300,000 ตัน สร้างรายได้ให้กัมพูชารวม 450 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50910140/cambodian-banana-exports-reach-270222-tonnes-jan-july/

กัมพูชาส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 27 แต่อุปสงค์จากจีนและเวียดนามกลับเพิ่มขึ้น

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศลดลงร้อยละ 27.3 ในช่วงเดือร ม.ค.-ก.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า การส่งออกลดลงเนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งกัมพูชาส่งออกข้าวสารเกือบ 310,000 ตัน ในช่วงเวลาดังกล่าว สร้างรายได้เกือบ 262 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ผู้ส่งออก 58 ราย โดยจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่ทำการนำเข้าข้าวกัมพูชาในคิดเป็นเกือบ 154,000 ตัน ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามถือเป็นหนึ่งประเทศที่นำเข้าข้าวจากกัมพูชามากที่สุด ซึ่งนำเข้าข้าวมากกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 81 คิดเป็นมูลค่ากว่า 330 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางด้านสหพันธ์ข้าวกัมพูชาได้เรียกประชุมฉุกเฉินเมื่อเดือนที่แล้ว ในการหารือเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้ส่งออกและโรงสี โดยสมาชิกกำลังพยายามหาผู้ซื้อมากขึ้นในจีนและตลาดในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาในการส่งออกข้าวไปยังยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50907302/rice-exports-plunge-27-percent-but-demand-from-china-and-vietnam-rises/

ส่งออกประมงเมียนมาลดฮวบ 606 ล้านดอลลาร์ฯ

กระทรวงพาณิชย์ เผย รายได้จากการส่งออกภาคประมงในช่วงเก้าเดือน (1 ตุลาคม-9 กรกฎาคม) ของปีงบประมาณ 63-64 ลดลงเหลือ 606 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้ว เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และอุปสรรคในการขนส่ง จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของเมียนมาร์ คิดเป็นมูลค่า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ แต่ปัจจุบันได้พื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ภาคประมงต้องพึ่งพาการค้าทางทะเลเท่านั้น สมาพันธ์ประมงแห่งเมียนมา (MFF ) ระบุว่ามีเพียงข้อตกลง G2G เท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหาในการส่งออกได้ ในช่วงปีงบประมาณ 62-63  MFF คาดว่าจะมีรายได้มากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเป้าหมายการส่งออกสินค้า เช่น ปลา กุ้ง และปู ไปยังตลาดใน 40 ประเทศ ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย และประเทศในสหภาพยุโรป ปัจจุบันเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยภาคประมงมีส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หากสามารถส่งเสริมเทคโนโลยีการแปรรูปได้ ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและสร้างรายได้ให้กับผู้มีที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/fishery-exports-plummet-to-606-mln-as-of-9-july/

สปป.ลาวกำลังพึ่งพาจีนมากขึ้นสำหรับโครงการขนส่งที่สำคัญ

โครงการทางหลวงจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนกำลังดำเนินการอยู่ในประเทศลาวเชื่อกันว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน ซึ่งเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงยุโรปทั้งทางบกและทางทะเล แต่ความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนในโครงการอาจทำให้ลาวกลายเป็น “กับดักหนี้” หากไม่สามารถชำระคืนเจ้าหนี้ชาวจีนได้ ถึงแม้สปป.ลาวซุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ปัจจุบันสปป.ลาวกำลังมีโครงการทางด่วน 578 กม. มูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งได้รับการเสนอโดยสถาบัน Henan Provincial Communications Planning and Design Institute ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของจีนที่รู้จักกันในชื่อ HNRBI ทางด่วนใหม่จะลดเวลาการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปยังปากเซลงเสริมความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ในต่างประเทศ 2 เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปทางใต้ ได้แก่ กรุงเทพฯ และศูนย์กลางการค้าของหากโครงการเดินหน้าและแล้วเสร็จจะช่วยให้จีนเข้าถึงคาบสมุทรอินโดจีนได้ง่ายขึ้นรวมถึงสปป.ลาวจะไดเป็นประเทศที่เชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญระดับภูมิภาคยกระดับเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Belt-and-Road/Laos-deepens-reliance-on-China-for-key-transport-projects