ธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น แต่เงินทุนกลับลดลง ในช่วง 2 เดือนแรก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 17,400 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 11,900 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินทุนจดทะเบียนใหม่รวมอยู่ที่ 956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนคนงาน 157,500 คน ลดลงร้อยละ 11.1 และ 3.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ สำหรับธุรกิจที่หยุดดำเนินกิจการมีอยู่ประมาณ 16,200 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 9,163 ราย คิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียน 96.8 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว หากจำแนกภาคเศรษฐกิจ พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ของภาคเกษตรกรรม 265 ราย, ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 4,700 ราย และภาคบริการ 12,500 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3, 8.4 และ 9.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากข้อมูลของ CIEM ระบุว่าภาครัฐจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปและการให้บริการในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่และทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/652980/newly-established-firms-up-but-capital-down-in-two-months.html

ยอดค้าปลีกและบริการเวียดนาม 37.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ว่ารายได้จากการค้าปลีกและบริการของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่าอยู่ที่ 863.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ มียอดค้าปลีกอยู่ที่ประมาณ 674 ล้านล้านด่อง (29.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากจำแนกรายสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น พบว่ารถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ตามมาด้วยน้ำมันเบนซินและน้ำมัน (11%), เครื่องใช้ในบ้าน (9.5%), เครื่องนุ่งห่ม (8.9%), อาหาร (8.6%), ยานยนต์ (7.1%) และวัฒนธรรมและอุปกรณ์การเรียน (4.7%) สำหรับเมือง/นครที่มีรายได้จากการค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ Quang Ninh, Hai Phong, Thanh Hoa, Nghe An และ Hanoi เป็นต้น ทั้งนี้ รายได้จากที่พักและบริการจัดเลี้ยงอยู่ที่ 95 ล้านล้านด่อง (4.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน รายได้จากบริการด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 7.4 ล้านล้านด่อง (320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-sales-service-revenues-post-374-billion-usd-in-two-months/169460.vnp

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.2% ในช่วง 2 เดือนแรก

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.2 เป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 13.7 และ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ โดยภาคการแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 การจำหน่ายน้ำและบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ขณะที่ ภาคเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งจากการประชุมที่กรุงฮานอยเมื่อเร็วๆนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคการแปรรูปและการผลิตของเวียดนาม มียอดค้าปลีกส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่ม 3 ประเทศข้างต้น นอกจากนี้ จากสถานการณ์เดียวกันนั้น ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังคงมีวัตถุดิบในการผลิตที่เพียงพอจนถึงต้นเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-industrial-production-up-62-pct-in-two-months/169482.vnp

เวียดนามขาดดุลการค้า 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามขาดดุลการค้าราว 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคเศรษฐกิจในประเทศขาดดุลการค้าอยู่ที่ 3.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ภาคการลงทุนจากต่างชาติ (รวมถึงน้ำมันดิบ) เกินดุลการค้าอยู่ที่ 3.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  สำหรับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 36.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบางส่วนมาจากการส่งออกสมาร์ทโฟนซัมซุง S20 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน มีมูลค่าอยู่ที่ 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ตามมาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและรองเท้า เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สินค้ารายการอื่นๆที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ อาหารทะเลมีมูลค่า 921 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.7 ตามมาด้วยกาแฟ ผักผลไม้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเม็ดพริกไทย เป็นต้น สหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-posts-trade-deficit-of-176-million-usd-in-two-months-410757.vov

