‘นครเกิ่นเทอ’ เคาะงบลงทุน 1.2 ล้านล้านดอง เหตุปรับปรุง 5 แยกใหญ่

จากการประชุมสภาองค์การบริหารจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นาย Nguyen Thuc Hien ยื่นเสนอขอใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอง เพื่อยกระดับโครงการและขยายพื้นที่ของ 5 ทางแยกใหญ่ในตัวเมืองเกิ่นเทอ โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2568 ในเฟสแรก เมืองจะขยายพื้นที่ทางแยกเหล่านี้ ได้แก่ (1) Mau Than-Ba Thang Hai-Tran Hung Dao, (2) Mau Than-Nguyen Van Cu-Vo Van Kiet, (3) Nguyen Van Linh-Nguyen Van Cu, (4) Nguyen Van Linh-Ba Thang Hai และ (5) Nguyen Van Linh-Ba Muoi Thang Tu

ทั้งนี้ หากมีระยะต่อไป เมืองเกิ่นเทอจะพิจารณาสร้างสะพายลอยหรืออุโมงค์ กรณีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/can-tho-to-spend-vnd1-2-trillion-upgrading-five-congested-intersections/

ธนาคาร SME กัมพูชา ขยายวงเงินโครงการปล่อยกู้ครั้งที่ 2

ธนาคาร SME ได้เพิ่มวงเงินการปล่อยกู้มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ ในโครงการ SCFS II ทำให้กรอบวงเงินปล่อยกู้ขยายขึ้นเป็น 140 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา โดยธนาคารกล่าวในแถลงการณ์ว่างบประมาณเพิ่มเติมสำหรับ SCFS II คือการตอบสนองต่อความต้องการสินเชื่อของ SMEs ภายในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการทางด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยรัฐบาลกัมพูชา SME Bank of Cambodia จึงร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) ในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 40 ล้านดอลลาร์ สำหรับ SME Co-financing Scheme II (SCFS II) ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ SMEs รวม 790 ราย โดยคิดเป็นเงินกู้ยืม 99.8 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983845/sme-co-financing-scheme-iis-budget-increased-to-140-million/

รัฐบาลกัมพูชา อนุมัติร่างกรอบงบประมาณปี 2022

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติร่างกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ภายใต้กรอบวงเงิน 8.013 พันล้านดอลลาร์ ส่วนด้านกรอบรายรับของประเทศตั้งไว้ที่ประมาณ 5.771 พันล้านดอลลาร์ โดยร่างกฎหมายงบประมาณได้รับการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน โดยรายจ่ายที่อนุมัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปี 2021 หรือเท่ากับร้อยละ 26.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และรายรับของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7 ของ GDP โดยรัฐบาลยังได้กำหนดสิทธิไถ่ถอนเงินพิเศษ (SDRs) ไว้ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลสามารถลงนามในการกู้ยืมเงินนำมาบริหารประเทศ จากจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไทย เกาหลีใต้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก และจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลยังได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.8 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50958209/government-approves-budget-bill-for-2022/

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือนแรก ทุ่มเงินต่อสู้กับโควิด-19 กว่า 827 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รัฐบาลเวียดนามใช้เงินราว 18.8 ล้านล้านดอง (827 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน จำนวนเงินอีก 2.55 ล้านล้านดอง (11.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ได้รับการจัดสรรจากกองทุนเวียดนาม (VFVC) มีบทบาทสำคัญในการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์  นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้สั่งให้มีการจัดส่งข้าว 74,300 ตัน เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและโควิด-19 นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ชี้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ส่งผลกระทบต่อรายรับงบประมาณลดลง ขณะเดียวกันกิจกรรมการค้าขายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ที่มา : http://hanoitimes.vn/over-827-million-allocated-to-covid-19-fight-in-8-months-318627.html

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่มงบประมาณ สำหรับการจัดการปัญหาโควิด-19 เป็น 2 เท่า

รัฐบาลกัมพูชาปรับงบประมาณรายจ่ายสำหรับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ขึ้นเป็น 2 เท่า ในขณะที่ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศ รวมถึงการให้บริการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างสุดความสามารถ รายงานดังกล่าวถูกนำเสนอโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังได้กำหนดงบประมาณสำหรับการรับมือประจำปี 2021 ไว้ที่ 719 ล้านดอลลาร์ในขั้นต้น ซึ่งต่อมางบประมาณดังกล่าวได้ขยายเป็น 1.454 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลยังได้เพิ่มงบประมาณในการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบหลังรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ เป็นจำนวนเงิน 335 ล้านดอลลาร์ รวมถึงโครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 270 ล้านดอลลาร์ ถูกปรับเป็น 150 ล้านดอลลาร์ เพื่อเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50912498/govt-doubles-the-budget-for-pandemic-intervention-spending/

