นายกฯ สปป.ลาว ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น เน้นความร่วมมือระดับภูมิภาค
การประชุมสุดยอดผู้นำจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น มีความตั้งใจในการทบทวนความร่วมมือในช่วงห้าทศวรรษที่มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยการประชุมได้จัดลำดับความสำคัญของการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่และความร่วมมือที่จับต้องได้ เน้นย้ำความพยายามในการทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทาย ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว มีส่วนร่วมในการอภิปรายทวิภาคีกับผู้นำจากทั่วภูมิภาค ในฐานะที่ สปป.ลาว กำลังเตรียมที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้การสนับสนุน สปป.ลาว โดยเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ก้าวข้ามความสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจ และส่งเสริมความไว้วางใจผ่านความท้าทายร่วมกัน เนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 160 แห่งที่ทำธุรกิจใน สปป.ลาว ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมลาวเป็นอย่างมาก และสร้างโอกาสในการจ้างงานโดยส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/15/lao-pm-to-join-asean-japan-summit-focus-on-regional-cooperation/
‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์’ คาดว่าจสร้างแล้วเสร็จในปี 2571
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย-เวียงจันทน์ (HSR) เชื่อมโยงการค้าไทย-จีน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 ภายใต้มูลค่าลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท มีระยะทาง 7.3 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และออกแบบโครงการขั้นสุดท้ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ตามด้วยการประมูลก่อสร้างที่มีกำหนดการเริ่มเปิดประมูลในปี 2568 ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะมีระยะทางครอบคลุม 606 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการระยะแรก ซึ่งตั้งเป้าที่จะวางเส้นทาง 253 กิโลเมตรระหว่างกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา มูลค่าลงทุนกว่า 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์ 28.6% ซึ่งความล่าช้าที่เกิดจากปัญหาการเวนคืนที่ดินได้ขัดขวางความคืบหน้าในการก่อสร้าง กระทบต่อลำดับเวลาของโครงการ ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะอยู่ที่ 50% อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้สำหรับส่วนเชื่อมต่อนครราชสีมาถึงหนองคายได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงฯ รอการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก รฟท. เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนต่างๆ เหล่านี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศไทยและจีน
ประธานประเทศลาวแนะผู้นำแขวงบอลิคำไซ ‘เพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า’
นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว แนะผู้นำและเจ้าหน้าที่แขวงบอลิคำไซให้สนับสนุนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ผลิตในลาว เพื่อลดการนำเข้าและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น และเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทเชิงรุกในทุกด้านของการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้รับคำแนะนำให้เสริมสร้างความมั่นคงภายในท้องถิ่น ระงับการกระทำที่ไม่พึงประสงค์โดยทันที เพื่อลดความยากจนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กำชับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการแต่งตั้งตามคุณธรรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามที่กำหนดเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ผู้นำแขวงบอลิคำไซ ได้กล่าวต่อประธานประเทศว่า ‘ความสำเร็จในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาสันติภาพ และการลดความยากจน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลข GDP ของแขวงบอลิคำไซ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 7 ล้านล้านกีบ คิดเป็น 100.14% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ นอกจากนี้ หมู่บ้านกว่า 264 แห่ง คิดเป็น 92% ของหมู่บ้านทั้งหมดในแขวงบอลิคำไซ ได้รับการประกาศว่าปราศจากความยากจน และประมาณ 95% ของครัวเรือนขณะนี้อยู่เหนือเส้นความยากจน
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_243President_23.php
สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ร่วมส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของ สปป.ลาว
คณะผู้แทนสหราชอาณาจักรประจำอาเซียนและสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศลาว จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ Lao Holding State Enterprise (LHSE) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ดำเนินธุรกิจหลักในการจัดหาเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมพลังงานในการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันความรู้ ให้คำปรึกษาทางการเงิน และสนับสนุน สปป.ลาว ที่มุ่งหวังการมีเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ ภายในงาน รัฐบาลลาวและผู้ถือหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ได้ลงนามข้อตกลงการพัฒนาโครงการสำหรับ น้ำเทิน 2-โซลาร์ โดยโครงการนี้กำหนดให้เป็นโครงการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในลาว โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 240 เมกะวัตต์ (MWp) ที่จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ผิว 3.2 ตารางกิโลเมตรของอ่างเก็บน้ำน้ำเทิน 2
ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตเศรษฐกิจสีเขียว
ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ลงนามข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาธุรกิจการเงินสีเขียว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในการปฏิรูปที่สำคัญ รวมถึงการพัฒนาแนวปฏิบัติและมาตรฐาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การดึงดูดทุนสีเขียว ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน จากการที่ลาวต้องพึ่งพาทรัพยากรที่ไวต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำ ป่าไม้ และเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สปป.ลาว ได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ภายในปี 2573 และลดคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2593 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ประเทศวางแผนที่จะลงทุนเกือบ4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังที่ระบุไว้ในการสนับสนุนที่กำหนดระดับชาติ (NDC)
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/13/landmark-partnership-propels-laos-towards-greener-future/
‘เวียดนาม’ เล็งนำเข้าไฟฟ้ามากขึ้นจากสปป.ลาว
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ร้องขอให้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) พิจารณาสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ เพื่อที่จะนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาวมากยิ่งขึ้น โดยแผนงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากยังไม่มีโครงการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่จนถึงปี 2568 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้อนุมัตินโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว เนื่องจากต้นทุนที่ดีหากเทียบกับแหล่งอื่นในภูมิภาค
นอกจากนี้ ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ เวียดนามนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาวและจีน ราว 4 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 1.5% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-mulls-importing-more-electricity-from-laos/