สนง.สถิติเวียดนาม เผย CPI เดือนก.พ. ลดลง 0.17%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว เนื่องมาจากความต้องการสินค้าลดลง หลังจากช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ (เต็ด), ราคาน้ำมันที่ลดลง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมของภาคการท่องเที่ยวและเทศกาลลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจโรงแรมและบริการด้านความบันเทิง ซึ่งกลุ่มสินค้าและบริการ 11 รายการที่อยู่ในตะกร้าสินค้า โดยมีสินค้า 6 รายการที่ราคาลดลงทำสถิติ ได้แก่ บริการขนส่ง (2.5%), การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, เครื่องดื่มและบุหรี่, เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า, วัสดุที่อยู่อาศัยและบริการโทรคมนาคมและไปรษณีย์ ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ บริการจัดงานเลี้ยง (0.26%), สินค้าและบริการอื่นๆ, แพทยศาสตร์และบริการทางการแพทย์, เครื่องใช้ในครัวเรือนและการศึกษา ทั้งนี้ ราคาทองคำในเดือน ก.พ. เคลื่อนไหวตามราคาทองคำโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 จากเดือน ม.ค. ที่แตะระดับราว 4.45 ล้านดองต่อตำลึง สาเหตุมาจากนักลงทุนย้ายเงินทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะผลกระทบที่ไวรัสโควิด-19 มีผลต่อเศรษฐกิจ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับคงที่ อยู่ที่ 23,300 ดอง/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 จากเดือน ม.ค.

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/february-cpi-falls-by-017-percent-410755.vov

เจาะตลาดเวียดนาม 5 ช่องทางการขายที่คุณต้องรู้

โดย IH DIGITAL

เวียดนามถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยประชากรกว่า 90 ล้านคนและส่วนใหญ่ก็เป็นหนุ่มสาววัยทำงานที่กำลังช่วยพัฒนาประเทศ แน่นอนว่าด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ ย่อมทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้นและต้องมีนักลงทุนที่อยากไปเจาะตลาดเวียดนาม ทั้ง 5 ช่องทางนี้ เหมาะกับผู้ประกอบการ ดังนี้

  1. ใช้ผู้แทน/ตัวแทนจำหน่าย เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่มีประสบการส่งออกน้อย ควรเลือกใช้ตัวแทนจำหน่าย (Distributor)
  2. เปิดร้านค้าใน E-Commerce เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการขายของออนไลน์เป็นอย่างดี เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม ได้แก่ Lazada, Shopee, TIKI, LOTTE, Sendo.VN
  3. เปิดร้านค้าผ่าน Social Media คล้ายกันกับข้อที่ 2 – ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในด้าน E-Commerce สามารถขายได้บนช่องทาง Social Media โดยแพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมในเวียดนามคือ FACEBOOK และ Instagram
  4. การส่งออก สำหรับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์การส่งออกสูง
  5. ก่อตั้งบริษัทการค้า เหมาะสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีภาพลักษณ์ของแบรนด์มั่งคงและน่าเชี่อถือในตลาดเวียดนาม

แต่อย่างไรก็ตาม แผนการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกการโปรโมทสินค้าด้วยการแจก หรือให้ส่วนลดพิเศษต่าง ๆ ที่ดูฮาร์ดเซลส์ เมื่อเข้าสู่ตลาดเวียดนามในระยะแรก ส่วนในระยะยาวอาจใช้โฆษณา ป้ายประกาศ หรือช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนเวียดนามจดจำตัวสินค้าและซื้อมาบริโภค  “สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะพลาดคือไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับแผนการตลาด”

ที่มา : https://www.ihdigital.co.th/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1-5-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97/

ภาคเกษตร ป่าไม้และประมง เกินดุลการค้า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเกษตร ประมงและประมงเวียดนาม มียอดเกินดุลการค้ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงอยู่ที่ 5.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.8 ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงอยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลาดส่งออกสินค้าเกษตร ป่าและประมงรายใหญ่ของเวียดนาม คือ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอาเซียน ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) ระบุว่าได้ทำการประสานงานกับหนวยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการค้าในตลาดใหม่และกระตุ้นยอดขายในประเทศ ขณะเดียวกัน คาดว่ายอดส่งออกสินค้าดังกล่าวในปี 2563 อยู่ที่ 41.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าภาคการเกษตร ป่าไม้และประมง ขยายตัวร้อยละ 2.01 ในปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/agro-forestry-fishery-sector-runs-trade-surplus-in-two-months/169295.vnp