รัฐบาลกัมพูชาพิจารณาลดโครงการการลงทุนภาครัฐ

รัฐบาลกัมพูชากำลังพิจารณาปรับลดจำนวนโครงการการลงทุนสาธารณะภายใต้งบประมาณภาครัฐ เพื่อรักษาเงินทุนสำหรับใช้ในการต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ลดรายจ่ายลงเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกว่าเพิ่มเติมว่าหากในกรณีที่จำเป็น โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับอนุมัติบางโครงการอาจจะถูกยกเลิก เพื่อดำรงเงินทุนไว้สำหรับการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 โดยปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนสาธารณะทั้งหมด 629 โครงการ สำหรับปี 2021-2023 ในจำนวนนี้ 203 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่มีมูลค่าโครงการรวม 8.397 พันล้านดอลลาร์ และเป็นโครงการใหม่ 426 โครงการที่ต้องใช้เงินทุนถึง 4.399 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50907215/government-considering-reducing-public-investment-projects/

กองทัพเมียนมา อนุมัติการลงทุนต่างชาติ ผลาญงบประมาณกว่า8.7หมื่นล้าน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลทหารเมียนมา อนุมัติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( เอฟดีไอ ) หลายโครงการ มีมูลค่ารวมเกือบ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 87,235.40 ล้านบาท โดยโครงการใหญ่ที่สุดซึ่งมีการอนุมัติ คือ การก่อสร้างโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 77,888.75 ล้านบาท ) โดยไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า ประเทศใดได้สัมปทานโครงการดังกล่าว เช่นเดียวกับโครงการอื่นอีก 15 โครงการ ในด้านการเกษตร การผลิต และภาคบริการ ซึ่งไม่มีการระบุชัดเจนว่า ผู้เสนอราคาจากประเทศใดได้รับการอนุมัติ

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/572062

เวิลด์แบงก์เตือนรัฐประหารเมียนมากระทบพัฒนาประเทศ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากกองทัพได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาล โดยเวิลด์แบงก์เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย และจะสร้างความเสียหายต่อแนวโน้มการพัฒนาประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์และบรรดาพันธมิตร เราได้รับผลกระทบจากการถูกปิดช่องทางการสื่อสารทั้งภายในเมียนมาและกับต่างประเทศ ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวานนี้ พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย ขณะที่สัญญาว่าจะจัดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเมียนมา จะลดลงเพียง 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 จากระดับ 0.68% ของปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวรุนแรงถึง 2.5% หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/920433

กัมพูชาเร่งดำเนินการก่อสร้างถนนโครงการ National Road 10

ถนนแห่งชาติหมายเลข 10 ซึ่งจะเชื่อมโยงพระตะบองกับจังหวัดเกาะกงขณะนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 43.75 และมีกำหนดเปิดให้สัญจรในปี 2023 กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ในระหว่างการเยือนรัฐมนตรีต่างประเทศได้เรียกร้องให้ China Road and Bridge Corp. (CRBC) และ WACC Technical Consulting Co. ดำเนินการก่อสร้างต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิค โดยถนนมีความยาวกว่า 199 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดเกาะกงและผ่านจังหวัดโพธิสัตว์ ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ 188 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้ดำเนินโครงการจากเงินกู้ยืมระยะยาวของจีนร่วมกับงบประมาณของภาครัฐบาลกัมพูชา โดยมีจุดประสงค์ในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงถึง 7.236 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปี 2019 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807538/national-road-10-project-construction-on-track/

อียู ให้เงินสนับสนุนอาเซียนเดินหน้าโครงการ Smart Green ASEAN Cities

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้มีมติเห็นชอบความตกลงทางการเงินระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อดำเนินโครงการ Smart Green ASEAN Cities เป็นความตกลงเพื่อแสดงว่าอียูจะสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านยูโร สำหรับการดำเนินโครงการฯเวลา 72 เดือน ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความเป็นเมืองที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพลเมืองอาเซียน โดยสนับสนุนให้เมืองต่างๆ ในอาเซียนใช้ประโยชน์จากแนวทางเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้มีสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศเข้าร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ ไทย โดยตั้งเป้าผลผลิต 3 ข้อ คือ 1.ยกระดับการออกแบบ วางแผน และดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะสำหรับเข้าร่วมดำเนินโครงการ 2.เสริมสร้างศักยภาพประเทศเพื่อการพัฒนาเมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน และ 3.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะระหว่างสหภาพยุโรปและภายในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-732378c251cb42fc3f36615ea1929c94