ธุรกิจสหรัฐฯ เล็งขยายห่วงโซ่อุปทานในเวียดนาม

ตามรายงานของบริษัท QIAM (ผู้ให้บริการทางด้านซัพพลายเชนในสหรัฐอเมริกา) เผยว่าจากการสำรวจของกลุ่มธุรกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ 43% มองว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำในภูมิภาคที่มีการซื้อสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2564 และพุ่งขึ้น 2 เท่าจากปี 2562 ซึ่งข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการตรวจสอบและติดตามคุณภาพการดำเนินงานในเวียดนามเพิ่มขึ้น การเติบโตในครั้งนี้ ขยายตัวมากกว่าในช่วงระดับก่อนการระบาดโควิด-19 เป็นผลมาจากความต้องการในการตรวจสอบในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2562 นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ ระบุว่าเวียดนามไม่ใช่ประเดียวในภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากปริมาณธุรกิจที่ขยายตัว เนื่องจากมีความต้องการทางด้านงานตรวจสอบและติดตามคุณภาพการดำเนินงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/944703/us-firms-interested-in-vietnamese-supply-chain.html

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯยังคงเห็นการเติบโต

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯในช่วงต้นปียังคงเห็นถึงการเติบโตในมูลค่าการส่งออกอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาในสหรัฐฯ โดยข้อมูลจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ารวมมูลค่ากว่า 580 ล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2021 เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 5 สู่ 614 ล้านดอลลาร์ ในช่วงที่มีการวัดผลตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ซึ่งการค้าระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2021 เนื่องจากความพร้อมของวัคซีน COVID-19 ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยรองประธานหอการค้ากัมพูชา โดยสินค้าหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ สินค้าสำคัญส่วนใหญ่ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50822337/cambodian-exports-to-us-continue-to-grow-in-january-2021/

เวียดนามเกินดุลการค้า 1.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรก

กรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. เวียดนามีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 95.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แบ่งออกเป็นการส่งออก 48.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.2% ในขณะที่การนำเข้าประมาณ 47.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว บริษัทจากต่างประเทศมีมูลค่า 37.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ (76.4% ของยอดส่งออกรวมของเวียดนาม) ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจในประเทศ มีมูลค่าการส่งออก 11.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกประเภทโทรศัพท์และชิ้นส่วน มีมูลค่ามากที่สุด 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ 6.9 พันล้านเหรียญ, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, รองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ ซึ่งสินค้าข้างต้นรวมกันทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 73% ของยอดส่งออกรวมของเวียดนาม นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 14.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/890438/viet-nam-racks-up-129-billion-in-trade-surplus-in-two-months.html

โพลชี้ถึงจุดต้องเลือกข้าง ‘อาเซียน’ หนุนสหรัฐ มากกว่าจีน

ผลจากการสำรวจความคิดเห็นประจำปีซึ่งจัดทำโดยสถาบัน ISEAS Yusof-Ishak ของสิงคโปร์ ชี้ว่า ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ตอบแบบสำรวจ 61.5% เห็นด้วยกับการสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากกว่าจีน ในกรณีที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนถูกบีบบังคับให้เลือกข้าง ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 53.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเด็นเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 76.3% ยอมรับว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 49.1% มีความเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านการเมืองและยุทธศาสตร์มากที่สุด ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจกว่า 1,000 คนจากทั้ง 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยผู้ตอบแบบสำรวจมีทั้งกลุ่มเจ้าพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจ รวมไปถึงนักวิเคราะห์จากแวดวงวิชาการ คลังสมอง และสถาบันวิจัยอีกมากมาย 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/922856

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯในปี 2020 ยังคงแข็งแกร่งแม้จะเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างไรการส่งออกของกัมพูชาไปยังคู่ค้าหลักอื่น ๆ ก็ยังคงลดลง จากตัวเลขของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 6.577 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมอยู่ที่ 343 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับตัวเลขของปี 2019 ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 6.921 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สำหรับการเดินทาง เป็นหลัก ส่วนกัมพูชานำเข้าสินค้าสำคัญจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯดำเนินการภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯในรูปแบบปลอดภาษี (เฉพาะสินค้าที่กำหนด)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811365/cambodian-exports-to-us-show-strength-in-2020/

เวียดนามเผย ม.ค. ยอดส่งออกผักและผลไม้ ลดลง 7.6%

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เผยว่าในเดือนมกราคม เวียดนามส่งออกผักและผลไม้อยู่ที่ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไม่สามารถคาดการณ์ถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว ชี้ว่าประเทศจีนยังเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว ด้วยสัดส่วน 56.3% ของส่วนแบ่งตลาดรวม ถึงแม้ว่ายอดการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดจีน จะลดลง 25.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ระดับ 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาตลาดสหรัฐฯ (168.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.3% โดยประเทศจีน สหรัฐฯและออสเตรเลียเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในตลาดเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำถึงบริษัทในท้องถิ่นว่าควรจะยกระดับคุณภาพของสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎระเบียบและทำให้แน่ใจว่าถูกต้องตามกฎด้านอาหารและความปลอดภัย

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fruit-and-vegetable-exports-decline-by-76-in-january-836248.vov

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมูลค่ารวม 6,059 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานการส่งออกของกัมพูชา แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6,369 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบเป็นรายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯไปยังกัมพูชาลดลง ซึ่งกัมพูชานำเข้าสินค้าอยู่ราว 312 ล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพียงเดือนเดียว แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ 526 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 42 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในทิศทางเดียวกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802292/cambodian-exports-to-us-rising/

สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา (GMAC) กล่าวถึงการสิ้นสุดของ GSP จากสหรัฐฯ

                สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา (GMAC) ได้ตอบสนองต่อการยุติสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากทางสหรัฐฯ โดย GSP ดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่สามารถต่ออายุได้ก่อนที่จะมีการปิดเซสชันของรัฐสภาสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้รับการลงมติและรับรองของการสิ้นสุดลงของสิทธิพิเศษทางภาษีที่มีผลต่อประเทศผู้รับผลประโยชน์ทั้ง 119 ประเทศ ซึ่งถ้อยแถลงของ GMAC หวังว่าสหรัฐฯจะอนุมัติสิทธิพิเศษทางภาษีอีกครั้งแก่กัมพูชา โดยในปี 2016 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐได้ประกาศการขยายสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการค้าที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของ GSP ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดนำเข้าสินค้าด้านการท่องเที่ยวมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ในสหรัฐฯได้ดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50801455/gmac-reacts-to-expiration-of-us-trade-programme/

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ในช่วง 10 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯมีมูลค่าอยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งตัวเลขรายงานโดยสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2020 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯมีมูลค่าอยู่ที่ราว 5.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯมีมูลค่าอยู่ที่ 269 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงกว่าร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า สินค้าด้านการท่องเที่ยวและสินค้าเกษตร ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร ซึ่งเมื่อปีที่แล้วการค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50790716/cambodia-u-s-trade-increases-by-16-percent-in-first-10-months/