‘เวียดนาม’ พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีสัดส่วนราว 90% ของการส่งออกรวม และมีสัดส่วน 25.8% ของจำนวนงานทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสภาพจากการลงทุนของรัฐไปเป็นของการลงทุนที่มิใช้รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ทั้งนี้ ธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจ FDI เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจในประเทศประสบปัญหากับการยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตและการบริหาร รวมถึงการขาดเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656090/vn-too-heavily-dependent-on-fdi-must-improve-industrial-ecosystem.html

ค่าจ้างขั้นต่ำใน สปป.ลาว ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาวปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้าน กีบ หรือประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากอัตราก่อนหน้าที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.3 ล้านกีบ หรือประมาณ 61 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานบางส่วนได้สะท้อนว่าไม่สมดุลกับค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำมันและค่าอาหาร รวมๆ กันต้องใช้เงินกว่า 3 ล้านกีบ ทำให้ค่าจ้างที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ สปป.ลาว ยังมีระดับท้ายๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดการไหลออกของจำนวนแรงงาน จนทำให้แรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ยังทำให้จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เรียนจบมีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/17/inadequate-minimum-wage-deepens-economic-woes-in-laos-fueling-labor-shortages-school-dropouts/

สปป.ลาว คาด จีดีพี ปี 2567 โตได้ 4.7% ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ

การประชุมผู้บริหารพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 8 โดยมีนายทองลุด สีสุลิด เลขาธิการพรรคและประธานพรรคฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พูดคุยถึงเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตที่ 4.7% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วท่ามกลางความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยภาคอุตสาหกรรมและบริการการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ สำหรับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในประเทศลาว และสั่งให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การอ่อนค่าของเงินกีบ และต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการเงินและปัญหาทางเศรษฐกิจ  แม้จะมีข้อกังวลนี้ แต่ธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มขึ้นราคาหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยแตะ 24.92% ในเดือนเมษายน แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยจาก 24.98% ในเดือนมีนาคม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_94_Economy_y24.php

‘สถาบันวิจัย’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ ขยายตัว 6%

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายของเวียดนาม (VEPR) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 5.6% – 6% โดยได้ปัจจัยหนุนมาจากการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ จะเห็นได้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสแรก บ่งชี้ให้เห็นสัญญาณเชิงบวก อย่างไรก็ดียังมีความไม่แน่นอนอยู่ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศและการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655818/vepr-forecasts-vietnamese-economy-growth-at-below-6-per-cent.html

‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก

สำนักงานพัฒนาการส่งออกแคนาดา (EDC) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘การทำธุรกิจในเวียดนาม: จับตาดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก’ รายงานว่าเวียดนามกลายมาเป็นดินแดนแห่งมังกร รวมถึงกลายมาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในอุดมคติ ในขณะที่จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปีแบบทบต้นในปีที่แล้ว และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 5% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้า จะขยายตัว 6% และ 7% ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจจึงทำให้สำนักงานฯ เลือกเวียดนามเป็นตัวแทนดาวรุ่งในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งการเติบโตของคนชนชั้นกลางเวียดนาม แซงหน้าประเทศในภูมิภาค ถึงแม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง แต่ประชากรเวียดนามมีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-rising-star-in-indo-pacific-canadian-agency-post286074.vnp

‘เวียดนาม’ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

คุณ เหงียน ถิ เฮือง (Nguyen Thi Huong) หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากตลาดระหว่างประเทศและในประเทศ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ใกล้กับเพดานที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ที่ระดับ 4-4.5%

ในขณะเดียวกัน นายเหงียน บิช ลา (Nguyen Bich Lam) นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างมาก รวมถึงการแข่งขันที่รุงแรงในตลาดต่างประเทศ และความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและเกิดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐต่อด่องเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาระต้นทุนในการนำเข้าและเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/mounting-inflationary-pressure-requires-governments-flexible-moves-post286015.vnp

‘ชาวเวียดนาม’ โดนโกงออนไลน์ สูญเงินกว่า 12.24 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม (MIC) รายงานว่าคดีฉ้อโกงออนไลน์ มีจำนวนทั้งสิ้น 17,500 คดี โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวเวียดนาม มีมูลค่าการสูญเสียเงินจากการฉ้อโกงมากกว่า 300 พันล้านด่อง หรือประมาณ 12.24 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการฉ้อโกงและการรับมือกับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ พบว่าการฉ้อโกงทางไซเบอร์มีความซับซ้อนในเมื่อไม่นาน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อองค์กรและบุคคลทั่วไป จึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทาการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาชญากรทางไซเบอร์ได้เปลี่ยนวิธีการและยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการโจมดี แทรกซึมและฉ้อโกงในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคม และสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655485/vietnamese-users-report-losses-of-more-than-12-24-million-due-to-online-fraud.html

‘เวียดนาม’ ยอดขายคอนโดเทล ไตรมาส 1 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ตามรายงานของ DKRA Group บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าโครงการคอนโดเทล 90% ไม่มียอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่คอนโดเทลที่เปิดขายอยู่มีจำนวน 4,800 ยูนิต แต่มีเพียง 64 ยูนิตที่ขายได้ คิดเป็นสัดส่วน 1.3% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด ถึงแม้ว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเสนอโปรโมชั่น แต่ก็ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้ สาเหตุสำคัญมาจากราคาขายสูง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านด่อง (6,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อตารางเมตร

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไม่แน่ใจว่าจะลดราคา เนื่องจากมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการระดับไฮเอนที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าฐานะร่ำรวย และเมื่อคาดการณ์จะพบว่าตลาดคอนโดเทลอาจต้องใช้ระยะเวลา 5-7 ปี ในการฟื้นตัว ทั้งจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655491/condotel-sales-at-their-lowest-level-in-six-years-in-q1.html

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp

ธนาคารโลก คาดการณ์ GDP สปป.ลาว เติบโตได้ 4% ในปีนี้

เว็บไซต์ของธนาคารโลก เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เมื่อมองไปข้างหน้าถึงปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4% โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตด้านบริการและการลงทุนในภาคพลังงานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่างๆ เช่น การอ่อนค่าของเงินกีบ อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความจำเป็นในการชำระหนี้ต่างประเทศที่สูง คาดว่าจะยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ข้อแนะนำเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ธนาคารโลกได้แนะนำให้ สปป.ลาว จัดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปในด้านที่สำคัญ เช่น การจัดการหนี้ การระดมรายได้ การจัดการการลงทุนสาธารณะ เสถียรภาพของภาคการเงิน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แม้ว่าการปฏิรูปรายได้เมื่อเร็วๆ นี้มีแนวโน้มที่ดี แต่รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/30/lao-economic-growth-remains-below-2019-levels-world-bank-report-reveals/