‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เผยเศรษฐกิจเวียดนามมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก

ดร.เหงียน จิ ฮิว นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการธนาคาร กล่าวว่าผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เด่นชัดที่สุด คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่ผู้ส่งออกน้ำมัน เวียดนามขายน้ำมันดิบและนำเข้าน้ำมันสำหรับกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลังงาน นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลกที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น ได้ผลักดันราคาสินทรัพย์ปลอดภัย รวมไปถึงทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนกระทบต่อเงินด่องเวียดนามให้อ่อนค่าลง โดยปัจจัยเหล่านี้เกิดความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-economy-stable-amidst-geopolitical-instability-2214122.html

‘Fitch Ratings’ มองเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเชิงบวก

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ (Fitch Ratings) คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามปี 2567 ขยายตัวที่ 6.3% และ 7.0% ในปี 2568 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลางยังคงอยู่ในระดับที่ดีและคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากตัวเลขสถิติของสถาบันจัดอันดับ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ชะลอตัวลง 4.3% ท่ามกลางอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และยังส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ที่มา : https://dtinews.dantri.com.vn/en/news/017/86307/fitch-ratings-remains-optimistic-about-vietnam-s-economic-growth.html

ราคาอาหารใน สปป.ลาว ยังมีระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดปรับลดลง

แม้อัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนกันยายน 2566 ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 25.69% แต่ราคาสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคหลายรายการยังมีราคาที่สูงอยู่ เช่น อาหาร สินค้าด้านสุขภาพ สินค้าด้านการศึกษา และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของหลายครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นส่วนทางกับรายได้ของครอบครัว ทำให้ผู้บริโภคหลายครัวเรือนในลาวเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพ ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้นำเสนอนโยบายและมาตรการหลายอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อสูง รวมถึงการเพิ่มการผลิตภายในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว จำกัดการนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231024/8d14428a3ae34f90b9c8d197be24cb0a/c.html

IMF ชี้การส่งออก-ท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สปป.ลาว โต 4% ในปี 2567

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ปี 2567 แนะให้เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจลาวที่กำลังตกต่ำกลับมาขยายตัวได้ 4% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม IMF แนะเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับสูงมากกว่า 25% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนท้องถิ่นของลาว ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงและความยากจนที่มีมากขึ้น จากผลของราคาสินค้าที่สูงในขณะที่ค่าจ้างเท่าเดิม อีกทั้งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดท้องถิ่นล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/imf-growth-forecast-10232023180356.html

รัฐบาล สปป.ลาว สั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ลดการเดินทางไปต่างประเทศ’ เพื่อคลี่คลายปัญหาเงินกีบอ่อนค่า

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดมาตรการเพื่อลดจำนวนความต้องการสกุลเงินต่างประเทศ หนึ่งในมาตรการ คือ ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ลดการเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินการตามวาระระดับชาติในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความท้าทายอีกประการของรัฐบาลลาว คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับที่สูง เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังสร้างความยากลำบากเพิ่มเติมในการลดความยากจนของประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20231019/fe96906a8c2b485997cd4e092ca24049/c.html

‘รัฐบาล สปป.ลาว’ ขอภาคเอกชนร่วมมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ผู้แทนจากรัฐบาล สปป.ลาว นายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์ และภาคธุรกิจในนครหลวงเวียงจันทน์ร่วมประชุมระดมความคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ลาวเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ สินค้ามีราคาแพง และการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยผลการประชุมสรุปว่า ควรเร่งสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการและกลไกการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าภายในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับสินค้านำเข้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ส่งเสริมกิจการด้านการท่องเที่ยวให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงรัฐบาลควรออกนโนยบายลดราคาค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน

ที่มา : https://english.news.cn/20231018/ae565798a40548bb9eedba88bc5d26a6/c.html

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้รัฐบาลมีความพยายามควบคุมราคาสินค้า

อัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนกันยายนมาอยู่ที่ร้อยละ 25.69 ลดลงจากร้อยละ 25.88 ซึ่งได้รายงานไว้ในช่วงเดือนสิงหาคมตามรายงานของสำนักงานสถิติ สปป.ลาว อย่างไรก็ตามอัตราดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ผลผลิตภายในประเทศที่อ่อนแอและการที่ประเทศพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับในช่วงเดือนกันยายนค่าเงินกีบอ่อนค่าลงร้อยละ 5.8 และอ่อนค่าร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินดอลลาร์และบาทไทย ตามลำดับ เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้การ สปป.ลาว ขาดดุลทางการค้าสะสมเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 444 ล้านดอลลาร์ ด้านรัฐบาลได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการมาตรการเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่สูง รวมถึงรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และจัดการกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_197_Inflation_y23.php

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดนโยบายใหม่ หลังพบ ADB หวังจัดการปัญหาหนี้สาธารณะ

รัฐบาล สปป.ลาว ร่วมเจรจานโยบายระดับสูงเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างการจัดการหนี้สาธารณะในประเทศ สปป.ลาว ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกระทรวงการคลัง โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดการหนี้สาธารณะด้วยการเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะเข้ากับนโยบายการคลัง และการเงิน ร่วมกับการจัดทำมาตรการเฉพาะของรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ด้านนาย Soulivath ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามสถานการณ์หนี้สาธารณะ รวมถึงประเมินความเสี่ยงทางการคลังต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะ เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_196_Govt_y23.php

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html