ในช่วงเดือน ม.ค. การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย ขยายตัวแตะ 37 ล้านดอลลาร์

ในเดือนมกราคม 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่ารวมกว่า 37 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมูลค่ารวม 22 ล้านดอลลาร์ หลังกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินเดียมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243610/cambodia-india-trade-reaches-37m-in-january/

“นายกรัฐมนตรีเวียดนาม” ร้องขอให้มีการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ขอความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันและศึกษาแนวทางในการหาทางออก เพื่อรักษาความมีเสถียรภาพของตลาดและราคาข้าว รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร หลังจากอินเดียประกาศว่าจะจำกัดการส่งออกข้าว ทั้งนี้ สำนักงานรัฐบาลเวียดนาม เพิ่งออกเอกสารปฏิบัติตามคําสั่งเลขที่ 6263/VPCP-KTTH เกี่ยวกับข้อจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกข้าวของเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวหัก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ด้วยอัตราภาษีส่งออก 20% สำหรับข้าวขาวและข้าวกล้อง คิดเป็น 60% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของอินเดีย เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่ลดลงและภาวะราคาอาหารเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1338276/prime-minister-asked-to-stabilise-rice-price.html

อาเซียน-อินเดีย ชูความตกลงAITIGAเพิ่มการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 35 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมผ่านระบบทางไกล ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินกระบวนการภายในเพื่อรับรองเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement : AITIGA) พร้อมทั้งเห็นชอบข้อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ในการรับรองขอบเขตการทบทวนความตกลง AITIGA และจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) เพื่อกำกับดูแลการทบทวนความตกลงดังกล่าว

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_360270/

เมียนมาส่งออก “หมาก” ไปอินเดีย ลดฮวบ

ผู้ค้าหมากชาวเมียนมา เผย การส่งออกหมากของเมียนมาไปยังอินเดียลดลงอย่างมากในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหมากจะถูกส่งออกผ่านเขตย่างกุ้ง พะโค และมัณฑะเลย์ไปยังอินเดีย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและอินเดียลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและผลกระทบของโควิด-19 โดยในปีก่อนสามารถส่งออกได้ประมาณ 400-500 ถุง แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 300 ถุง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 3,600 จัต เป็น 4,500 จัตต่อถุง ปัจจุบันราคาหมากโดยทั่วไปอยู่ที่ 4,300-4,900 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ลดลงเมื่อเทียบกับราคาของปีก่อนที่สูงถึง 5,000-6,000 จัตต่อ viss ขณะเดียวกัน การนำเข้าหมากจากไทยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาลดต่ำลง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-areca-nuts-exports-to-india-plummet/

2021 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่าแตะ 113.87 ล้านดอลลาร์

Ly Thuch รองประธาน Cambodian Mine Action and Victim Assistance Authority (CMAA) กล่าวในงานครบรอบ 10 ปีหอการค้าอินเดีย-กัมพูชา (INCHAM) ซึ่งมี Sandeep Majumdar ประธาน INCHAM, สมาชิกและแขกรับเชิญภายในงาน ว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมีมูลค่าอยู่ที่ 113.87 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 99 เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 57.17 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดีย โดยเสริมว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง ภาษีนิติบุคคลต่ำ ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด แรงงานอายุน้อย และไม่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและอินเดียปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501055912/cambodias-exports-to-india-clocked-in-at-113-87-million-in-2021/

อินเดียให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนา 4 แห่งในสปป.ลาว

รัฐบาลอินเดียได้มอบเงินจำนวน 184,677 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับโครงการสี่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านสุขภาพ การค้า และการศึกษาในสปป.ลาว เงินทุนนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ Quick Impact ของกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-คงคา อีกโครงการหนึ่งที่จะได้รับการสนับสนุนคือโครงการปรับปรุงการผลิตกาแฟออร์แกนิกและการกระจายความหลากหลายของเศรษฐกิจในชนบทและการเสริมสร้างศักยภาพของชาวบ้านในหมู่บ้านน้ำวัง อำเภอเวียงภูคา จังหวัดหลวงน้ำทา รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับสปป.ลาวภายใต้กรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสปป.ลาว และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการ Quick Impact ในปี 2555 ลาวได้อนุมัติโครงการ 11 โครงการ มูลค่ารวม 532,677 เหรียญสหรัฐ โครงการดังกล่าวช่วยส่งมอบผลลัพธ์ที่จับต้องได้ซึ่งช่วยปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของผู้คนทั่วทั้งอนุภูมิภาค ในประเทศลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Indai_65_22.php

ค้าชายแดนเมซู ดิ่งฮวบ !

