หนี้สาธารณะกัมพูชาพุ่งแตะ 10.7 พันล้านดอลลาร์

ณ ครึ่งแรกของปี หนี้สาธารณะของกัมพูชาขึ้นมาอยู่ที่มูลค่า 10.72 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 99.57 หรือคิดเป็นมูลค่า 10.67 พันล้านดอลลาร์ เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากภายนอก และส่วนที่เหลือเป็นหนี้สาธารณะในประเทศ ซึ่งรายงานระบุเสริมว่าหนี้สาธารณะร้อยละ 64 มาจากการกู้ยืมจากหุ้นส่วนการพัฒนาในระดับทวิภาคี, มาจากหุ้นส่วนการพัฒนาพหุภาคีคิดเป็นร้อยละ 36 และหนี้สาธารณะในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.43 โดยในระดับทวิภาคี จีนถือเป็นผู้ให้เงินกู้สินเชื่อแบบมีสัมปทานหลักของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.08 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ของหนี้สาธารณะต่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่การกู้ยืมในระดับพหุภาคีของกัมพูชาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อยู่ที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารโลกที่ 1.26 พันล้านดอลลาร์ หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้ รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบผ่อนปรนใหม่กับพันธมิตรมูลค่ารวม 787 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของเพดานที่กฎหมายงบประมาณกำหนด สำหรับปี 2023 รัฐบาลวางแผนที่จะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์ จากการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยวัตถุประสงค์ของการกู้เงินส่วนใหญ่นำไปลงทุนสำหรับโครงการภาครัฐในภาคส่วนที่มีความสำคัญ เพื่อหวังที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356109/kingdoms-public-debt-stands-at-10-7-billion/

NBC เตรียมขายเงินดอลลาร์ล็อตใหญ่ หวังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) พร้อมสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้แก่สกุลเงินเรียล โดยจะเริ่มการแทรกแซงครั้งแรกในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศในวันนี้ (6 ก.ย.) ด้วยการขายเงินสกุลดอลลาร์มูลค่ารวม 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเรียลและดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง NBC วางแผนที่จะขายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับธนาคารที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงสถาบันการเงินรายย่อย และผู้แลกเปลี่ยนเงิน เพื่อลดสัดส่วนปริมาณเงินเรียลในระบบ โดยจะส่งผลทำให้เงินเรียลมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นระหว่างสกุลเงินเรียลต่อดอลลาร์สหรัฐในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยมูลค่าดังกล่าวจะถูกนำออกประมูล 4 ครั้ง ต่อธนาคารและสถาบันการเงิน โดยแบ่งเป็นครั้งแรก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันนี้ 15 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) 10 ล้านดอลลาร์ ในวันพุธ (13 ก.ย.) และอีก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (15 ก.ย.) ด้าน Raymond Sia ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเพียงพอสำหรับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกัมพูชาในการรักษาเสถียรภาพของเงินเรียล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355329/nbc-to-sell-50m-to-intervene-in-foreign-exchange-today/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยข้อมูลการส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 296 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับทวิภาคี เพื่อหวังผลักดันการส่งออก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนามใน RCEP และ AJCEP รองรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ JETRO คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355347/kingdoms-exports-to-japan-top-1b/

อินโดนีเซียจ่อนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาแตะ 2.5 แสนตันต่อปี

อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับการจัดหาข้าวสารปริมาณกว่า 250,000 ตันต่อปี กล่าวโดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอินเดียประกาศยุติการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติของอินเดีย หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริมด้วยว่าเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกัมพูชา อินโดนีเซียพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กัมพูชาด้วยการจัดหาปุ๋ยรองรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของกัมพูชา

โดยในช่วงก่อนหน้าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวสารจากอินเดียมากกว่า 1 ล้านตัน แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ส่งผลทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องหาแหล่งในการนำเข้าข้าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทดแทนกับโควต้าที่ถูกปฏิเสธ ตามที่รัฐมนตรีการค้า Zulkifli Hasan ได้กล่าวไว้

