พาณิชย์ชี้ช่องรุกตลาดฟิลิปปินส์ อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสทำเงิน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.จันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ หลังจากที่ปัจจุบัน ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย และหาซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกได้เห็นพฤติกรรมการช้อปแบบล้างแค้นของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ที่กระตือรือร้นมากขึ้น และร้านค้าปลีกต่างๆ ก็พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสในการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกมีหลากหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องสำอาง ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/652417

เอกชนเฮ! ด่านลาวเปิดตามปกติ 9 พ.ค. นี้

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนได้รับการแจ้งเอกสารจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เรื่องมาตรการการเข้าออกประเทศ รวมทั้งการเปิดทุกด่านในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยสรุปมาตรการเปิดประเทศ ดังนี้ 1.เปิดด่านสากลทุกด่าน 2.อนุญาตให้พลเมืองทุกสัญชาติ ที่ยกเว้นวีซ่ากับ สปป.ลาว สามารถเข้าประเทศได้ไม่ต้องขอวีซ่า 3.สำหรับประเทศที่ไม่ได้ยกเว้นวีซ่า สามารถขอวีซ่าจากสถานทูต กงสุล หรือผ่านระบบ E-visa หรือขอวีซ่าที่หน้าด่านสากล ที่มีหน่วยงานวีซ่า 4.ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ทันมีใบรับรองฉีดวัคซีนครบโดส ขอให้มีผลตรวจเชื้อโควิดแบบเร็ว ATK ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทางจากประเทศต้นทาง เมื่อถึง สปป.ลาว ไม่ต้องมีการตรวจซ้ำ 5. ในกรณีที่ติดเชื้อโควิด ต้องรับผิดชอบค่ารักษาโควิดเอง 6.อนุญาตให้พาหนะต่างๆ เข้า-ออก ประเทศได้ตามปกติ 7.ให้มีการเปิดร้านบันเทิง แต่เอาใจใส่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 8.ปฏิบัติตั้งแต่ 9 พ.ค.2565 เป็นต้นไป

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-926531

 

Q1/2022 กัมพูชาส่งออกไปยัง เวียดนาม จีน และไทย เป็นสำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RECP มีมูลค่าแตะ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่า 759 ล้านดอลลาร์, ไปยังจีน 322 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังไทยมูลค่าแตะ 318 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501068941/cambodias-top-export-destinations-in-q1-2022-vietnam-china-and-thailand/

“ททท.” เร่งบูสต์ตัวเลขนักท่องเที่ยว ตั้งเป้าไตรมาส 4 เดือนละ 1 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 444,039 คน สร้างรายได้รวม 34,173 ล้านบาท โดยตลาดหลักที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยุโรป 265,888 คน สร้างรายได้ 21,894 ล้านบาท รองลงมาคือ เอเชียตะวันออก 85,362 คน สร้างรายได้ 4,674 ล้านคน อาเซียน 45,471 คน สร้างรายได้ 2,139 ล้านบาท เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 39,891 คน สร้างรายได้ 2,535 ล้านบาท และอเมริกา 33,875 คน สร้างรายได้ 2,691 ล้านบาท และประเมินว่าจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิก Test & Go 1 พฤษภาคม 2565 รอบนี้จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย ททท.ตั้งเป้าว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศไทยไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อเดือน และตั้งเป้าว่าในช่วงไตรมาส 4 หรือในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มเป็นเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่ง ททท.จะเร่งทำการตลาดโดยเร่งด่วนทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล

ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-922701

พาณิชย์ชี้ช่องรุกตลาดจีน สินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมรุ่ง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปาผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดจีน หลังจากที่ได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้พลาสติก และทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงนับเป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาขยายตลาดในจีน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านทั้ง Stay at Home Economy หรือเศรษฐกิจอยู่ติดบ้าน และพฤติกรรมการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเดลิเวอรีของชาวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังควรเฝ้าติดตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกับแบรนด์จีนในลักษณะของ Co-Brand เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/650980

เมียนมาผ่อนผันคำสั่งแปลงสกุลเงินให้ผู้ค้าที่ชายแดนจีน-ไทย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้ขยายระยะเวลาบังคับแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินจัตสำหรับผู้ส่งออกที่ทำการค้าที่ชายแดนกับจีนและไทย โดยผู้ส่งออกที่ซื้อขายภายใต้โครงการการค้าชายแดนจีน-เมียนมา และไทย-เมียนมา ไม่จำเป็นต้องแปลงรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินจัตภายในหนึ่งวันทำการอีกต่อไป และอนุญาตแปลงรายได้ของตนเองที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาเป็นเงินจัตได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยังมีคำสั่งให้ธนาคารตัวแทนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการตรวจสอบการบังคับนำรายได้ของผู้ส่งออกเข้าบัญชีธนาคารของรัฐสำหรับรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถชำระเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศกับธนาคารที่กำหนด โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ.

ที่มา: https://english.news.cn/20220428/c939e28c2cdf49dab0f244300c49df72/c.html

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี 65

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ ว่าการลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็น มินิเอฟทีเอ (Mini FTA) ฉบับที่ 2 ที่ไทยได้มีการลงนามกับมณฑลในจีน และถือเป็นฉบับที่ 4 ที่ได้ลงนามกับคู่ค้า โดยได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และเพิ่มยอดการค้าในปี 2565 เป็น 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยมณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1001355

นายกฯ พอใจส่งออกมะม่วงไทยอันดับ 2 ในอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายช่องทางการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมในประเทศคู่เจรจา FTA รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มเติมรูปแบบ ช่องทางของสินค้าในการส่งออก ทั้งในด้านการออกแบบ การแปรรูปสินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่า

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-930848

ไฟเขียวต่างชาติลงทุน53ราย สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่าหมื่นล้าน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 53 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 17 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 36 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,838 ล้านบาท ประกอบธุรกิจในไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ นำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 962 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 447 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีฉพาะด้าน เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียม การใช้โปรแกรมในการออกแบบระบบโซลาร์ขั้นสูง และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/649594