‘ญี่ปุ่น’ จ้างแรงงานชาวเมียนมา 1 พันคน

สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่าจะมีการจ้างแรงงานชาวเมียนมาราว 1 พันคนให้มาทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น โดยจากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่าได้รับจดหมายเกี่ยวกับข้อเรียกร้องจากแรงงานอพยพชาวเมียนมา จำนวน 314 ฉบับ (16 ก.ย.- 2 ต.ค.) ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ทำการตรวจสอบโรงงานและบริษัทญี่ปุ่น และส่งข้อมูลไปยังกระทรวงแรงงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/japan-to-recruit-nearly-1000-myanmar-workers/#article-title

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำตาลพุ่ง หลังจำหน่ายน้ำตาลสด

จากข้อมูลของตลาดน้ำตาล ระบุว่าราคาน้ำตาลในประเทศพุ่งสูงอีกครั้ง เพียงสองเดือนก่อนที่จะจำหน่ายน้ำตาลชนิดใหม่ออกสู่ตลาด สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา GNLM เปิดเผยข้อมูลตลาดน้ำตาลในย่างกุ้ง (28 ก.ย.66) พบว่าราคาน้ำตาลขายส่ง อยู่ที่ 3,750 จ๊าตต่อวิสส์ อย่างไรก็ดี ราคาขายส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,800 จ๊าตต่อวิสส์ในวันที่ 29 ก.ย. ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำตาลรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเมียนมาว่าราคาประมูลน้ำตาลที่ขายให้กับโรงงาน ก่อนที่โรงงานจะเริ่มดำเนินการ ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugar-price-peaks-again-two-months-before-release-of-fresh-sugar/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าประมงครึ่งปีแรก กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทะลุ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

U Nyunt Win อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.) เมียนมาส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้ราว 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐของปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 โดยตลาดส่งออกสินค้าประมงสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย ทั้งนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าประมง ตลอดจนเมียนมาปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fishery-exports-to-over-40-foreign-countries-bag-us270-mln-in-h1/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ ทะลุ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาทำรายได้จากการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 22 ก.ย. พบว่าการส่งออกของเมียนมาจากภาครัฐฯ มีมูลค่ากว่า 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนทำรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 5.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดการส่งออกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ไปยังตลาดจีน ไทย บังกลาเทศและอินเดีย

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd7-3b-in-export-in-nearly-six-months/

‘เมียนมา’ เผยราคายางพาราร่วงหนัก 1,600 จ๊าตต่อปอนด์

ราคายางพาราในตลาดรัฐมอญ ปรับตัวลดลง 1,600 จ๊าตต่อปอนด์ ในขณะที่ธุรกิจยางพาราของเมียนมาหยุดชะงักในช่วงระยะหนึ่ง และกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งในเดือน ก.ย. ราคาเปิดของยางแผ่นรมควัน (Local 3) อยู่ที่ 1,770 จ๊าตต่อปอนด์ และราคายางพาราตากแห้ง 1,750 จ๊าตต่อปอนด์ โดยสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงราคายางพาราของเมียนมาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์ยางพาราโลก ผลผลิตของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอุปทานของตลาด ทั้งนี้ การผลิตยางพาราของเมียนมา พบว่ากำลังการผลิตยางพาราอยู่ที่ประมาณ 3 แสนตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ราว 70% ผลิตเพื่อส่งออกไปยังจีน นอกจากนี้ยังส่งออกไปยังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-price-dips-to-approximately-k1600-per-pound/#article-title

‘เมียนมา’ เผยสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. ส่งออกข้าวทะลุ 26,420 ตัน

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกข้าวและข้าวหักของเมียนมา 26,420 ตัน ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. และจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9-15 ก.ย. เมียนมาส่งออกข้าวผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 14,610 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 8.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผ่านทางชายแดนเมียนมา-จีน ปริมาณกว่า 2,009 ตัน มูลค่า 0.898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมทั้งสองเส้นทางได้ประมาณ 16,620 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 8.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ประเทศในเอเชีย 10,900 ตัน ตามมาด้วยสหภาพยุโรป 2,150 ตัน และประเทศแอฟริกา 1,560 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-over-26420-tonnes-of-rice-in-sept-2nd-week/#article-title

‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวโพดดิ่งลงฮวบ

ตามข้อมูลของหอการค้าและอุตสาหกรรมของเขตย่างกุ้ง เปิดเผยว่าราคาข้าวโพด (FOB) ในปัจจุบัน อยู่ที่ 270-290 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และราคาข้าวโพดในประเทศ อยู่ที่ 1,130-1,150 จ๊าตต่อ viss ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังตลาดจีนและไทยผ่านเส้นทางชายแดน และยังส่งออกไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ผ่านทางทะเล นอกจากนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดแบบฟอร์มดี (Form D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค. อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีสูงสุด 73% เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-prices-in-steep-decline/#article-title

‘เมียนมา’ ชี้ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก จีน-ไทย โกยเงิน 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ผ่านชายแดนท่าขี้เหล็ก มีมูลค่าการค้ารวม 77.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วง 5 เดือนแรกและช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-19 ก.ย. ด่านการค้าชายแดน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 30.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 47.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กระเทียม ตะกั่วซัลไฟด์และเศษพลาสติกอัดก้อน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tachilek-border-trade-with-china-and-thailand-valued-at-us77-698-mln/#article-title

‘เมียนมา’ ตั้งเป้าส่งออกข้าว ต.ค.-ธ.ค. ทะลุ 2 แสนตัน

นายเย มิน ออง ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่าเมียนมาได้ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวเฉลี่ยมากกว่า 2 แสนตันในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกข้าวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าการส่งออกข้าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปีงบประมาณนี้ ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่ง เป็นผลมาจากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว อาจส่งผลให้การส่งออกข้าวของเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-set-to-export-exceeding-200000-tonnes-of-rice-per-month-in-oct-dec/#article-title

‘Panko Corporation’ ขยายการลงทุนไปยังภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของเมียนมา

สหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (UMFCCI) เปิดเผยว่า ‘Panko Corporation’ บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ได้ดำเนินการขยายการลงทุนไปยังภาคการผลิตฝ้าย เสื้อผ้าทอและผ้าที่มีลวดลาย โดยสหพันธ์ฯ จะเร่งเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการลงทุน เนื่องจากรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมภาคการผลิต ขณะที่นาย U Aye Win ประธาน UMFCCI ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเชื่อว่าธุรกิจนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ นอกจากนี้ยับช่วยกระชับความสัมพันธ์มิตรภาพของทั้งสองประเทศ นอกเหนือจากการทำธุรกิจ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/panko-corporation-to-ramp-up-investment-in-myanmars-apparel-manufacturing-sector/#article-title