คุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกจีน

กรมการค้าต่างประเทศ สั่งคุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปจีน ห่วงกระทบภาพลักษณ์ทุเรียน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า  กรมฯ ได้รับแจ้งให้สำนักงานพาณิชย์ และผู้ส่งออกจังหวัดจันทบุรีเร่งตรวจสอบ หลังพบว่ามีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน มาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย พร้อมกับใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด และส่งผลต่อภาพลักษณ์รวมถึงชื่อเสียงของทุเรียนไทย “เพื่อป้องกันการสวมสิทธิทุเรียนไทย และป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมฯ จึงได้ดำเนินการเพิ่มสินค้าทุเรียนในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น” หรับสินค้าทุเรียนที่ถูกสวมสิทธินั้น ประกอบด้วย ทุเรียนสด  พิกัดศุลกากร 0810.60 และทุเรียนแช่แข็ง  พิกัดศุลกากร 0811.90 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ทุกประเภท สำหรับสินค้าทุเรียนดังกล่าว โดยให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ ต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียนในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ เพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร  ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.63 เป็นต้นไป นายกีรติกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อให้ไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดยจากสถิติการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งของไทย ปี 63 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณรวม 631,394 ตัน มูลค่า 69,153 ล้านบาท ปริมาณลดลง 4.2% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยส่งออกไปยังประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818113

‘พาณิชย์’ เผยข่าวดี FTA อาเซียน-จีน ดันส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรกพุ่ง 140%

 ‘นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยครึ่งปีแรก ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดจีน ขยายตัว 140% ชี้! ผู้ประกอบการขอใช้สิทธิส่งออกด้วย FTA อาเซียน-จีน สัดส่วนเต็ม 100% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดไปจีน แนะรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า เน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษ ใช้ช่องทางขายออนไลน์เจาะตลาดมากขึ้น สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและรายได้หลักของเกษตรกรไทย พบข่าวดี ไทยยังคงครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดต่างประเทศ โดยทุเรียนสดมีสัดส่วนการส่งออก 69% ของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2563) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 73% โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 1,022 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด ขยายตัวกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามด้วยฮ่องกง มูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 15% ขยายตัว 34% และอาเซียน มูลค่า 164 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 12% ขยายตัว 25% (เวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลัก)

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3150029

จับตาตลาดทุเรียนเวียดนาม ‘คู่แข่ง’ ทุเรียนไทย

จากการแข่งขันในตลาดส่งออกของทุเรียนไทย มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะสูญเสียผู้นำในด้านการเป็นผู้ส่งออกทุเรียนให้กับประเทศมาเลเซีย แต่ประเทศที่แข่งขันได้และน่าจับตามากที่สุด คือ เวียดนามที่มีพื้นที่ติดพรมแดนกับประเทศจีน ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วในด้านการขนส่ง ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกระทรวงเกษตร ระบุว่าในปี 2561 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 2 แสนไร่ โดยเฉพาะบริเวณราบสูงตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสําหรับการผลิตและส่งออกทุเรียนของเวียดนาม โดยในปีนี้สามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน ด้วยปริมาณผลผลิตรวมมากกว่า 30,000 ตัน ด้านสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมเพาะปลูกในเวียดนามมีทั้งสายพันธุ์จากไทย ได้แก่ ชะนี หมอนทอง และก้านยาว  นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามคาดว่าสามารถทุเรียนได้ประมาณ 330,000 ตันต่อปี โดยพื้นที่ที่มีผลผลิตมากที่สุด แบ่งออกเป็นบริโภคในประเทศ 40%, ส่งออก 60% ในเดือนเมษายน 62 ที่ผ่านมา ราคาจําหน่ายทุเรียนสดหน้าสวนเฉลี่ยอยู่ที่  2.8 – 3.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อ กิโลกรัม แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนเข้มงวดการตรวจสอบผลไม้นําเข้าไปยังจีนมากขึ้น ส่งผลให้เวียดนามต้องใช้วิธีการลักลอบขนส่งทุเรียนผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ช่องทางหลัก อาทิ การขนส่งโดยรถบรรทุกขนาดเล็ก และใช้แรงงานแบกหาม เป็นต้น

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnamese-duria