ผู้ว่าการ NBC รายงานการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ทศวรรษ

Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวถึงการเติบโตของการใช้สกุลเงินท้องถิ่น อย่างสกุลเงินเรียลเติบโตเป็นอย่างมาก สำหรับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์ในการลดค่าของเงินดอลลาร์ (de-dollarize) เพื่อให้สกุลเงินท้องถิ่นกลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางการพยายามที่จะปรับสมดุลการใช้สกุลเงินดอลลาร์ ให้เป็นตามกลไกตลาดด้วยการดำเนินมาตรการนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลมานับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งปัจจุบันปริมาณเงินเรียลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นจาก 0.85 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 211 ล้านดอลลาร์) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็น 14.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 3.51 พันล้านดอลลาร์) ในปัจจุบัน สะท้อนไปยังการเพิ่มขึ้นทางด้านเสถียรภาพของสกุลเงินท้องถิ่นกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501390501/nbc-governor-says-cambodia-has-seen-big-increase-in-local-currency-usage-in-past-2-decades/

การค้า “กัมพูชา-จีน” ยังคงแข็งแกร่ง แม้อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนตัว

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนตัวลง เป็นผลมาจากการมีข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) โดยสินค้าศักยภาพของกัมพูชาที่ได้ทำการส่งออกไปยังจีน ได้แก่ ข้าวสาร กล้วย มะม่วง ลำไย และพริกไทย เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.1 จากมูลค่า 3.99 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501390478/cambodia-china-trade-stays-robust-amid-weakening-global-demand/

ท่าอากาศยานนานาชาติ “เสียมราฐ-อังกอร์” พร้อมให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก

ท่าอากาศยานนานาชาติ เสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) พร้อมเปิดให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการมีจำนวนสายการบินที่ให้บริการภายในสนามบิน SAI จาก 7 สายการบิน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 สายการบิน ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังบรรลุข้อตกลงกับสายการบินต่างๆ รวมถึงในช่วงสิ้นปีถือเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก สำหรับจำนวนผู้โดยสารทางอากาศที่เดินทางผ่าน SAI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,200 คนต่อวัน จากจำนวน 2,600 คน ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา (SSCA) ขณะที่การรองรับเที่ยวบินสามารถรองรับได้สูงสุด 42 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 34 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว ซึ่งจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนและจีน ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) ว่า กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ราว 3.92 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 211 จาก 1.26 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501389376/more-airlines-set-to-operate-from-sai-airport/

ทางการกัมพูชาจัดงานประกวด “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์”

คณะกรรมการแห่งชาติกัมพูชาวางแผนจัดการประกวด หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่คาดว่าจะสนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันทางการได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับกำหนดกฎเกณฑ์การเป็นสมาชิก OVOP ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 พ.ย.) นำโดย Ouk Rabun รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมการแห่งชาติสำหรับ OVOP โดยจะจัดอันดับให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1,2,3,4 และ 5 ดาว ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญบนมาตรฐานที่ทางการได้กำหนดไว้ สำหรับปัจจุบันมีสินค้าประมาณ 680 รายการ ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการ OVOP และส่วนใหญ่มีการจัดหน่ายแล้วในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ซึ่ง OVOP ถือเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นใช้ทรัพยากรและทักษะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501389363/contest-to-rate-village-products-planned/

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60 สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี รายงานโดยสื่อญี่ปุ่นโดยอ้างจากแหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับเนื้อวากิวถือเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ด้วยเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติที่เข้มข้น มีรสเนย และลายหินอ่อน (มันแทรก) ด้านกัมพูชาเริ่มนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา รวมถึงกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้เริ่มกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาการกักกันเนื้อสัตว์ที่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเกาหลีใต้หวังผลักดันการส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไปยังกัมพูชา ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากข้อมูลของ Statista รายงานว่าปริมาณการขายเนื้อสัตว์ในตลาดของประเทศกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสด เนื้อแปรรูป และสารทดแทนเนื้อสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.127 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.33 ต่อปี ไปจนถึงปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388703/japanese-wagyu-beef-exports-to-cambodia-decline-by-60-percent/

นายกฯ กัมพูชา ตั้งเป้าดันพระสีหนุเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนพัฒนาจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของประเทศ ผ่านการจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาจังหวัด กล่าวโดย นายกฯ ฮุน มาเนต ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สำหรับในเฟสแรกทางการมีการวางแผนที่จะขยายท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากปัจจุบันลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เกือบเต็มพื้นที่ที่ร้อยละ 93 รวมถึงเพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการจากระหว่าง 400 ถึง 500 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ เหลือเพียง 200 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งท่าเรือดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างทางรถไฟ 2 สาย เชื่อมไปยังกรุงพนมเปญและปอยเปต ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388709/pm-says-preah-sihanouk-set-to-be-countrys-logistics-hub/

10 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวมูลค่าแตะ 450 ล้านดอลลาร์

การส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นเป็นประมาณกว่า 530,000 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 450 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขดังกล่าวเปิดเผยโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) ขณะที่การส่งออกข้าวเปลือกไปยังประเทศเพื่อนบ้านสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 708 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวจาโปนิกา เป็นสำคัญ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการเจรจาสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ อย่างอินโดนีเซีย โดยทางการกัมพูชามุ่งมั่นที่จะผลักดันเป้าหมายการส่งออกให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้าน Chan Sokheang ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ตั้งเป้าหมายการส่งออกสูงสุด 700,000 ตัน ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501387897/rice-exports-rake-in-450-million-in-ten-months/