สปป.ลาว ขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 2 แม้ส่งออกมันสำปะหลังเติบโต

สปป.ลาว เผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ภาพรวมการค้ามีมูลค่า 1,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมันสำปะหลังมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ ทองคำ แร่ทองแดง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และแป้งมันสำปะหลัง โดยตลาดจีนยังคงเป็นส่งออกหลักของ สปป.ลาว รองลงมาคือ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และอินเดีย ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก คือ ดีเซล รองลงมาคือ ยานพาหนะทางบก อุปกรณ์เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าหลัก รองลงมาคือ จีน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคงขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยขาดดุลจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/26/laos-faces-second-month-of-trade-deficit-despite-cassava-export-boom/

‘ธนาคารโลก’ คาด GDP เวียดนามปี 67 โต 5.5%

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว 6% ในปี 2568 และ 6.5% ในปี 2569 จากการหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเป็นการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ขยายตัว 8.5%YoY และเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ 17.2%YoY

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เนื่องมาจากต้นทุนทางด้านการศึกษาและค่าบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กลับจะทยอยลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปี 2568 และปี 2569 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-to-grow-5-5-this-year-wb/

‘IMF’ ชี้เวียดนาม จุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ

จากการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติ จากปัจจัยหนุนทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพ ตลอดจนตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่และความพร้องทางการศึกษาของคนรุ่นใหม่

โดยจากข้อมูลของ Medas เปิดเผยว่าถึงแม้ในปัจจุบันจะเผชิญกับความไม่มั่งคงทางงภูมิรัฐศาสตร์โลก แต่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 5.66% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และทิศทางการส่งออกที่เติบโตดีขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-an-enticing-destination-for-foreign-investors-imf-expert/284911.vnp

เศรษฐกิจของรัฐมีแนวโน้มเติบโต มูลค่าสกุลเงินจะพุ่งสูงขึ้นหลังการคว่ำบาตรและความท้าทายทางการค้า

เช้าวานนี้ ได้มีการประชุมรัฐบาลสหภาพครั้งที่ 4/2567 จัดขึ้นที่สำนักงานประธาน SAC ในเมืองเนปิดอว์ โดยมีประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เป็นประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรี มิน ออง หล่ายได้เปิดเผยว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพด้วยหลักนิติธรรม จัดการราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีความยุติธรรม และรับประกันมูลค่าสกุลเงินที่แข็งแกร่งของประเทศ โดยเขากล่าวต่อว่า เมียนมากำลังเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการปิดกั้นเส้นทางการค้าเพื่อชะลอการไหลของสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากขาดความสงบสุขและเสถียรภาพที่กระทำโดยบุคคลที่ไร้ศีลธรรมบางคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในภาคส่วนอื่นๆ อีกว่า หากเกษตรกรสามารถพัฒนารูปแบบการปลูกพืชอย่างเป็นระบบ ผลผลิตทางการเกษตรจะดีขึ้นในประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการจัดหาอาหารให้กับประชาคมระหว่างประเทศ สำหรับในภาคส่วนน้ำมันเพื่อการบริโภค นายกรัฐมนตรียังสั่งเจ้าหน้าที่ว่า ผลผลิตพืชน้ำมันต่อเอเคอร์ที่สูงจะช่วยตอบสนองความต้องการน้ำมันสำหรับบริโภค และลดการใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของภาคการเพาะปลูกฝ้าย นายกรัฐมนตรีชี้ว่าการผลิตเส้นด้ายคุณภาพจากสำลีที่บ้านสามารถลดปริมาณการนำเข้าเส้นด้ายและสิ่งทอได้ นอกจากนี้ เขาเน้นย้ำถึง การเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และในภาคการศึกษา พลเอกอาวุโสกล่าวว่าโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในบางภูมิภาคกำลังเผชิญกับความล่าช้าในการเรียนรู้ด้วยเหตุผลหลายประการ และจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการเปิดโรงเรียนอีกครั้งและการกลับมาเรียนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/prospects-brighten-state-economy-set-to-thrive-currency-value-to-surge-in-post-sanctions-and-trade-challenges/

‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901

AMRO คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโต 6.2% ในปี 2024

แนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคซึ่งรายงานโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายในปี 2024 ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตที่ร้อยละ 6.2 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.3 ในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ เป็นสำคัญ โดยในรายงานได้เสริมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.4 ในปี 2025 ภายใต้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501470536/cambodias-growth-forecast-at-6-2-pct-in-2024-amro/

รัฐบาล สปป.ลาว วางเป้าหมายการทูตทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว หันมาใช้การทูตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้จัดการประชุมระดับสูงเพื่อยกระดับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการประชุมได้มุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการค้าและการลงทุนที่เอื้ออำนวยของ สปป.ลาว เน้นเป็นพิเศษในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ กำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธีที่รัฐบาลใช้ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเพิ่มการค้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศของ สปป.ลาว ที่ผ่านมามีมากกว่า 463,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ภาคการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ บริการ และการเกษตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_70_Govt_y24.php

ฮุน มาเนต คาดเศรษฐกิจกัมพูชาโต 6.6% ภายในปี 2024

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในปี 2023 โดยแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อุตสาหกรรมการเกษตรที่เริ่มมีบทบาท รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเห็นการเติบโต ซึ่งคาดว่าการเติบโตของกัมพูชาจะกลับคืนสู่ระดับร้อยละ 7 เท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  ภายในปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501466941/cambodias-economy-projected-at-6-6-pct-in-2024-pm/