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ระบุว่า สต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ รายงานว่าปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1.6 ล้านตัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354908/indonesia-to-import-250000-tons-of-rice-from-cambodia/

คาดอัตราการว่างงานกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023

คาดอัตราการว่างงานของกัมพูชาจะลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023 จากร้อยละ 0.4 ในปีที่แล้ว ตามตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของกัมพูชาต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่มีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันและต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างเช่น ไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2023 จากร้อยละ 2.6 ในปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354673/unemployment-rate-to-fall-to-0-3-percent-in-2023/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกยางขยายตัว 3% มูลค่าแตะ 228.5 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางแห้งในช่วง 7 เดือนแรกของปีจำนวนรวมกว่า 170,968 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 228.5 ล้านดอลลาร์ โดยราคายางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,337 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาในช่วงช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 244 ดอลลาร์ ต่อตัน สำหรับผู้นำเข้ารายสำคัญยังคงเป็นกลุ่มประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันในประเทศกัมพูชาได้มีการเพาะปลูกต้นยางในพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ โดยมีต้นยางที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 315,332 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่เพาะปลูก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352255/cambodias-rubber-exports-up-3-pct-in-first-7-months-to-earn-2285-million/

รัฐบาลกัมพูชาจ่อปรับค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มอุตสาหกรรม GFT ในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชายืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) โดยยึดมั่นในความยั่งยืนของภาคดังกล่าวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์ ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยมีสถานประกอบประมาณ 1,332 แห่ง สร้างการจ้างงานประมาณกว่า 830,000 คน ซึ่งคิดเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 6.27 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากการมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352116/gft-minimum-wage-hike-focuses-on-sustainability/

เกาหลีใต้จ่อส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมมายังกัมพูชา

กระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวรายงานว่าเกาหลีใต้ประกาศส่งออก “ฮันวู” ซึ่งเป็นเนื้อวัวเกรดพรีเมียมของเกาหลีมายังกัมพูชา ผ่านการลงนามในสัญญาฉบับแรกร่วมกัน เพื่อกระตุ้นการส่งออกเนื้อวัวของเกาหลีใต้ที่จะส่งออกมายังกัมพูชา โดยเกาหลีใต้กำลังมองหาการส่งออกเนื้อวัวพรีเมียมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่ารวมถึง 100 ล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเนื้อประเภทดังกล่าวได้รับการรับรองฮาลาลที่เป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ได้จัดการประชุมกับคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ส.ค.) เพื่อหารือถึงแนวทางที่จะขยายความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี โดยทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องที่จะพยายามร่วมกันขยายการค้าในภาคเกษตรกรรมและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องร่วมกันในระยะถัดไป ขณะที่การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เป็น 164.7 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ จาก 135.5 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501351239/south-korea-to-export-premium-beef-to-cambodia/

กัมพูชาจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตร

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการพบปะกับแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าราว 18,000 คน ในกรุงพนมเปญ ซึ่งฮุนมาเนตกล่าวเสริมว่าราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีความผันผวนตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่างบประมาณส่วนดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรในประเทศได้ในระยะหนึ่ง นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวยังจะถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบชลประทานและการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรกรรมในประเทศ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องวางแผนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรไปยังทุกชุมชนทั่วประเทศเพื่อทำงานร่วมกับเกษตรกรโดยตรง เพื่อหวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 2.63 พันล้านดอลลาร์ หรือนับเป็นปริมาณรวมกว่า 4.51 ล้านตัน ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทย และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501351567/cambodia-reserves-100-mln-for-boosting-agriculture-pm/

มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีแตะ 5.3 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 จากมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสํานักการสํารวจสํามะโนประชากรสหรัฐฯ โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ที่มูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10.6 จากมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่คิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาที่มูลค่า 164 ล้านดอลลาร์ ลดลงกว่าร้อยละ 37 จากมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับการเดินทาง เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้านการนำเข้าของกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้ทางกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ภายใต้ความต้องการสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางจากสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของกัมพูชา เนื่องจากประมาณร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาขอให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP เพื่อช่วยกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501350472/cambodia-united-states-trade-reaches-5-3-billion-in-h1/