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ณ วันที่ 4 มี.ค.2565 มูลค่าการค้าชายแดนมูเซในปีงบประมาณย่อย มีมูลค่า 579.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ที่มีมูลค่า 3.09 พันล้านดอลลาร์ ลดลงกว่า 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 4 มี.ค.2565 การส่งออกของเมียนมาไปยังจีนผ่านชายแดนมูเซ มีมูลค่า 555.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากจีนปิดจุดตรวจทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับชายแดนมูเซจากการะบาดของ COVID-19 แต่เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา จุดตรวจผ่านแดน Kyinsankyawt ได้เริ่มเปิดให้ซื้อขายกันผ่านแดนในระยะทางไม่ไกลมากนัก โดยเมียนมาได้ส่งออก ถั่วและพัลส์, ลูกพลัมแห้ง แตงโม,  แตงไทย และสินค้าโภคภัณฑ์อาหารอื่นๆ ไปยังจีนทุกวัน ในขณะที่เมียนมาจะนำเข้าสินค้าอย่าง ยา อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง

ที่มา:  https://www.gnlm.com.mm/value-of-trade-via-muse-border-trade-zone-on-the-decline/#article-title

“อินเดีย” เมิน นำเข้าถั่วเขียวจากตลาดเมียนมา

องค์การส่งเสริมการค้าเมียนมา เผย อินเดียจำกัดการนำเข้าถั่วเขียวจากเมียนมา คาดจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อตลาดเมียนมา โดยอินเดียเป็นผู้นำเข้าถั่วดำและถั่วแระของเมียนมารายใหญ่ แต่การนำเข้าถั่วเขียวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% อินเดียจำกัดการนำเข้าเพื่อป้องกันราคาและผลผลิตช่วงเวลาเก็บเกี่ยวของอินเดียและการแทรกแซงราคาที่จะไม่ต่ำไปกว่าราคาขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้ แม้จะปิดด่านชายแดนแต่ถั่วเขียวส่วนใหญ่ถูกส่งออกทางทะเลไปยังจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และยุโรป ซึ่งการจำกัดการนำเข้าของอินเดียนี้จะมีผลตั้งแต่หลังวันที่ 11 ก.พ.2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาพร้อมที่จะเจรจากับคู่ค้าอินเดียผ่านรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยามที่จะค้นหาและเจาะตลาดใหม่ๆ ให้มากขึ้นรวมทั้งตลาดใหม่ๆ ในสหภาพยุโรป เพราะได้ราคาได้ดีกว่า ส่วนด้านผลผลิต เมียนมามีพื้นที่เพาะปลูกเมล็ดถั่วและถั่วพัลส์ต่างๆ ประมาณ 9.9 ล้านเอเคอร์ มีผลผลิตที่ได้ต่อปีอยู่ที่ 4.1 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกถั่วเขียวประมาณ 700,000 ตันไปยัง 64 ประเทศ ซึ่งระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 4 ก.พ. 2565 มีการส่งออกถั่วเขียวไปแล้วจำนวน 147,326 ตัน ในจำนวนนี้ 18,842 ตันถูกส่งไปยังอินเดีย โดยราคาในปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,900-2,350 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/indias-policy-changes-indifferent-to-myanmar-green-gram-market/

‘เวียดนาม-อินเดีย’ เผยการค้าทะลุ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานการค้าเวียดนามประจำอินเดีย อ้างรางานจากรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการค้าระหว่างประเทศเวียดนามและอินเดียในปี 2564 มีมูลค่าเกินกว่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกมีมูลค่า 6.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20%YoY ในขณะที่อินเดียมีมูลค่า 6.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 56% ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังตลาดอินเดียในเดือน ธ.ค. ได้แก่ โลหะ (79.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, โทรศัพท์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรและอะไหล่ เป็นต้น โดยสินค้าประเภทวัตถุดิบพลาสติก สารเคมี ยางและถ่านหิน เป็นสินค้าเวียดนามที่มีการเติบโตสูงที่สุดในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 231%, 162% และ 138% ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamindia-trade-exceeds-13-billion-usd/222475.vnp

ไทยแฉ‘อินเดีย’ตั้งกำแพง กีดกันนำเข้าแอร์/ร้อง‘WTO’ช่วย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น ออกกฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ของไทย จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อไป จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการที่ต้องจ้างโรงงานในประเทศอินเดียบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่การผลิตในอินเดียสามารถบรรจุสารทำความเย็นและจำหน่ายได้ทันที

ที่มา: https://www.naewna.com/business/629075